ชาวสวนยางปรับต้นทุนผลิตสู้ ‘ปุ๋ยแพง-ราคาร่วง’

ราคายางพาราที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำยางสดที่ซื้อ-ขายตลาดท้องถิ่นไม่ถึง 40 บาท/กก.ทำให้ชาวสวนยางเริ่มจับกลุ่มส่งสัญญาณดังๆไปถึงรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง พร้อมกับวลีเด็ด “อย่าให้ยางพารากลายเป็นสินค้าการเมือง”

ราคาน้ำยาง ที่ลดเหลือกิโลกรัมละ 43บาท ทำให้ชาวสวนยาง..ชักหวั่นใจว่า..วิกฤตราคายาง 3 กิโลกรัม 100 บาทจะหวนกลับมาซ้ำเติมความเดือดร้อนชาวสวนยางอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาราคาน้ำยางอยู่ที่ 67 บาทต่อกิโลกรัม และลดลงในเดือนกรกฎาคม เหลือกิโลกรัมละ53 บาทและปัจจุบันในตลาดท้องถิ่นราคาซื้อขายไม่ถึง 40บาท สวนทางกับราคาปุ๋ยที่แพงสุดเท่าที่เคยเจอมา โดยล่าสุดชาวสวนยางเริ่มส่งสัญญาณให้มีการปรับราคาต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

ปัญหาราคายาง ที่ผันผวนทำให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่อำเภอนาทวี จ.สงขลา มองหาลู่ทางใหม่ที่จะหารายได้ทดแทน โดยหันไปศึกษาการปลูกหมากให้เป็นพืชแซมยาง เนื่องจากหมากกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้ง อินเดีย จีน ดูไบ และเวียดนาม ซึ่งการปลูกหมากใช้เวลาน้อยกว่ายาง ประมาณ3ปีก็เริ่มให้ผลผลิต และยังพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีต่อไร่สูงถึง 100,000บ.

 ขณะที่ในมุมมองของผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา วิเคราะห์ว่าภาวะสงครามทำให้เป็นอุปสรรคต่อระบบโลจิกติกส์ ต่อเนื่องกับการประกาศซีโร่โควิดทำให้ปริมาณการใช้ยางลดลง ทั้งนี้คาดว่าราคายางจะกลับมากระเตื้องอีกครั้งในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ซึ่งในช่วงนี้การยางแห่งประเทศไทยฯได้เร่งช่วยสถาบันเกษตรกรซื้อยางแผ่นดิบและรมควันเดือนละ  12,000 ตันและน้ำยางสด 13ล้านกิโลกรัม เพื่อป้อนให้กับผู้ใช้ยางในประเทศและหน่วยงานของรัฐ

 

 จะด้วยปัจจัยใดก็ตามที่ทำให้ราคายางตกต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงลิ่ว สำหรับชาวสวนยางที่เป็นผู้ผลิตในระดับต้นน้ำได้เน้นย้ำและฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าให้ “ยางพารา” กลายเป็นสินค้าการเมืองเพราะคนที่เดือดร้อนจริงคือชาวบ้าน.. สุพิชฌาย์ รัตนะ เนชั่นทีวีศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงาน