สกพอ.ชง 'สุพัฒนพงษ์' ชี้ขาด แก้สัญญาไฮสปีดเทรน 'ซีพี'

สกพอ.ชง 'สุพัฒนพงษ์' ชี้ขาด แก้สัญญาไฮสปีดเทรน 'ซีพี'

สกพอ.เร่งสรุปรายละเอียดสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ลุ้น “สุพัฒนพงษ์” ไฟเขียวภายใน ก.ย.นี้ ด้าน ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ ขีดเส้นแก้สัญญาลงนามใหม่ภายใน4 ม.ค.2566 เตรียมออก NTP เริ่มงานใน 45 วัน

โครงสร้างพื้นฐานแห่งยุคปัจจุบันอย่างหนึ่งทีี่มีอยู่ในหลายประเทศแล้ว นั่นคือ “รถไฟความเร็วสูง” หรือ “ไฮสปีดเทรน” สำหรับประเทศไทยแม้โครงการสร้างไฮสปีดเทรนได้ผ่านกระบวนการต่างๆจนได้เอกชนผู้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ขั้นตอนการก่อสร้างดูจะยังเป็นความท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันแก้ไขโดยเฉพาะประเด็นการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกพอ.ได้รายงานการจัดทำแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ไปยังคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด ซึ่ง สกพอ.มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาติดขัด และสามารถดำเนินการได้ตามแผน

“ไฮสปีดเทรนตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไรติดขัดแล้ว การเจรจากับภาคเอกชนก็แล้วเสร็จ เข้าใจร่วมกันในทุกประเด็น การส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟฯ ก็มีความพร้อม เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางเอกชนก็จะเป็นผู้ลงทุนก่อนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งปัจจุบันรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ กำลังดูรายละเอียดสัญญา คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจากนี้”

สำหรับการแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนงานโยธาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รวมไปถึงกรณีการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่นี้ มีการแก้ไข 2 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1. การชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท เดิมในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ปรับเป็นแบ่งชำระงวดละ 1,067.11 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด

2. การแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อน โดยเอกชนรับก่อสร้างงานโยธา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่ม 9,207 ล้านบาท จากเดิมที่รัฐจะทยอยจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนปีที่ 6-15 รวม 10 ปี รวม 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นรัฐทยอยจ่าเงินค่าร่วมลงทุนปีที่ 2-8 รวม 7 ปี รวม 132,455 ล้านบาท เท่ากับรัฐสามารถประหยัดเงินลงทุนและสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อนได้

ร.ฟ.ท.แก้ปมส่งมอบพื้นที่ซ้อน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้เสนอรายละเอียดของการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และการปรับระยะเวลาจ่ายค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปยัง สกพอ.แล้ว โดยทราบว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กบอ. ส่วนกรณีการส่งมอบพื้นที่ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่ามีความพร้อมส่งมอบ 100% ในการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา

อย่างไรก็ดี ตามแผนดำเนินงานขณะนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่าควรมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามกับเอกชนคู่สัญญาภายใน 4 ม.ค.2566 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการก่อสร้างของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน โดยหาก ครม.อนุมัติการลงนามสัญญาเกิดขึ้นภายในกรอบดังกล่าว ร.ฟ.ท.จะเร่งดำเนินการออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้แก่ภาคเอกชนทันทีภายใน 45 วัน เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง

“ตอนนี้ยังมั่นใจว่าการอนุมัติสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่จะแล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนด คือ ภายใน 4 ม.ค.2566 เพราะปัจจุบันก็สามารถเคลียร์ทุกประเด็นกับทางภาคเอกชนจบหมดแล้ว มีความเข้าใจที่ตรงกัน เรื่องการส่งมอบพื้นที่ ปัญหาลำรางสาธารณะก็สามารถเคลียร์ได้แล้ว แต่หากท้ายที่สุดไม่สามารถลงนามได้ภายในกำหนด ก็จำเป็นต้องกลับไปใช้สัญญาร่วมลงทุนฉบับเดิม”

พร้อมส่งพื้นที่ระยะ 1 ครบ100%

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ร.ฟ.ท.มีแผนส่งมอบพื้นที่โดยจะแบ่งเป็นระยะ คือ ระยะที่ 1 จะส่งมอบช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมส่งมอบ 100% ระยะทาง 170 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 5,521 ไร่อีกทั้งในระยะที่ 1 นี้ ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดไทย - จีน ในช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันที ให้ทันต่อการเปิดให้บริการรถไฟไฮสปีดไทย - จีน ในปี 2569

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กม. ตามแผนส่งมอบในระยะถัดไป ร.ฟ.ท.วางแผนส่งมอบภายในปี 2566 เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้จำเป็นต้องการมีรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งขวางแนวเส้นทาง 2 จุด คือ 1.คลองไซฟอนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณสามเสน และ 2.ท่อน้ำมันของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) โดยทั้งสองหน่วยได้ทำเรื่องของบกลางประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินการรื้อย้าย

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 -5 ปี เดิมเคยคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาภายในปี 2568 แต่ภาพรวมปัจจุบันคาดว่าจะต้องขยับไทม์ไลน์เปิดให้บริการในช่วงปี 2570

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีระยะทาง 220 กิโลเมตร เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน

โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ทำความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที โดยแนวเส้นทางให้บริการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เบื้องต้นกำหนดราคาค่าโดยสารเริ่มตั้งแต่ 115 – 490 บาท ขณะที่สถานีรถไฟบริการ กำหนดไว้ 9 สถานี ประกอบด้วย สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา