'องค์กรต้านคอร์รัปชั่น' ห่วงชิงสายสีส้ม เงื่อนไขเสี่ยงกีดกันเอกชน

'องค์กรต้านคอร์รัปชั่น' ห่วงชิงสายสีส้ม เงื่อนไขเสี่ยงกีดกันเอกชน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งข้อสังเกต รฟม.ปรับหลักเกณฑ์คัดเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทบเอกชนบางกลุ่มหมดสิทธิ์เข้าร่วม ขณะที่ รฟม.เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอ เร่งลงนามร่วมทุนปีนี้

โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆที่กำลังเปิดรับข้อเสนอการร่วมทุนจากภาคเอกชนและที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น “สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ดูจะเป็นเส้นทางที่มีทั้งโอกาสสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงและยังมีเงื่อนไขนำไปสู่ความเห็นที่ไม่ตรงกันสูงด้วยเช่นกัน 

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยถึงกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของเอกชน ในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ปัจจุบัน ACT ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะที่เน้นย้ำแก่ รฟม.คือการเปิดเผยถึงเป้าหมายของโครงการให้ชัดเจนต่อสาธารณชน แผนงานจะเดินหน้า กำหนดเปิดให้บริการ เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวยอมรับว่าในการประกวดราคาครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นอยู่ในระหว่างนี้ มีข้อสังเกตที่เป็นประเด็นต้องติดตาม โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรายละเอียดคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ เปลี่ยนแปลงไปจากเอกสารคัดเลือก (RFP) ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 และส่งผลให้เอกชนบางรายที่เคยมีสิทธิ์ในการเข้ายื่นข้อเสนอ แต่กลับไม่เข้าข่ายและไม่มีสิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้

“การที่เงื่อนไขคัดเลือกเอกชนครั้งที่สองออกมาและทำให้เอกชนจำนวนหนึ่งไม่เข้าข่ายหรือหมดสิทธิในการยื่นข้อเสนอ ทั้งที่การประกวดราคารอบแรกสามารถเข้าร่วมได้ เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ในการตั้งข้อสังเกต แต่การประกวดราคาครั้งที่สองนี้ ก็ดำเนินการมาแล้วในระยะหนึ่ง หาก รฟม.มีข้อติดขัดอะไรในตอนนี้ ก็ควรจะตอบให้ได้ว่าเหตุผลมาจากอะไร ความล่าช้าในการคัดเลือกเอกชนที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไร ขณะนี้คงต้องรอดูการดำเนินการของทาง รฟม.ก่อน”

\'องค์กรต้านคอร์รัปชั่น\' ห่วงชิงสายสีส้ม เงื่อนไขเสี่ยงกีดกันเอกชน

ปรับเงื่อนไขอดยื่นซองครั้งที่ 2 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า รายละเอียดของ RFP คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งมีบางเงื่อนไขเข้าข่ายกีดกันเอกชนบางรายจนไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ แม้ว่าเอกชนรายนั้นจะสามารถยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาครั้งที่ 1

โดยเงื่อนไขใน RFP ที่เปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเหตุให้เอกชนรับเหมาบางรายไม่สามารถเข้าร่วมยื่นข้อเสนอประกวดราคาได้ อาทิ ผู้รับเหมาจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด 

ขณะเงื่อนไขเดิมกำหนดว่า มีผลงานที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด แต่ไม่ได้กำหนดให้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ เอกชนกลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาครั้งที่ 1 และพบว่าไม่เข้าข่ายในการเข้าร่วมประกวดราคาครั้งที่ 2 คือ กลุ่มของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่เคยยื่นข้อเสนอร่วมกับพันธมิตรบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC แต่การประมูลครั้งนี้กลับมีคุณสมบัติไม่ครบ

โดย STEC แม้จะเคยมีผลงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ายกระดับ (Elevated Station) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างตาม Detailed Design ที่ออกแบบไว้แล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไข RFP ที่ต้องออกแบบและก่อสร้าง และแม้ว่า STEC มีประสบการณ์ก่อสร้างงานอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี แต่ยังไม่ได้ส่งมอบผลงาน จึงทำให้ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดที่ต้องมีผลงานแล้วเสร็จ

\'องค์กรต้านคอร์รัปชั่น\' ห่วงชิงสายสีส้ม เงื่อนไขเสี่ยงกีดกันเอกชน

กำลังพิจารณาซอง 2 ด้านเทคนิค

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า การประกวดราคาในครั้งที่ 2 รฟม.ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค.2565 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชน 2 กลุ่ม ที่ยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ITD Group โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 รฟม.คณะกรรมการคัดเลือกฯ เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ และผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้เข้าร่วมในการเปิดซองข้อเสนอ ซองที่ 1 พบว่าเอกชนทั้ง 2 กลุ่มผ่านการพิจารณา

จากนั้นใน เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565  ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอ ในเบื้องต้นรฟม.ยังตั้งเป้าว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2565

สำหรับเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค มีเกณฑ์การประเมินคะแนนเต็มร้อยละ 100 แบ่งออก 4 หมวด ดังนี้

1. โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 10 

2. แนวทางวิธีการดำเนินงาน และเทคนิคโยธา ร้อยละ 50 

3. แนวทาง วิธีการดำเนินงานและเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า ร้อยละ 10 

4. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา ร้อยละ 30 

ซึ่งต้องได้รับคะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 หากผ่านซองที่ 2 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน