แบงก์พาณิชย์ย้ำ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมยืนหยัดช่วยลูกหนี้

แบงก์พาณิชย์ย้ำ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมยืนหยัดช่วยลูกหนี้

“แบงก์พาณิชย์” ประสานเสียงรอสัญญาณ กนง.ก่อนขึ้นดอกเบี้ย ย้ำปรับดอกเบี้ยต้องค่อยเป็นค่อยไป “กรุงไทย” ชี้หาก กนง.ขึ้นรอบ 2 แบงก์ฝืนกลไกตลาดไม่ได้ “กสิกรไทย” ยืนขอช่วยลูกค้าจนถึงที่สุด “ทีทีบี” เผยไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

       ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (29 ส.ค.)ร่วงทันทีตั้งแต่เปิดตลาดซื้อขายทำจุดต่ำสุดของวันที่ 1,619.58 จุด หรือลดลง 25 จุด ก่อนที่จะค่อยๆรีบาวด์ กลับมาปิดตลาดที่ 1,626.52 จุด หรือลดลง 18.26 จุด มูลค่าซื้อขาย 71,417.81 ล้านบาท

       ส่วนค่าเงินบาทอ่อนเปิดตลาดเช้าวานนี้ ที่ระดับ36.29 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันอ่อนค่ามากสุดที่ระดับ 36.44 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ 36.43 บาทต่อดอลลาร์

      นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB  เปิดเผยว่า กรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยมองว่าต้องพิจารณาบริบทเศรษฐกิจแต่ละประเทศเพราะพื้นฐานต่างกัน ซึ่งธนาคารกรุงไทยต้องติดตามการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) จะประชุมวันที่ 28 ก.ย.นี้

      สำหรับที่ผ่านมา ธปท.จะถอนคันเร่ง โดยธนาคารพาณิชย์และธนาคารสมาชิกชะลอขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และประคองลูกค้าให้รับผลกระทบน้อยสุด

        แต่หาก กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ทางธนาคารไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ เพราะต้นทุนธนาคารขึ้นด้วย โดยเฉพาะวันที่ 1 ม.ค.2566 ธนาคารจะกลับมานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อัตราเดิม 0.46% หลังจากช่วงโควิด-19 ปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี

      “ธนาคารให้ความสำคัญกับการปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างไรให้รับผลกระทบน้อยสุดและประคองช่วงเปลี่ยนผ่านได้”

 

กสิกรไทยยื้อขึ้นดอกเบี้ย

     นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มองว่ายังคงเดินหน้าในการดูแลลูกค้าในยามยากลำบากให้ดีที่สุดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

       โดยยังคงยืดเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป แม้แต่การพิจารณาการปรับดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการ(กนง.) หากมีการปรับขึ้น ก็เชื่อว่ายังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม กนง.แน่นอน

 

ttb ติดตามกนง.ใกล้ชิดก่อนพิจารณาปรับดอกเบี้ย  

      นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ธนาคารต้องติดตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 28 ก.ย. นี้หรือไม่

     เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารยังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด

     โดยนอกจากการติดตามกนง.แล้ว ธนาคารยังต้องประเมินถึงภาวะเศรษฐกิจที่ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนสภาพคล่องของธนาคารเป็นหลัก

"สภาพคล่องในตลาดยังอยู่ในระดับสูง แต่การจะขึ้นดอกเบี้ย หรือ คงดอกเบี้ยของธนาคารต้องดูหลายด้านประกอบกับ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ตลาดโดยรวม เพราะวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น" นายประพันธ์ กล่าว

ด้าย นายอมรเทพ จาวะลา นักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การส่งสัญญาณของเฟดล่าสุดทำให้ตลาดผิดหวัง ซึ่งเดิมมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจช้าลง เพราะคาดเงินเฟ้อใกล้ถึงจุดพีคแล้ว แต่การส่งสัญญาณของเฟดสะท้อนว่าแม้เงินเฟ้อลดลง แต่เฟดไม่ลดการขึ้นดอกเบี้ย เพราะราคาสินค้ายังสูงขึ้นในปีหน้า ดังนั้นเฟดอาจกดเงินเฟ้อให้ลดลงเร็วส่งผลให้ตลาดผันผวนแรง เงินบาทอ่อนค่า เกิดการเทขายสินทรัพย์ทั่วโลก 

      ดังนั้นคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบหน้าน่าจะอยู่ที่ 0.75%  และคาดปลายปีดอกเบี้ยเฟดอาจขึ้นไปอยู่ที่ 3.50-3.75% และอาจไปแตะ4% ที่ต้นปีหน้า

 

หวั่นเศรษฐกิจไทยโตช้า

สำหรับเศรษฐกิจไทยที่โตช้ายังไม่ถึงระดับก่อนโควิดและค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของไทยอาจต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของไทยในปีนี้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ปลายปีดอกเบี้ยไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ปลายปี

 

ส่วนปัจจัยห่วง คือ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงใน ก.ย.แล้วไทยขึ้นตาม แต่สุดท้ายไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ระบบการเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจแท้จริงได้ เราอาจจะเจอวงจรเหมือนสหรัฐ คือ การส่งสัญญาณผิด ดอกเบี้ยขึ้นช้า แต่เงินเฟ้อไปไกลกว่านั้น ดังนั้นอาจทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น จนอาจกระทบทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ในขณะที่ทิศทางเงินบาทเชื่อว่ายังผันผวนต่อเนื่อง จากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเงินบาทจะเคลื่อนไหวสู่ 36.00 บาท แต่ไม่น่าอ่อนค่าไปสู่ 37.00 บาท เพราะสุดท้ายเชื่อว่าจากท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ภาพเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น จะหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนไทยต่อได้ในระยะข้างหน้า ดังนั้นความผันผวนอาจเห็นในช่วงระยะสั้นๆ

 

ธปท.ไม่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจทีทีบี (ttb analytics) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า การที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย จะนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อส่งออกไทย

ซึ่งไทยกำลังเจอปัญหาการขาดทุนการค้าต่อเนื่องจากการส่งออกชะลอตัว แต่ภาระนำเข้ายังขยายตัวต่อเนื่อง หากยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องอีก 1-2 เดือน  

อย่างไรก็ตามเรายังคงมุมมองต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเช่นเดิมโดยไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังอยู่ในระดับสูง  และเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปได้ จากเงินทุนไหลออก เงินบาทสิ้นปีนี้ แตะระดับ37-38 บาทต่อดอลลาร์ 

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบตามเฟด คาด ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไป ไม่เกินระดับ 1.25% ในสิ้นปีนี้ และเงินเฟ้อไทยที่ 6.5%  โดยช่วงไตรมาส 4 น่าจะปรับตัวลง แต่ไม่มากจากฐานสูงปีก่อน  

ดังนั้นเรายังคงเป้าหมายจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว2.8% แต่ต้องติดตามการกลับมาของภาคท่องเที่ยวจะต้านทานการส่งออกที่ชะลอตัวลงได้มากน้อยแค่ไหน 

 

กรุงไทยชี้ศก.-ตลาดการเงินไทย ไม่กระทบมาก 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอหนักและเสี่ยงเข้าภาวะถดถอยครึ่งหลังปีหน้า

ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผ่านผล กระทบต่อยอดการส่งออก (การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยราว 15% ของยอดการส่งออกทั้งหมด) รวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด)

สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงิน เราประเมินว่า ในระยะสั้นผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็ไม่น่าจะส่งผลรุนแรงมาก เพราะตลาดได้รับรู้แล้วระดับหนึ่งว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่หากเฟดขึ้นมากกว่านั้น หรือเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เงินบาทอาจผันผวนฝั่งอ่อนค่าได้ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

ส่วนฟันด์โฟลว์นั้นประเมินว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่น่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกรุนแรง แต่เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดทุนไทยได้ 

 

ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดหุ้นทั่วโลกดิ่ง

ตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งสหรัฐ ยุโรปและเอเชียพร้อมใจปรับตัวร่วงลง ท่ามกลางความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเร่งคุมนโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ในขณะที่เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยมากขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ ปรับตัวร่วงลงกว่า 200 จุดในช่วงเช้าของวานนี้(29ส.ค)หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

เมื่อเวลา 06.26 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลง 241 จุด หรือ -0.75% แตะที่ 32,022 จุด

ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค.) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลงกว่า 3% โดยปิดที่ 32,283.40 จุด ร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ -3.03%

ดัชนีเอสแอนด์พี500 ปิดที่ 4,057.66 จุด ร่วงลง 141.46 จุด หรือ -3.37%

ดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 12,141.71 จุด ร่วงลง 497.56 จุด หรือ -3.94%

ส่วนดัชนี STOXX 600 ตลาดหุ้นยุโรป เปิดตลาดที่ 424.95 จุด ลดลง 1.14 จุด หรือ -0.27%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนี เปิดที่ 12,838.42 จุด ลดลง 133.05 จุด หรือ -1.03%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส เปิดที่ 6,199.11 จุด ลดลง 75.15 จุด หรือ -1.20%

“อิซาเบล ชนาเบล” สมาชิกคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องดำเนินการจริงจังเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อแม้ว่าทำให้เศรษฐกิจถดถอย

ส่วนดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปิดตลาดในแดนลบโดยดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ปิดที่ 2,426.89 จุด ลดลง 54.14 จุด หรือ -2.18% หลังปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 3 วัน โดยมีปริมาณการซื้อขายปานกลางที่ 441.63 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 7.79 ล้านล้านวอน (5.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในสัดส่วน 822 ต่อ 86 ตัว

ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปิดร่วงลงตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียที่ดิ่งลงถ้วนหน้า โดยดัชนี S&P/ASX 200 ปิดที่ 6,965.50 จุด ลดลง 138.60 จุด หรือ -1.95% และดัชนี All Ordinaries ปิดที่ 7,193.40 จุด ลดลง 152.40 จุด หรือ -2.07%

ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และหลุดจากระดับจิตวิทยาที่ 28,000 จุด โดยดัชนีนิกเกอิร่วงลง 762.42 จุด หรือ -2.66% ปิดที่ 27,878.96 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วัที่ 10 ส.ค.

ราคาหุ้นดิ่งลงเกือบทุกกลุ่ม ยกเว้นหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันและถ่านหิน

ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดลดลงโดยดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ 20,023.22 จุด ลดลง 146.82 จุด หรือ -0.73%

 

ทองฟิวเจอร์-บิตคอยน์ราคาดิ่ง

ราคาทองฟิวเจอร์ ร่วงหลุดจากระดับ 1,740 ดอลลาร์ช่วงเช้าวานนี้ (29ส.ค.)โดยเมื่อเวลา 09.34 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 12.50 ดอลลาร์ หรือ -0.71% แตะที่ 1,737.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาบิตคอยน์ เมื่อเวลา 15.54 น.ของวานนี้ (29ส.ค.)ปรับตัวร่วง 1.05% เคลื่อนไหวที่่ 19,819.0 ดอลลาร์โดยราคาบิตคอยน์ร่วงหลุดจากระดับ 20,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา