กต.สำรวจเส้นทาง R3Aหนุนร่วมมือศก.ไทย - ลาว - จีน

กต.สำรวจเส้นทาง R3Aหนุนร่วมมือศก.ไทย - ลาว - จีน

ถนน R3A เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมการค้าและธุรกิจที่กระทรวงการต่างประเทศนำโดย “อาจารี ศรีรัตนบัลล์” อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก นำคณะผู้แทนจากลาวและจีนร่วมสำรวจเส้นทางขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างไทย - ลาว และจีน ทั้งทางถนนและทางราง 

ถนน R3A เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมการค้าและธุรกิจที่กระทรวงการต่างประเทศนำโดย “อาจารี ศรีรัตนบัลล์” อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก นำคณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กรมทางหลวง สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เดินทางไปสำรวจเส้นทาง R3A (จากจังหวัดเชียงราย ถึงด่านสากลบ่อเต็น บริเวณชายแดนลาว - จีน) เส้นทางรถไฟลาว – จีน สถานีรถไฟไทย - ลาว (บ้านคำสะหวาด) และ Vientiane Logistics Park/ท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งมีความสำคัญสำหรับการขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างไทย - ลาว และจีน ทั้งทางถนนและทางราง 

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ร่วมหารือเตรียมความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงรถไฟลาว – จีนกับระบบรางของไทยที่บริเวณนครหลวงเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคาย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย – ลาว – จีน 
 

เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญระหว่างไทย - ลาว - จีน โดยเฉพาะผลไม้ส่งออกจากไทยไปยังจีนผ่านลาว เข้ามณฑลยูนนาน โดยการเดินทางจากด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยซาย) ไปยังด่านสากลบ่อเต็น (ชายแดนลาว - จีน) มีระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง เป็นถนน 2 ช่องทาง ซึ่งส่วนใหญ่คดเคี้ยวและลาดชันเนื่องจากผ่านพื้นที่ที่เป็นภูเขา

ส่วนด่วนสากลบ่อเต็น บริเวณชายแดนลาว - จีน คณะได้พบหารือกับผู้แทนด่านภาษีสากลบ่อเต็นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีน โดยในช่วง ม.ค. - ก.ค. 2565 มีการส่งออกของไทยไปจีนผ่านด่านสากลบ่อเต็นทางรถจำนวน 21,538 ตู้ รวมมูลค่าประมาณ 884.5 ล้านดอลลาร์ และภายหลังการเปิดใช้ทางรถไฟลาว – จีน เมื่อเดือน ธ.ค.2564 เป็นต้นมา มีการขนส่งสินค้าไทยโดยใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว – จีน (จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปยังสถานีนาเตย แล้วต่อด้วยทางรถมายังด่านสากลบ่อเต็นเพื่อเข้าจีน) แล้วจำนวน 503 ตู้ มูลค่ารวมกว่า 38.64 ล้านดอลลาร์

โดยคณะทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าจากไทยข้ามแดนไปจีนให้คล่องตัวและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และความคืบหน้าของการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าข้ามแดนทางรางที่ด่านสถานีรถไฟโม่ฮานในฝั่งจีน

สำหรับการเดินทางโดยรถไฟลาว – จีนจากสถานีบ่อเต็นไปยังสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นสถานีปลายทางสำหรับผู้โดยสาร ระยะทาง 409 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 30 นาที รถไฟวิ่งด้วยความเร็วปานกลางเฉลี่ย 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านอุโมงค์ 75 จุด และสถานีหลัก ได้แก่ สถานีนาเตย เมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง ซึ่งทางรถไฟดังกล่าวได้ช่วยลดระยะเวลาเดินทางภายในลาว ลงอย่างมาก และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย - ลาว - จีน

ทีมไทยแลนด์ยังได้เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามใกล้ด่านสากลบ่อเต็น ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัทไห่เฉิงยูนนาน (Haicheng Yunnan) ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของลาวเหนือใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1.การค้าและการเงิน 2.การท่องเที่ยวและพักผ่อน 3.อุตสาหกรรมแปรรูปและการขนส่งและโลจิสติกส์ และ 4. การศึกษาและการแพทย์ เพื่อศึกษาลู่ทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และโอกาสสำหรับไทยในอนาคต