ยุโรปผนึกกำลังรับมือวิกฤติพลังงาน ขณะใกล้ถึงฤดูหนาว

ยุโรปผนึกกำลังรับมือวิกฤติพลังงาน ขณะใกล้ถึงฤดูหนาว

ยุโรปผนึกกำลังรับมือวิกฤติพลังงาน ขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งใช้พลังงานในระดับสูงประมาณ 9,000 แห่ง จะได้รับการยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องชั่วคราว รวมมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านยูโร

ยุโรปเริ่มเคลื่อนไหวหลังก๊าซพรอม บริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดความกังวลว่าภาวะขาดแคลนพลังงานในยุโรปและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ  

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชูลซ์ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประกาศการจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเพิ่มอีก 65,000 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและภาคธุรกิจของเยอรมนี ในการรับมือและฝ่าฟันกับวิกฤติราคาเชื้อเพลิง ทำให้ตอนนี้ เยอรมนีใช้งบประมาณเพื่อการนี้ไปแล้ว 100,000 ล้านยูโร นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

สำหรับมาตรการช่วยเหลือรวมถึง การขยายขอบเขตของมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านพลังงานครั้งเดียว ครอบคลุมกลุ่มคนวัยเกษียณ ซึ่งรับเบี้ยบำนาญ และนักศึกษา ในราคา 300 ยูโร และ 200 ยูโร ตามลำดับ หลังก่อนหน้านั้นให้ความช่วยเหลือพนักงานบริษัทและลูกจ้างสถานประกอบการ ในอัตรา 300 ยูโร

ขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งใช้พลังงานในระดับสูงประมาณ 9,000 แห่ง จะได้รับการยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องชั่วคราว รวมมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านยูโร นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเติม โดยคำนวณจากผลกำไรของบริษัทพลังงาน แล้วจะนำรายได้ส่วนนี้มาใช้บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนด้วย

ชูลซ์ยืนยันว่า เยอรมนี “ต้องผ่านพ้นฤดูหนาวปีนี้ไปให้ได้” และรัฐบาลมี “มาตรการรับมือ” หากเกิดกรณีรัสเซียตัดก๊าซอย่างไม่มีกำหนดจนถึงเดือนธ.ค. 

ขณะเดียวกัน ผู้นำเยอรมนีประณามรัฐบาลมอสโกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินว่าเป็นต้นเหตุแท้จริงที่ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศแพงขึ้น และรัสเซียไม่ถือเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานที่เชื่อถือได้อีกต่อไป

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป เกิดขึ้นหลังบริษัทก๊าซพรอม ผู้ประกอบการด้านก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้” ว่าการส่งก๊าซผ่านท่อ “นอร์ดสตรีม 1” ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซหลักระหว่างรัสเซียกับยุโรป จะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งเมื่อใด หลังครบกำหนดซ่อมบำรุงรอบล่าสุด ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. ที่ผ่านมา.

ด้านสกุลเงินยูโรร่วงลงใกล้แตะระดับต่ำสุดในารอบ 20 ปีในช่วงเช้าของวานนี้ (5ก.ย.) หลังจากก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าภาวะขาดแคลนพลังงานในยุโรปและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สกุลยูโรดิ่งลงแตะระดับ 0.9903 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก๊าซพรอมได้ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าพบการรั่วไหลของน้ำมันที่กังหันหลักของสถานีคอมเพรสเซอร์ปอร์โตวายาใกล้กับนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยระบุว่ากังหันดังกล่าวไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากไม่มีการซ่อมแซมรอยรั่วซึมของน้ำมัน

ก่อนหน้านี้ ก๊าซพรอมมีกำหนดเปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ในวันที่ 3 ก.ย. เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย หลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงในวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย.

การประกาศปิดท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 โดยไม่มีกำหนดนี้ เป็นไปตามที่หลายฝ่ายกังวลก่อนหน้านี้ว่า ก๊าซพรอมจะยังคงปิดท่อส่งก๊าซต่อไป ขณะที่รัสเซียกำลังใช้อุปทานพลังงานเป็นอาวุธสงครามเพื่อตอบโต้ต่อการที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

ด้าน“บรูโน เลอ แมร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสระบุว่า ความพยายามของกลุ่มประเทศ G7 ในการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกจึงจะประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ G7 ประกาศเห็นชอบต่อแผนการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โทษฐานรุกรานยูเครนเมื่อช่วงต้นปีนี้ แต่นอกจากการตัดรายได้น้ำมันของรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแล้ว เลอ แมร์ระบุว่า นโยบายดังกล่าวควรเป็นมาตรการต่อต้านสงครามระดับโลก

“คุณต้องขยายมาตรการออกไป เพราะเราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เป็นเพียงมาตรการในระดับชาติตะวันตก” เลอ แมร์กล่าวกับสตีฟ เซดจ์วิกจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ที่การประชุมแอมบรอเซตติ (Ambrosetti) ในประเทศอิตาลี

"สิ่งนี้ไม่ควรเป็นเพียงมาตรการที่ชาติตะวันตกบังคับใช้กับรัสเซีย แต่ควรเป็นมาตรการระดับโลกที่มีต่อสงคราม” เลอ แมร์กล่าว

กลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะบังคับใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียอย่างไร ซึ่งเลอ แมร์ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่ามาตรการดังกล่าวจะพร้อมดำเนินการก่อนช่วงต้นเดือนธ.ค.ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเลของสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มมีผลบังคับใช้

ด้าน“เปาโล เจนติโลนี” กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของอียู เปิดเผยว่า อียูพร้อมที่จะตอบโต้การตัดสินใจของรัสเซียที่ระงับการส่งก๊าซให้กับอียูแต่เจนติโลนีไม่ได้ระบุว่าจะตอบโต้อย่างไร