ปิดฉาก 3 ปีคุม ‘โควิด’ รัฐโหมงบฯ เงินกู้ - งบกลางฯ รวม 2.5 ล้านล้าน

ปิดฉาก 3 ปีคุม ‘โควิด’ รัฐโหมงบฯ เงินกู้ - งบกลางฯ รวม 2.5 ล้านล้าน

รัฐบาลใช้เม็ดเงินเกือบ 2.5 ล้านล้านดูแลโควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจาก 6 แหล่งเงิน ทั้งจากเงินกู้ฯ – งบกลางฯ พ.ร.ก.ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการให้สินเชื่อ สศช.เผยยอดเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้านเบิกจ่ายแล้วกว่า 80%

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างรัฐบาลแต่ละประเทศต้องใช้เงินกู้ และงบประมาณจำนวนมากในการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ทั้งทางด้านสาธารณสุข และฟื้นฟู รวมถึงเยียวยาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการใช้ทั้งงบประมาณ และการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์นี้โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563 - 2565) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติวงเงินในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 2.493 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 แหล่งเงิน ประกอบไปด้วยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ได้แก่

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

2. พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2563 โดยให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนั้นในระบบงบประมาณได้มีการนำงบกลางมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ในด้านต่างๆ รวมทั้งการซื้อวัคซีนโดยใน 2 ปีงบประมาณรัฐบาลและรัฐสภาเห็นชอบร่วมกันในการจัดทำ งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ใน 2 ปีงบประมาณ หรือ “งบกลางฯโควิด”

ในปีงบประมาณ 2564 และปีงบประมาณ 2565 วงเงินรวม 56,625.6 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางฯโควิดปี 2564 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 16,300 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันได้มีการอนุมัติงบกลางจากรายการสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ในปี 2563 – 2565 วงเงินรวม 37,198.06 ล้านบาทโดยมีการใช้จ่ายหลากหลายรายการทั้งการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ไปถึงค่าใช้จ่ายให้กับการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับหน่วยงานความมั่นคงในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19

3.พ.ร.ก.สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. 2563 โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) เข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของโควิดเพื่อให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

ต่อจากนั้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อมากขึ้นรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉบับที่ 4 ได้แก่  พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก. กู้เงินฯเพิ่มเติม) วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

ปิดฉาก 3 ปีคุม ‘โควิด’ รัฐโหมงบฯ เงินกู้ - งบกลางฯ รวม 2.5 ล้านล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งขาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ กล่าวว่าการอนุมัติโครงการเงินกู้ต่างๆตาม พ.ร.ก.นั้นสิ้นสุดลงแล้วตามกำหนดระยะเวลาที่ พ.ร.ก.กำหนดให้มีการอนุมัติโครงการต่างๆภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่สิ้นสุดปีงบประมาณ

จากนั้นเป็นขั้นตอนของการเบิกจ่ายวงเงินในโครงการต่างๆที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วซึ่งขณะนี้มีการเบิกจ่ายเงินกู้ฯตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านแล้วกว่า 80% จึงมั่นใจว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะสามารถเบิกจ่ายได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งกำหนดว่าจะต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้