‘สุพัฒนพงษ์’ ชี้แผน ‘PDP2022’ ตอบโจทย์เน็ตซีโร่ - ความมั่นคงพลังงาน

‘สุพัฒนพงษ์’ ชี้แผน ‘PDP2022’ ตอบโจทย์เน็ตซีโร่ - ความมั่นคงพลังงาน

“สุพัฒนพงษ์” ชี้แผนพีดีพีฉบับใหม่ ตอบโจทย์เน็ตซีโร่ ลดพึ่งพลังงานต่างประเทศ เพิ่มพลังงานทดแทนแตะ 50% เตรียมชง กบง.เคาะ ต.ค.นี้ ประกาศใช้ต้นปีหน้า

“ฐานเศรษฐกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ New Energy แผนพลังงานชาติสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีผู้แทนภาครัฐมานำเสนอทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการเข้าสู่ “เน็ตซีโร่”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางอนาคตพลังงานไทย” ว่า ไทยมีเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ให้เหลือ 0% ในปี 2050 ขณะที่ปัจจุบันปล่อยคาร์บอนฯ 300 ล้านตันต่อปี คิดเป็นต้นทุนที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน ปีละ 0.9-1.0 ล้านล้านบาท

รวมทั้งปัจจุบันภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนฯ มากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ซึ่งการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมาจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการที่ไทยจะไปถึงเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ต้องปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) หรือ แผน PDP 2022 ซึ่งจะพิจารณาร่างสุดท้ายเดือน ต.ค.2565

ทั้งนี้ จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งไทยมีความพร้อมและเทคโนโลยีราคาถูกลง นอกจากจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนฯ แล้วยังตอบโจทย์ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า แผนพีดีพีฉบับใหม่จะลดใช้พลังงานจากน้ำมัน ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ภาคขนส่ง ซึ่งไทยมีแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีเป้าหมายผลิตรถ EV 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยอดจองรถ EV ในไทยสูงสุดในอาเซียน และสูงกว่าหลายประเทศที่เริ่มนโยบายนี้ โดยมีการจองรถกว่า 18,000 คันแล้วในขณะนี้

“จะมีการผลิตรถยนต์ EV ในไทยแน่นอน ถึงแม้รถที่จำหน่ายจะนำเข้า แต่การนำเข้ามีข้อกำหนดให้สร้างโรงงานผลิตในไทย ซึ่งวันนี้มีเข้ามาแล้ว 4-5 รายแล้ว ล่าสุดคือ BYD ขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ต่อไปต้องพัฒนาใช้ให้นานขึ้นและชาร์จเร็วอาจทำให้ราคา EV ถูกลง”

ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามหาทางปรับทิศทางการใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมใช้พลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในหลุมปิโตรเลียมเก่าที่กำลังศึกษา

เป้าประหยัดพลังงาน40%

นอกจากนี้รัฐบาลส่งเสริมประหยัดพลังงานต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายประหยัดพลังงานให้ได้จากปัจจุบัน 40% ซึ่งระยะแรกกำหนดให้ประหยัดลงให้ได้ก่อน 20% และตอนนี้หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาครัฐก็พยายามลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลงมากแล้ว

ทั้งนี้แผนพีดีพีฉบับใหม่จะให้ความสำคัญในหลักการ 2 เรื่องคือ 

1.ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ที่ต้องมีเพียงพอ โดยแม้จะมีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน 50% ก็ยังมีโรงไฟฟ้าหลักอย่างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยพยายามเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น

2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสมและต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องแข่งขันได้ โดยเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตไม่ให้ต้นทุนพลังงานเป็นภาระผู้ผลิตเกินไป โดยจะส่งเสริมการประหยัดพลังงานเพื่อช่วยให้เกิดการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าเพิ่มการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 40% เมื่อสิ้นสุดแผนโดยภาคราชการจะนำร่องในการประหยัดไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 20%

เร่งแผนรับมือเชื้อเพลิงผลิตไฟ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แนวทางตรึงค่าไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระประชาชนและภาคธุรกิจแข่งขันได้ในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดปริมาณลง และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราคาสูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ย 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาเป็น 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในปี 2565

ทั้งนี้หากคิดจากต้นทุนก๊าซ LNG ที่เพิ่มขึ้นทำให้กระทรวงพลังงานประชุมแทบทุกวัน เพื่อแก้ปัญหาต้องพยายามทุกทางเพื่อไม่ให้ค่าไฟขยับขึ้น เพราะวันนี้ก๊าซ LNG แพงมาก 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู หากนำมาผลิตไฟฟ้า 7-8 บาทต่อหน่วย จากต้นทุนพลังงานนำเข้าที่คิดเป็น 20% ซึ่งวันนี้จึงสั่งการให้ใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟได้ระดับหนึ่ง และเลื่อนเวลาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะออกไป 2 เครื่อง ซึ่งยอมเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ส่วนหนึ่งไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะสูงมากและค่าไฟจะสูงกว่านี้

นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเครื่องผลิตไฟฟ้ามารวมกันเพื่อผลิตในระยะสั้น เพื่ออยู่ในกรอบการปล่อยคาร์บอนที่ยอมรับได้โดยมีการปรับเครื่องผลิตให้สามารถรองรับการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าได้

เจรจามาเลเซียซื้อก๊าซเพิ่ม

รวมทั้งกระทรวงพลังงานเจรจากับมาเลเซีย เพื่อเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA) แม้จ่ายเพิ่มในราคาสูงขึ้นแต่ถือว่าราคาต่ำกว่าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในช่วงหีบอ้อย เพื่อลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มการผลิตไฟจากชีวมวล

“ถามว่าค่าไฟจะราคาลงหรือไม่ ตรงนี้ขึ้นกับราคา LNG ถ้าลงเมื่อไหร่ ราคาค่าไฟก็ลงเมื่อนั้น แต่อย่างไรก็ตามประชาชนที่ใช้ไหไม่เกิน 300 หน่วยรัฐบาลยังดูแลอยู่ไม่ได้มีการเรียกเก็บเพิ่มแต่อย่างใด” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับระยะต่อไปจะหารือความเป็นไปในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ซึ่งรัฐบาลฟื้นคณะการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนและแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยพื้นที่ JDA ไทยมาเลเซียเคยใช้เวลา 25 ปี ในการเจรจา และถ้าตกลงกับกัมพูชาแล้วจะนำก๊าซมาใช้ภายใน 10 ปี รวมทั้งการเปิดสัมปทานเพิ่มในประเทศและลงทุนสำรวจในกัมพูชา เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศต้องการคุยกันเพื่อประโยชน์รองรับวิกฤติพลังงาน