‘ไทยพาณิชย์’ จับมือ ‘ริปเปิ้ล - เอสบีไอเรมิต’ โอนเงินผ่านบล็อกเชน ‘ญี่ปุ่น - ไทย’

‘ไทยพาณิชย์’ จับมือ ‘ริปเปิ้ล - เอสบีไอเรมิต’ โอนเงินผ่านบล็อกเชน ‘ญี่ปุ่น - ไทย’

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) กลายเป็นเทรนด์การลงทุนที่ถูกจับตามอง สถาบันการเงินไทยเริ่มมีการนำบล็อกเชนมาใช้งานจริง หลังจากที่ Digital Ventures หรือ DV บริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้เข้าไปลงทุนใน Ripple บริษัทสตาร์ทอัพ นวัตกรรมที่ช่วยการทำธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อการชำระเงินข้ามพรมแดนสำหรับคู่ค้าทางธุรกิจจำนวนมาก และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างความสะดวก ปลอดภัยให้แก่ระบบ payment

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมมือกับ บริษัท ริปเปิ้ล แลป (Ripple) และ บริษัท เอสบีไอเรมิต จำกัด (SBI Remit) ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในบริการโอนเงินตามกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสององค์กรมีการใช้เทคโนโลยี Ripple Net ซึ่งเป็นโซลูชันบล็อกเชน ระดับองค์กรของ Ripple เพื่อยกระดับสู่การประมวลผลการให้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์สำหรับลูกค้ารายย่อยของประเทศไทย 

ปัจจุบันการโอนเงินจากประเทศญี่ปุ่น มายังผู้รับเงินในประเทศไทยต้องใช้ตัวกลางเพื่อรับเงินจากต้นทาง ซึ่งมีความยุ่งยาก และยังต้องแปลงค่าเงิน แต่การร่วมมือในครั้งนี้นำไปสู่ความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่สู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

การที่ SCB เลือกใช้บล็อกเชนของ Ripple ที่ถือเป็น Private Blockchain (บล็อกเชนวงปิดที่เข้าใช้งานได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานภายในองค์กร ดังนั้น ข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกจำกัดอยู่เฉพาะภายในเครือข่ายซึ่งประกอบ) รายใหญ่ของโลก ซึ่ง DV ได้เข้าไปลงทุนด้วย เช่นเดียวกับ SBI Remit ผู้ให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ

นายโนบุโอะ อันโดะ กรรมการบริหารบริษัท SBI Remit เปิดเผยว่า สิ่งนี้ทำให้คนไทย 47,000 คน ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นสามารถส่งเงินกลับบ้านได้เร็วขึ้น โดยลูกค้าของ SBI Remit สามารถใช้ตู้ ATM สาธารณะทุกแห่ง เพื่อส่งเงินในสกุลเยนญี่ปุ่น (JPY) ในประเทศญี่ปุ่นไปยังบัญชีออมทรัพย์ ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ของผู้รับในประเทศไทยได้ทันที และได้รับเงินเป็นสกุลเงินบาทภายในไม่กี่วินาที ที่ผ่านกระบวนการบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ripple

การประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ และการพร้อมเปิดใช้งานบนบล็อกเชน Ripple ได้สะท้อนถึงกฎระเบียบด้านคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความก้าวหน้า และการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเอเชีย-แปซิฟิก

โดย SBI Remit มีหน้าที่ในการค้นหาโซลูชันเทคโนโลยีที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการโอนเงินที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น สำหรับผู้ใช้บริการจากกระแสการโอนเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับบล็อกเชนของ Ripple ที่พร้อมใช้งาน ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับ SBI Remit และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้

โอนเงินผ่านบล็อกเชน Ripple Net

หากพูดถึงคำว่า Ripple มีความหมายตามการนำไปใช้อยู่ 2 ความหมาย ได้แก่ การใช้เป็นชื่อเรียกของ Digital Currency มีอักษรย่อคือ XRP อีกทั้งยังเป็น Open Payment Network หรือแพลตฟอร์มสำหรับ รับและส่งเงินในรูปแบบของ Digital Asset ต่างๆ ด้วยการนำแนวคิดของ Blockchain มาปรับใช้ โดยมุ่งเป้าไปที่การรับส่งเงินหรือทรัพย์สินอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มธุรกิจการเงิน พร้อมผลักดันให้เกิดการรับ-ส่งเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ เพื่อเป็นช่องทางที่ได้มาตรฐาน 

โดยเป้าหมายของ Ripple คือ การสร้างรูปแบบในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เพื่อลดต้นทุน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายส่วนอื่น พร้อมทั้งช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศที่เคยยุ่งยากกลายเป็นเรื่องง่าย ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้แก่แวดวงการค้าระหว่างประเทศ และเป็นสัญญาณแห่งการก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีในทุกมิติ

Ripple ได้เปิดตัวในปี 2012 เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินทั่วโลก ที่มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มของสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆ เพราะมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับธนาคารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และถูกควบคุมโดยบริษัทสถาบันการเงิน บริษัทที่ใช้แพลตฟอร์ม Ripple ได้แก่ Santander (SANPRA) ธนาคารในยุโรป, Bank of America (BAC) และ UBS (UBS)

รายงานจาก Ripple เผยว่า 76% ของสถาบันการเงิน และ 71% ของธุรกิจทั้งหมด กำลังจะเริ่มใช้บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลภายในปี 2567

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์