ร.ฟ.ท.เผยโฉมรถไฟดีเซล KIHA183 เตรียมให้บริการรูทท่องเที่ยว ต.ค.นี้

ร.ฟ.ท.เผยโฉมรถไฟดีเซล KIHA183 เตรียมให้บริการรูทท่องเที่ยว ต.ค.นี้

การรถไฟฯ ทดลองเดินรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 183 จากญี่ปุ่น ก่อนเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.นี้ หวังรับการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 พร้อมกับทดลองเปิดเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ วันนี้ (6 ก.ย.) โดยระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วเสร็จจำนวน 3 คัน และในวันนี้ (7 ก.ย.) ได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน - ฉะเชิงเทรา - กรุงเทพ เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ ร.ฟ.ท.มีแผนจะทยอยนำขบวนรถมาให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.นี้ รองรับฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) นำร่องในเส้นทาง อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำตกจังหวัดกาญจนบุรี และหัวหิน เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อกำหนดเส้นทางให้บริการขบวนรถ KIHA 183 โดยในช่วงแรกเน้นให้บริการตอบสนองการท่องเที่ยวเป็นหลัก คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถปรับปรุงขบวนรถแล้วเสร็จพร้อมให้บริการรวม 4 คัน และภายในปีหน้าจะทยอยแล้วเสร็จเพิ่มเติมจนครบจำนวน 17 คัน เพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566 ดังนั้น ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าขบวนรถที่รับมอบมาจากญี่ปุ่นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเศษเหล็กแบบที่พูดกัน มีศักยภาพในการให้บริการเดินรถ และ ร.ฟ.ท.ใช้งบปรับปรุงขบวนรถเพียงคันละ 2 แสนบาท ประหยัดกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่ 400 เท่า

สำหรับขบวนรถที่ ร.ฟ.ท.ได้รับมอบมานั้นเป็นรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จำนวน 17 คัน ซึ่งประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab)  52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน และได้มีการส่งมอบรถมาถึงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เพื่อทำการดัดแปลงเป็นตู้รถไฟ สำหรับให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

สำหรับการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ร.ฟ.ท. ได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย รวมถึงได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุดๆ ละ 4 คัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในระยะแรก ได้ปรับปรุงภายในรถใหม่ โดยมีการตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ รวมถึงทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ภายในจากภาษาญี่ปุ่นให้มีภาษาอังกฤษเพิ่มเติม พร้อมระบบห้องสุขา โดยได้ทดลองระบบการทำงานแบบเสมือนจริงทั้งหมด อีกทั้งยังได้ดัดแปลง ชุดหัวท่อเติมน้ำใช้ และชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลให้สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารประเภทชุดด้วย

ขณะที่การปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมเพื่อคงกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นอยู่

ส่วนแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v. / 220 v. 50 Hz โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคัน ประมาณ 2 ปี