การทางพิเศษฯ รุกแผน เร่งลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

การทางพิเศษฯ รุกแผน เร่งลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบขนส่ง จากการจราจรติดขัด นำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง

“ทางด่วน” ถือเป็นอีกหนึ่งระบบขนส่งทางเลือกที่ประชาชนเลือกใช้เพื่อเดินทางในเขตเมือง ที่ปัจจุบันปริมาณรถยนต์ที่ใช้งานทางพิเศษในแต่ละวันเพิ่มขึ้น สถิติล่าสุดพบว่ามีเฉลี่ย 1.5 ล้านคันต่อวัน

สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า  ขณะนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการปรับปรุงด่านเก็บค่าผ่านทาง โดยลดช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด พร้อมเพิ่มช่องทางชำระค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติทั้งในรูปแบบของระบบสมาชิก Easy Pass และช่องเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M-Flow) ที่ได้นำร่องติดตั้งในหลายด่านเก็บค่าผ่านทางแล้ว และพบว่าการปรับตัวใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน ลดระยะเวลาผู้ใช้ทางในการชะลอชำระค่าผ่านทาง นำมาสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์บนทางพิเศษ

ทั้งนี้ กทพ.ได้ริเริ่มให้มีการประมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทางพิเศษ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมที่ กทพ.กำลังดำเนินการ ซึ่งข้อมูลในปีงบประมาณ 2565 ณ เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าการใช้ช่องเก็บเงินอัตโนมัติที่มีสัดส่วนราว 42% ของปริมาณผู้ใช้ทางพิเศษทั้งหมด สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ปีละประมาณ 13.88 ตัน หรือลดลงราว 0.06%

การทางพิเศษฯ รุกแผน เร่งลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

อีกทั้งการใช้ช่องทางเก็บเงินอัตโนมัติยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงจากการใช้ช่องเก็บเงินสดได้อีกประมาณ 6% และยังสามารถลดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ประมาณ 7% รวมทั้งลดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้อีกประมาณ 14%

นอกจากนี้ กทพ.ยังมีนโยบายในการพัฒนาทางพิเศษเพื่อรองรับยานยนต์อนาคตอย่างรถยนต์อัตโนมัติ Autonomous Vehicle (AV) หรือที่เรียกว่ารถยนต์ไร้คนขับ ที่จะถูกขับเคลื่อนจากการตรวจจับระบบ Sensor เป็นพาหนะที่มีความสามารถในการตรวจจับสภาพแวดล้อม สามารถใช้งานได้โดยที่คนไม่ต้องมีส่วนร่วมในขับขี่ ไม่จำเป็นต้องควบคุมยานพาหนะ โดย กทพ.มองว่ายานยนต์อนาคตนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ทางพิเศษต้องเร่งปรับตัววางระบบรองรับด้วย

สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ก้าวสำคัญของโครงข่ายทางถนนในขณะนี้ไม่เพียงการวางระบบบริหารจัดการจราจร แต่ต้องมองถึงเทรนด์ของยานยนต์ที่กำลังจะปรับเปลี่ยนในอนาคต 

“วันนี้โลกไม่ได้พูดถึงเพียงยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่กำลังพูดถึง Autonomous Vehicle (AV) ซึ่งหากเกิดกระแสพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว กทพ.ซึ่งเป็นโครงข่ายการเดินทางทางเลือกก็จำเป็นต้องปรับตัวในการวางระบบ เช่น เทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับการขับเคลื่อนของยานยนต์ประเภทดังกล่าว”

อย่างไรก็ดี กทพ.ประเมินว่าการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง และเทคโนโลยีของยานยนต์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ในเรื่องของการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากเชื้อเพลิง 

หากอนาคตประเทศไทยมีความนิยมในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้ง Autonomous Vehicle (AV) อย่างแพร่หลาย กทพ.เชื่อว่าจะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์บนท้องถนนจากการเผาพลาญเชื้อเพลิงเป็นศูนย์