“ซาอุฯวิชั่น” 2030 เชื่อมการลงทุนอีอีซี

“ซาอุฯวิชั่น” 2030 เชื่อมการลงทุนอีอีซี

เอกชนไทย-ซาอุดิอาระเบีย ได้เพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจด้วยการตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุฯ เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุน โดยสานความร่วมมือโครงการ Saudi Vision 2030 ดึงการลงทุนอุตสาหกรรม Non-oil รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ และอาหาร

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) โดยมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นสักขีขยานพิธีลงนามระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค.2565 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างเอกชน 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง สภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เป็นการผลักดันและส่งเสริมขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร สินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะขับเคลื่อนการเจรจาการค้า โดยทำการซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

“เป็นโอกาสดีที่ไทยกับซาอุฯ กลับมาเชื่อมสัมพันธ์อีกครั้ง ซึ่งซาอุฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง และเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยและนักลงทุนทั่วโลกร่วมผลักดันโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City)”

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายลดการพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซและเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือการเทรนด์โลกด้านความยั่งยืนที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยซาอุฯ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากลมและแสงอาทิตย์ เป็น 35% ภายในปี 2030

“นโยบายการสร้างเมืองซาอุดิอาระเบียสมาร์ทซิตี้ คาดว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่าเป็นโครงการใหญ่ที่นักลงทุนทั่วโลกมีโอกาสร่วมกันแบ่งก้อนเค้กนี้ได้ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าที่ช่วยหนุนในนโยบายดังกล่าว เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างจากการก่อสร้างและขยายเมืองใหม่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านการออกแบบภายในที่จะส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย” “ซาอุฯวิชั่น” 2030 เชื่อมการลงทุนอีอีซี

สำหรับการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ พบว่ามีความต้องการการลงทุนอุตสาหกรรมมาก โดยมีทุนแต่ขาดความรู้การผลิตจึงต้องการเชิญนักธุรกิจไทยไปลงทุน พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์มากมาย โดยซาอุดิอาระเบียจะจัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เพื่อหารือนักลงทุนไทยใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ให้รับทราบความต้องการของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะความร่วมมืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร และ BCG อีกทั้งความร่วมมือที่ซาอุดิอาระเบียต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะในอีอีซี