กำราบ “เงินเฟ้อคาดการณ์” ก่อนเศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้อไม่รู้จบ

กำราบ “เงินเฟ้อคาดการณ์” ก่อนเศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้อไม่รู้จบ

ชวนรู้จัก “เงินเฟ้อคาดการณ์” อีกหนึ่งตัวการที่สามารถทำให้ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ “ธนาคารกลาง” มีหน้าที่เข้าควบคุมผ่านการประกาศทิศทางนโยบาย รวมถึงการดำเนินงานที่ปรากฏ เพื่อหวังให้ผู้คนมีความเชื่อมั่น และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงตามมา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 ส.ค.) เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 2%  อีกทั้งยังมีการกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจมีการ “ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่” ในเดือนก.ย. 

ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี จากระดับ 0.25% ขึ้นมาที่ 0.5% ต่อปี ในเดือนช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้น ผู้ว่าธปท. ได้ทำการส่งสัญญาณว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะไทยไม่ได้ประสบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐ หรือสหภาพยุโรป 

จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไป เป็นการยกตัวอย่างการส่งสัญญาณของผู้ว่าธนาคารกลางที่มีต่อประเด็นเงินเฟ้อ  รวมถึงวิธีการควบคุมตัวเลข “เงินเฟ้อคาดการณ์” ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม 

  •   ทำไมเงินเฟ้อคาดการณ์จึงสำคัญ?  

เงินเฟ้อคาดการณ์ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ผู้คนในสังคมคาดการณ์ ซึ่งอาจจะเท่ากับ ตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ได้ และอาจมีได้หลายค่า จากผลคาดการณ์ที่แตกต่างกันของคนแต่ละกลุ่มในสังคม โดยนักวิเคราะห์จะเป็นกลุ่มคนที่คาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งระยะใกล้และไกลได้แม่นยำที่สุด เนื่องจากมีการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด 

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีความสำคัญนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามาจากคนกลุ่มใด แต่ขึ้นอยู่กับภาพใหญ่ของคนในสังคมว่า คาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้ออย่างไร ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ในสังคมคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ตรงนี้จะมีผลให้เงินเฟ้อสามารถสูงขึ้นจริงตามการคาดการณ์ดังกล่าวได้ เพราะคนจะปรับพฤติกรรมตามการประเมินสถานการณ์ของตน หรือที่เรียกว่า Self-fulfilling 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ผู้คนคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าจะแพงขึ้นหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าในวันนี้ ทำให้เกิดการแห่ซื้อสินค้าเพื่อกักตุนไว้ หากมีเพียง 1 คนในสังคมที่คิดเช่นนี้ ก็อาจจะไม่มีผลกระทบอะไรกับตัวเลขเงินเฟ้อจริง แต่หากเป็นคนจำนวนราว 3 ใน 4 ของประเทศคิดเช่นเดียวกัน และเกิดการแห่ซื้อสินค้ากักตุนพร้อมกัน ตรงนี้จะมีผลให้เกิดความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผลักดันให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้น 

สถานการณ์ข้างต้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อจริงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เหตุนี้เองที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์มีความสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจใดไม่สามารถควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ ท้ายที่สุดอาจต้องกับภาวะเงินเฟ้อไม่รู้จบ 

  •   บทบาทของธนาคารกลางต่อการควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์  

ด้วยเหตุที่เงินเฟ้อคาดการณ์สามารถสร้างอิทธิพลต่อตัวเลขเงินเฟ้อจริง ธนาคารกลางจึงมีหน้าที่ต้องจัดการกับเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้  ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นนับว่าเป็นงานยาก แต่หากไม่สามารถทำได้ การแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อก็มักจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก 

ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ควบคุมได้ ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีชื่อเรียกว่า Anchored expectation โดยตัวเลขที่อยู่ในระดับควบคุมได้นั้นถูกประเมินจาก ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยา หากค่าที่ได้ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting) ที่ประเทศนั้นๆ กำหนดไว้ นั่นหมายถึง เงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงถูกยึดเหนี่ยวไว้ได้ หรือยังอยู่ในระดับควบคุม 

เหตุที่ต้องใช้ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาว เพราะในระยะนี้  ผู้คนจะคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองที่มีต่อการจัดการเงินเฟ้อของธนาคารกลาง หากผู้คนส่วนใหญ่มั่นใจในศักยภาพของธนาคารกลาง ถึงแม้ว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เงินเฟ้อคาดการณ์จะอยู่ในระดับสูง แต่ท้ายที่สุดตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์มักจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งจะมีผลช่วยให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวจะอยู่ในระดับควบคุม แต่หากเศรษฐกิจประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลให้มุมมองที่ไม่เชื่อมั่นต่อธนาคารกลางของผู้คนในสังคม และอาจนำไประดับเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สูงขึ้น ฉะนั้น ธนาคารกลางจึงมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมว่า ธนาคารกลางกำลังดำเนินนโยบายเพื่อให้กำจัดภาวะเงินเฟ้อได้ในที่สุด 

ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากคำกล่าวของ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในที่ประชุมประจำปีของเฟด (26 ส.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องมีการคุมเข้มนโยบายไประยะหนึ่งก่อนที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ แม้ว่าจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง ตลาดแรงงานอ่อนแอลง และส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ 

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ตอบรับคำกล่าวด้วยการปิดตัวด้วยตัวเลข 32,283.40 ซึ่งร่วงลงกว่า 1000 จุด หรือ 3.03% จากวันก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ที่ปิดตัวด้วยตัวเลขที่หดตัวลงราว 3.37% และ 3.94% ตามลำดับ 

ทั้งหมดนี้นับเป็นผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากท่าทีที่แข็งกร้าวของเฟดต่อการกำจัดเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกัน ท่าทีดังกล่าวก็นับว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนว่า เฟดกำลังจริงจังกับประเด็นเงินเฟ้อเพียงใด

----------------------------------------

อ้างอิง

ฐิติมา ชูเชิด

ทศพล อภัยทาน

สำนักข่าวอินโฟเควสท์