วาระแห่งชาติ เรื่องยุ่งๆของ” กุ้งไทย “

วาระแห่งชาติ เรื่องยุ่งๆของ” กุ้งไทย “

ในอดีตไทยเคยผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ได้มากถึง 6.5 ล้านตัน เป็นแชมป์ส่งออกในตลาดสหรัฐต่อเนื่องยาวนาน มูลค่ากว่า2 แสนล้านบาทต่อปี ด้วยประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ใช้เวลาเพียง 4-6 เดือน ก็จับขายได้ จึงคืนทุนได้เร็วและสร้างรายได้สูงสุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรกลุ่มอื่น

 แต่ในปี 2555 ได้เกิด โรคอีเอ็มเอส หรือตายด่วน ระบาดอย่างรุนแรง กุ้งเลี้ยงเสียหายไปกว่า 90 % จนถึงขณะนี้ 10 ปี ผ่านไปแล้วยังไม่สามารถแก้ไขได้ อัตรารอดการเลี้ยงกุ้งยังต่ำ และยังมีโรคประจำถิ่นอื่นๆรบกวนเป็นระยะๆ ทำให้มีผลผลิตเหลือเพียง 2.8 แสนตัน ซ้ำเติมด้วยปัญหาราคาตกต่ำ เมื่อ อินเดีย ได้พัฒนาการเลี้ยงกลายเป็นผู้เลี้ยงและส่งออกรายใหญ่ของโลกเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แทน รองลงมาเป็น เอกวาดอร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนไทยตกลงมาเป็นอันดับที่ 6

วาระแห่งชาติ เรื่องยุ่งๆของ” กุ้งไทย “

หันไปดู กลุ่มผู้ประกอบการบ้าง ในช่วงที่ผลผลิตกุ้งของไทยมีจำนวนมากนั้น ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปกุ้งก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยมีกำลังการผลิตถึง 7 แสนตันต่อปี เมื่อผลผลิตลดลง ผู้ประกอบการก็เจ็บไม่ใช่น้อย หลายรายต้องล้มเลิกกิจการ ที่ยังเหลืออยู่ก็อาศัยการปรับตัวไปทำปลา หมึก และ ปู ร่วมด้วยเพราะผลผลิตกุ้งไม่พอป้อนโรงงาน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้กรมประมง ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board)  ขึ้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

โดย นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธาน Shrimp Board กล่าวว่า วิธีการนี้ ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และกรมประมงยังจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 3.2แสนตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 4 แสน ตัน

วาระแห่งชาติ เรื่องยุ่งๆของ” กุ้งไทย “

 แต่ เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความเชื่อมั่นด้านราคา จึงลงเลี้ยงกุ้งไม่เต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ กรมประมงจึงอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์ได้ ในปีนี้1 หมื่นตัน

 

มติดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกรในฝั่งสมาคมกุ้งไทย เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว ต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ แบรนด์สินค้ากุ้งไทยได้ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี ยกปัญหากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ คัดค้านการนำเข้า

ยืนยันว่า วัตถุดิบกุ้งของไทยเอง “ไม่ได้ขาดแคลน” แต่ราคาสูงขึ้น เพราะปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการ รวมถึงการเปิดประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เป็นไปตามปกติของกลไกตลาด

เรียกร้องให้กรมประมงแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ วางแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม เปิดทางให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อจาก โดยภาครัฐและสถาบันการเงินสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องรีบเข้ามาตัดสินให้จบ เคลียร์ให้ชัด เพื่อฟื้นอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ผงาดในตลาดโลกอีกครั้ง