ไขข้อข้องใจ ธนบัตรมีรอยขีดเขียน หรือชำรุดสามารถใช้ได้หรือไม่?

ไขข้อข้องใจ ธนบัตรมีรอยขีดเขียน หรือชำรุดสามารถใช้ได้หรือไม่?

ไขข้อข้องใจ ธนบัตรลักษณะแบบใดที่สามารถใช้ได้ตามกฎหมาย หากมีรอยขีดเขียนหรือชำรุดยังสามารถใช้ได้อยู่หรือไม่?

ในระยะหลังมานี้ การให้ของขวัญด้วยเงินสดมักถูกนำมาประดิษฐ์ให้อยู่ในรูปทรงต่างๆ อาทิ ร่ม ดอกไม้ และพวงมาลัย เป็นต้น หรือการมอบเงินสดที่มีการเขียนข้อความแทนความรู้สึกลงไปด้วย ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ธนบัตรที่ถูกดัดแปลงดังกล่าวยังจะสามารถใช้ได้เช่นปกติอยู่หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมคำตอบในประเด็นเกี่ยวกับธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อไขข้อข้องใจว่าธนบัตรแบบใดที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน ดังนี้ 

 


 

Q : ธนบัตรที่มีรอยขีดเขียนหรือมีตราประทับ ยังสามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้หรือไม่ ?  

A : ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ แต่ธนบัตรลักษณะดังกล่าวมีรอยสกปรกไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ควรนำไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรสภาพดีที่ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ 

การสามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ในที่นี้หมายถึง ธนบัตรยังถูกรับรองจากรัฐให้มีมูลค่าตามตัวเลขที่ตราไว้ แม้จะชำรุดหรือมีรอยขีดเขียนอยู่ก็ตาม ซึ่งหากเรานำไปใช้จ่าย ผู้ที่ได้รับก็ยังสามารถนำไปใช้ต่อหรือชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ถึงอย่างนั้น ก็มีกรณีที่ผู้รับไม่ต้องการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยธนบัตรที่มีรอยขีดเขียน ฉะนั้น หากมีธนบัตรที่เป็นรอยขีดเขียนหรือชำรุด ซึ่งคาดว่าร้านค้าจะไม่รับ ผู้ถือควรนำไปแลกกับสถาบันการเงิน 

Q : ขอแลกธนบัตรชำรุดได้ที่ไหน ?

A : ธนาคารออมสิน (ทุกวันทำการ) และธนาคารพาณิชย์ (เฉพาะวันพุธ)  

Q : การขอแลกธนบัตรชำรุดที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับเงินทันทีหรือไม่?

A : ธนบัตรชำรุดที่จะได้รับเงินทันที ได้แก่ ธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่ 3 ใน 5 ส่วนขึ้นไป สำหรับธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรน้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน แต่มากกว่าครึ่งฉบับ หรือยากต่อการตรวจพิสูจน์ ผู้ขอแลกต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อนำส่งให้ ธปท. พิจารณา โดย ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีเงินฝาก ประเภทบัญชีออมทรัพย์ หรือไปรษณีย์ธนาณัติตามที่ระบุไว้ในคำร้องฯ

Q : ธนบัตรชำรุดจากการถูกปลวกกัด/ไฟไหม้ และธนบัตรติดกันเป็นก้อนสามารถแลกได้หรือไม่ ? 

A : หากประชาชนมีธนบัตรชำรุดลักษณะดังกล่าว ธปท. แนะนำให้ดำเนินการ ดังนี้

  • นำธนบัตรตามสภาพที่เป็นก้อน ไม่ควรแยกหรือแกะออกจากภาชนะที่จัดเก็บ บรรจุธนบัตรชำรุดดังกล่าวในกล่องที่แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ธนบัตรชำรุดมากไปกว่าเดิมระหว่างการเคลื่อนย้าย
  • ให้นำบัตรประชาชน และสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารใดก็ได้ ไปติดต่อที่ธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ และทำคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตร เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารพิจารณาแล้วจะออกใบนำส่งธนบัตรชำรุด เพื่อให้ผู้ขอแลกนำธนบัตรมายื่นด้วยตนเองที่ ธปท. เนื่องจากธนบัตรอาจชำรุดเสียหายมากขึ้นระหว่างการนำส่ง
  • ถ้าเป็นกรณีไฟไหม้ให้นำเอกสารแจ้งความไปด้วย
  • ติดต่อสอบถามหรือติดตามคำร้องฯ ได้ที่แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร ธปท. โทร.02- 356- 8736 ถึง 8

แม้ว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนธนบัตรมีรอดขีดเขียนหรือชำรุดได้ตามที่กล่าวไป แต่ธนบัตรเหล่านั้นต้องเข้าสู่กระบวนการทำลายทิ้ง ​โดยทาง ธปท. จะเผาทำลายภายใต้การควบคุม และบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล ซึ่งกระบวนการตรงนี้มีต้นทุนในการดำเนินการ ฉะนั้น จึงควรดูแลรักษาใบธนบัตรให้อยู่ในสภาพดี และสะดวกต่อการใช้งาน เพื่อช่วยลดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ  

-------------------------------------------

อ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์