ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม รุ่ง เด้งรับไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม รุ่ง เด้งรับไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุและโควิด-19 ดัน ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว คาดทั้งปี 65 มูลค่าตลาดตลาดของธุรกิจฯทั่วโลก สูงถึง 206 ล้านล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 8 เดือนแรก (ม.ค. – ส.ค.) ปี 2565  มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือ  90 % และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 659.32 ล้านบาท หรือ  212.62%  (ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 186 รายทุน 310.10 ล้านบาท)

เฉพาะเดือนส.ค. 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. 2564 จำนวน 38 ราย หรือ 211.12 % และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 105.10 ล้านบาท หรือ  539%  (ส.ค. 2564 จดทะเบียน 18 ราย ทุน 19.50 ล้านบาท)  โดยนักธุรกิจไทยลงทุนในธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม เป็นอันดับ 1  รองลงมาเป็นจีน ฮ่องกง  อิตาลี 

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม รุ่ง เด้งรับไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ

เมื่อดูภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจฯ รายได้เฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้รวมปี 2562 จำนวน 16,085.25 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 14,316.74 ล้านบาท (ลดลง11 % ) และปี 2564 จำนวน15,153.89 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  5.85%  ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2565 มูลค่าตลาดของธุรกิจฯ ทั่วโลก จะสูงถึง 206 ล้านล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 ส.ค. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,621 ราย คิดเป็น 0.19 %ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 7,511.48 ล้านบาท คิดเป็น  0.036 % ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ธุรกิจจะตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม คือ การที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่า ปี 2583 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่หันมาดูแลตัวเองและต้องการบริการด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น อีกทั้ง โรคโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม รุ่ง เด้งรับไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ

สอดคล้องกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่สำรวจธุรกิจดาวรุ่งในปี 65 พบว่า ธุรกิจที่ครองอันดับ 1 คือ 1. ธุรกิจการแพทย์และความงาม เนื่องจากกระแสการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การกินอาหารเพื่อสุขภาพ การเข้ามาลงทุนและการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์โควิด

 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามจะเฟื่องฟูมากในยุคนี้ เพราะคนหันมาใส่ใจสุขมากขึ้น ประกอบไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนเหล่านี้ถือว่ามีความพร้อมในการที่จะใช้บริการด้านสุขภาพและความงาม ส่งผลให้เกิดความต้องการธุรกิจด้านการบริการและสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง