พาณิชย์ ลุยตั้ง JTC 5 ประเทศ พร้อมเดินหน้าปรับปรุงความตกลงการค้าอาเซียน

พาณิชย์ ลุยตั้ง JTC 5 ประเทศ  พร้อมเดินหน้าปรับปรุงความตกลงการค้าอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเดินหน้าจัดตั้ง JTC เจาะตลาดใหม่แอฟริกา -แอฟริกา-ตะวันออกกลาง เผยเผยอาเซียนเดินหน้าปรับปรุงความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน นัดแรกในรอบ 12 ปี ลุยเจรจาให้สมาชิกเร่งลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% ให้ได้ตามเป้าหมาย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC(Joint Trade Committee) กับตลาดใหม่ รวม 5ประเทศ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ออสเตรีย และ คาซัคสถาน โดยในส่วนของซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางที่มีศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีเวทีหารือระดับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยวางเป้าหมายที่จัดตั้ง JTCประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565-2566 ส่วนออสเตรีย และคาซัคสถาน จะหารือในปีถัดไป

ตลาดใหม่ในแอฟริกาและตะวันออกกลางถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสามารถเติบโตได้ดี เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูง สมารถรองรับการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว ยังเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบการผลิตและพลังงานสำคัญของไทย และยังมีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ สามารถพัฒนาไปเป็นจุดกระจายสินค้าได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะเอื้อต่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทยกับภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมี JTC กับประเทศสมาชิกอาเซียน และเวทีหารือสองฝ่ายระหว่างระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกับคู่ค้าสำคัญ รวม 32 เวที เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยปีงบประมาณ 2566 ไทยมีแผนจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JTC กับ 10 ประเทศคู่ค้า เช่น แอฟริกาใต้ มัลดีฟส์ อินเดีย อิสราเอล สิงคโปร์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น รวมทั้งเข้าร่วมการประชุม JTC ที่ประเทศคู่ค้าจะเป็นเจ้าภาพ เช่น บังกลาเทศ โมร็อกโก ภูฏาน และมาเลเซีย เป็นต้น

นางอรมน  กล่าวว่า  วันที่ 29-30 ก.ย.นี้ อาเซียนจะประชุมคณะเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) หลังจากความตกลงนี้บังคับใช้มาแล้ว 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 53 เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในภูมิภาคและระดับสากล และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และอนาคต เช่น อำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้ากรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน อย่างสินค้าเน่าเสียง่ายให้ตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง, การค้ากับสิ่งแวดล้อม, การเชื่อมโยงระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงจะหารือให้เพื่อสมาชิกลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสมาชิกด้วยกันให้เป็น 0% ให้มากขึ้น  

ทั้งนี้เพราะหลายประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม  ยังเก็บภาษีสูงอยู่ หรือเฉลี่ยมากกว่า 5% และมีสัดส่วนสินค้าที่ลดภาษีเป็น 0% ยังไม่ได้ตามเป้าหมายของอาเซียน ที่ 99% ของสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายระหว่างกัน อย่างเวียดนาม ลดเป็น 0% ที่ 95.9%, ลาว 96.6% กัมพูชา 98.5% ฯลฯ ส่วนสินค้าอ่อนไหว ที่แต่ละประเทศสมาชิกยังไม่ลดภาษีเป็น 0% เช่น ข้าว ที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ยังเก็บอยู่ที่ 20-35%, หมูมีชีวิต กัมพูชา และลาวเก็บที่ 5% รวมถึงน้ำตาล และผัก ผลไม้ 

สำหรับอาเซียนเก่า 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ได้ลดภาษีเป็น 0% ในสินค้าเกือบทุกรายการแล้ว หรือมีสัดส่วนที่ 99.3%  ส่วนไทยลดเป็น 0% เกือบทุกรายการแล้ว มีเพียงไม้ตัดดอก มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง ที่ยังเก็บเฉลี่ยที่ 5% โดยหากอาเซียนหารือกันแล้วและเห็บชอบจะทยอยลดภาษีสินค้าอ่อนไหวอีก ไทยก็พร้อมก็ดำเนินการตามเช่นกัน   

นางอรมน กล่าวว่า ส่วนเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-แคนาดา นั้น ได้หารือกันครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค.65 และวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ภาพรวมการเจรจา โครงสร้างการเจรจา และวางแผนการเจรจาในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะจัดประชุม 4 ครั้งต่อปี และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจากัน 17 ประเด็น เช่น การค้าสินค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า, บริการด้านการเงิน, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ , การเยียวยาทางการค้า เป็นต้น โดยการเจรจารอบต่อไปกำหนดเดือนพ.ย.นี้