'โตโยต้า-มาสด้า'ปิดรง.ในรัสเซีย หนีปัญหาเรื้อรังขาดชิ้นส่วน

'โตโยต้า-มาสด้า'ปิดรง.ในรัสเซีย หนีปัญหาเรื้อรังขาดชิ้นส่วน

สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อย่างเข้าเดือนที่7 และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและอะไหล่แก่บรรดาค่ายรถชั้นนำโลกสัญชาติญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า และมาสด้า ที่ค่ายแรกตัดสินใจยุติการผลิตทันที

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียเมื่อวันศุกร์(23ก.ย.) หลังจากที่ได้ระงับการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์

โตโยต้า ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ทางบริษัทได้จับตาสถานการณ์และประเมินแนวโน้มการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในรัสเซีย โดยไม่มีการปลดพนักงาน ขณะที่สร้างความมั่นใจว่าโรงงานพร้อมกลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง หากสถานการณ์เอื้ออำนวย

อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านไปเป็นเวลา 6 เดือน บริษัทยังคงไม่สามารถกลับมาเปิดโรงงานแห่งนี้ และไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการดังกล่าวในอนาคต

ขณะเดียวกัน โตโยต้าระบุว่า บริษัทจะทำการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานในกรุงมอสโกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายที่จะยังคงรักษาองค์กรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บริการต่อลูกค้าของโตโยต้าและเล็กซัสในรัสเซีย

การประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย มีขึ้นหลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ว่า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานลดลงมากกว่าที่คาด 42% ในไตรมาสแรก เนื่องจากการผลิตรถยนต์ถูกควบคุมโดยข้อจำกัดของมาตรการควบคุมโควิด-19 สำหรับโรงงานในจีนและการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

กำไรจากการดำเนินงานในช่วง 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 5.78 แสนล้านเยน หรือราว 4.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าผลกำไรเฉลี่ย 8.45 แสนล้านเยนที่นักวิเคราะห์ 10 คนคาดการณ์ไว้ ตามข้อมูลของรีฟินิทีฟ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โตโยต้ารายงานกำไร 9.97 แสนล้านเยน

แม้จะมีกำไรลดลงรายไตรมาส แต่ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ยังคงคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานประจำปี 2.4 ล้านล้านเยนในช่วง 12 เดือนจนถึงวันที่ 31 มี.ค.ปี 2566

โตโยต้า ได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตรายเดือนลง 3 ครั้งในช่วงไตรมาสเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 10% เนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และผลกระทบของการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ในจีน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ว่า บริษัทมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป กำลังหารือเกี่ยวกับการยุติการผลิตรถยนต์ที่โรงงานร่วมทุนในวลาดิวอสต็อก ทางตะวันออกของรัสเซีย โดยมาสด้ามียอดขายรถยนต์ 30,000 คันในรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกชิ้นส่วนไปยังโรงงานกำลังจะยุติลงและการผลิตจะหยุดลงเมื่อสินค้าหมดสต็อก ทั้งนี้มาสด้า ยังไม่ได้ตัดสินใจยุติการดำเนินการขายและบำรุงรักษารถยนต์ในรัสเซีย

เมื่อไม่กี่วันก่อน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ถึงแม้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่บังคับใช้ต่อมอสโกจะส่งผลเสียหายแต่เศรษฐกิจของรัสเซีย แต่ก็ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินจะรับมือกับพายุลูกใหญ่นี้ได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น

การคว่ำบาตรมีขึ้นเพื่อตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกและสกัดกั้นเงินทุนไม่ให้มอสโกนำไปใช้ในปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำลายเศรษฐกิจรัสเซียและทำให้รัสเซียไม่สามารถทำสงครามรุกรานได้อย่างเต็มที่

“ปิแอร์-โอลิเวียร์  กัวรินชาส” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า “เหตุผลหลักที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดไว้คือ ธนาคารกลางรัสเซียและผู้กำหนดนโยบายของรัสเซียสามารถป้องกันความตื่นตระหนกของธนาคารหรือการล่มสลายทางการเงินได้”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดที่ประเมินโดยไอเอ็มเอฟ ได้ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีของรัสเซียสำหรับปีนี้จะเพิ่มขึ้น 2.5% อย่างน่าทึ่ง แม้จะยังคงหดตัว 6% ก็ตาม จากที่เมื่อเดือนเม.ย.ประเมินว่าเศรษฐกิจของแดนหมีขาวจะหดตัวถึง 8.5%

ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐและจีนกำลังชะลอตัว แต่เศรษฐกิจของรัสเซียกลับหดตัวในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกน้ำมันดิบและสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานยังคงดีเกินคาด