สนค.ชี้เงินเฟ้อไทยอยู่ช่วงขาลง คาดทั้งปีเงินเฟ้อขยายตัวไม่เกิน 6.5 %

สนค.ชี้เงินเฟ้อไทยอยู่ช่วงขาลง คาดทั้งปีเงินเฟ้อขยายตัวไม่เกิน 6.5 %

สนค.ย้ำเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว คาดเริ่มชะลอตัวลง ชี้ ค่าแรง ค่าเอฟที เงินบาท ค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อย คาดทั้งปีเงินเฟ้อไทย ขยายตัวไม่เกิน 6.5 %

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและกลุ่มอาหาร รวมทั้งจากผลจากความขัดแย้งและมาตรการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารโลกสูงขึ้นแล้วส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศ ทำให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อของไทยผ่านจุดสูงสุดไปในแล้วในเดือนส.ค.ที่สูงขึ้นถึง 7.86 % ซึ่งอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือ เนื่องจากราคาสินค้าทยอยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีและทรงตัวแล้ว ประกอบกับมาตรการของกรมการค้าภายในที่ขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า ตลอดจนมาตรการของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพ

 

 

ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 มีผลกระทบน้อยมากเพราะเอกชนได้เตรียมการรับมือมาแล้ว โดยภาคการผลิตและบริการในภาพรวมมีสัดส่วนการใช้แรงงานทีได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่สูงนัก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นจึงส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมไม่มากนัก ขณะเดียวกับผู้ประกอบการก็มีวิธีการบริหารจัดการค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหลายรูปแบบ ผลกระทบต่อเงินดเฟ้อจึงไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามจะต้องจับตาดูตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566ที่อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นหากมีการปรับค่าแรงในระดับหัวหน้างาน ส่วนการขึ้นค่าเอฟทีจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.78 % แต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยของรัฐบาลค่าเอฟทีส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.25 %

ส่วนค่าเงินที่อ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการสูงขึ้นจากการนำเข้าสินค้า เพราะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำน้อยแต่มีอุตสาหกรรมปลายน้ำมาก เช่น สินค้าเกษตร ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุน ซึ่งจากการศึกษาของสน.ค ใน 3 กรณี คือ กรณีที่1 อัตราแลกเปลี่ยนเดือน ก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 36บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย 0.25% กรณีที่2 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 37บาทต่อดอลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย 0.28% และกรณีที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่38บาทต่อดอลาร์ ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อไทย คือ 0.31%

นายรณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่เป็นจริง เพราะเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยล่าสุด ธปท. ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.04% - 0.12% และถ้าทยอยปรับขึ้นอีกครั้งละ0.2 5% -1 % ทางสนค.วิเคราะห์ ว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.25 ครั้งที่ 1 จะส่งผลต่อเงินเฟ้อ 0.08-0.24% ครั้งที่ 2 กระทบเงินเฟ้อ 0.12-0.36% ครั้งที่3 กระทบเงินเฟ้อ 0.16-0.48% และครั้งที่ 4 กระทบต่อเงินเฟ้อ0.20-0.80%

สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้คาดว่าจะเพิ่มไม่เกิน6.5% และอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่5.5 -6.5% แต่ก็ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น ราคาพลังงานที่ยังผันผวน สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมของไทยที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ซึ่งอาจทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อ แต่จะเห็นภาพชัดในเดือนต.ค. รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์"