จีไอทีนำ AI ตรวจอัญมณี สร้างความเชื่อมั่นซื้อขายอัญมณี

จีไอทีนำ AI ตรวจอัญมณี สร้างความเชื่อมั่นซื้อขายอัญมณี

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ เดินหน้าพัฒนาระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณี มาจากประเทศใด แหล่งใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายอัญมณี เพิ่มมูลค่าให้กับวงการอัญมณีและเครื่องประดับ เผยจะมีความแม่นยำ เทียบชั้นได้กับการตรวจสอบผ่านนักอัญมณีศาสตร์

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า จีไอที ได้สร้างนวัตกรรมด้านการตรวจสอบอัญมณี โดยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบ และการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นการยกระดับงานวิจัยให้เหนือกว่า และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับวงการอัญมณีโลก โดยการใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) มาช่วยในการตัดสินว่าอัญมณีที่ทำการตรวจสอบนั้น มาจากประเทศใด แหล่งใด อันเป็นการเสริมความมั่นใจให้กับผู้ครอบครองอัญมณี และเพิ่มมูลค่าให้กับวงการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีความนิยมการเลือกซื้อ เลือกใช้อัญมณีเฉพาะแหล่ง

จีไอทีนำ AI ตรวจอัญมณี สร้างความเชื่อมั่นซื้อขายอัญมณี

 

“การตรวจสอบอัญมณีจากนี้ไป จะเป็นการรวบรวมข้อมูลอัญมณีจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ซึ่งจะต้องทำการรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างจำนวนมาก ทำให้ยิ่งเกิดความแม่นยำในการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของอัญมณีนั้น ๆ และเทียบได้กับการใช้ประสบการณ์และความสามารถของอัญมณีศาสตร์ที่ต้องสั่งสมมาเป็นระยะเวลานานหลาย ๆ ปี และมีความแม่นยำ ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างมั่นใจ และได้อัญมณีจากแหล่งกำเนิดที่ต้องการ

โดยคาดว่าในอนาคตการใช้ระบบ AI จะเป็นระบบหลักที่เทียบเคียงกับการใช้นักอัญมณีศาสตร์ที่มีประสบการณ์หลายปี ช่วยทดแทนการขาดแคลนนักอัญมณีศาสตร์และลดระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์อัญมณีแต่ละเม็ดได้อย่างมาก

นายสุเมธ กล่าวว่า การซื้อขายอัญมณีในปัจจุบัน หากมีการระบุแหล่งกำเนิดของอัญมณีในใบรับรองอัญมณี จะได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากส่งผลต่อมูลค่าของอัญมณี แต่ที่ผ่านมา การระบุแหล่งกำเนิด ต้องใช้ข้อมูลทั้งองค์ประกอบทางเคมีและลักษณะทางสเปกโทรสโกปีที่ได้จากการวิเคราะห์ของเครื่องมือขั้นสูงมาประกอบการพิจารณา ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากและมีความซับซ้อนในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ แต่การนำ AI มาช่วยในการจัดกลุ่มของข้อมูลแหล่งกำเนิดอัญมณีต่าง ๆ จะทำให้สามารถระบุแหล่งกำเนิดที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการออกใบรับรองอัญมณี

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 จีไอที ได้เริ่มจัดทำระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดพลอยทับทิม ต่อมาปี 2564 ได้จัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พลอยไพลิน และปี 2565 ได้จัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พลอยมรกต และปีต่อ ๆ ไป ตั้งเป้าขยายขอบเขตไปยังพลอยชนิดอื่น ๆ ซึ่งหากมีข้อมูลพลอยและอัญมณีครบทั้งหมด จะช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณีได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถนำมาระบุไว้ใบรับรอง ทำให้เกิดการซื้อขายได้เร็วขึ้น สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการหมุนเวียน และสนับสนุนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก