EIC เปิด 3 scenario ผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่าง ‘จีน - ไต้หวัน’

EIC เปิด 3  scenario  ผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่าง ‘จีน - ไต้หวัน’

EIC ชี้ ความตึงเครียดระหว่างจีน และไต้หวัน กับนัยต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจเกิดได้ 3 กรณี

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) เปิดวิเคราะห์ผลกระทบจาก ความตึงเครียดระหว่างจีน และไต้หวัน  นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก
        หลังความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวันสูงขึ้นหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐ ยังคงย้ำว่าจะสนับสนุนสันติภาพบริเวณช่องแคบไต้หวันต่อไป ขณะที่รัฐบาลจีนประณามการเดินทางครั้งนี้ และปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมารอบเกาะไต้หวัน ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งชั่วคราว

       อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะหลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ที่มีนโยบายสนับสนุนการแยกตัวออกจากจีนชนะการเลือกตั้งไต้หวันตั้งแต่ปี 2016 

    ในกรณีฐาน สถานการณ์จะยังไม่ยกระดับความรุนแรง แต่ความตึงเครียด และข้อพิพาทระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัด

      EIC ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจเกิดได้ 3 กรณี กรณีที่มีโอกาสเกิดสูงสุด

      (กรณีที่ 1) คือ จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์ และเพิ่มการซ้อมรบแค่ชั่วคราว ขณะที่สหรัฐ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง สถานการณ์จึงยังไม่ยกระดับความรุนแรง ด้านสหรัฐ ยังคงใช้นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์  (Strategic ambiguity) เพื่อลดความเสี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน

     ด้วยการสนับสนุนนโยบาย One-China policy ของจีนอย่างเป็นทางการ

     ขณะเดียวกัน ก็ให้การสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจ และยุทโธปกรณ์ ขณะที่จีนยังคงอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน แต่ไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังซบเซา และกำลังจะมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้

     อย่างไรก็ดี ความตึงเครียด และข้อพิพาทประเด็นการเมืองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น (เป็น New normal)

     และเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) เกิดเร็วขึ้น ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกจะมีจำกัด เศรษฐกิจโลกยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% และการค้าโลกขยายตัวได้ที่ 4.1% ในปีนี้
 
      หากความตึงเครียดรุนแรงขึ้น จะกระทบการค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีเลวร้ายที่เกิดสงคราม หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยความตึงเครียดระหว่างจีน และไต้หวันส่งผลกระทบต่อการเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน และน่านน้ำใกล้เคียง ห่วงโซ่อุปทานโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค

     ในกรณีที่จีนใช้มาตรการปิดน่านน้ำไต้หวัน และระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของไต้หวัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม

     (กรณีที่ 2) ห่วงโซ่อุปทานโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าในกรณีฐาน

     โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสำคัญที่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐ เริ่มใช้มาตรการ
คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เนื่องจากจีนมีความสำคัญ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่า

     ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันอาจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ และจีนชะลอลงมากขึ้น

      อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างจีน และไต้หวัน

     (กรณีที่ 3) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเศรษฐกิจไต้หวัน จีน และสหรัฐ รวมถึงพันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การค้าโลกจะแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักในหลายพื้นที่ ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้นในปีนี้
      การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐ จะเร่งตัวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
   ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ

     เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐ ได้ผ่านร่าง CHIPS and Science Act เพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และห้ามบริษัทต่างๆ ส่งเทคโนโลยีสำคัญไปให้จีน ขณะที่จีนก็มีนโยบายกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ภายในประเทศเช่นกัน

     EIC ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศภูมิภาครวมถึงไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือ

     1) การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกของไต้หวัน และกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ทำได้ลำบากขึ้น แต่ในบางกลุ่มสินค้าอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าทดแทน (Product substitution)

    2) การลงทุนระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Reshoring) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น        

     3) อัตราเงินเฟ้อ ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของสหรัฐ และจีนได้รับผลกระทบ จึงต้องหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเดิม อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และ    

      4) ความผันผวนในตลาดการเงินสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกและปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง
 
      1. ต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ จีน และไต้หวัน
       เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางไปเยือนไต้หวันเพื่อย้ำจุดยืนของสหรัฐ ที่จะสนับสนุนไต้หวันต่อไป โดยการเยือนไต้หวันครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนเอเชีย และเป็นการเดินทางเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบ 25 ปีของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐ

     การเดินทางของนางเพโลซี ครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก แต่ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ จีน และไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นไปอีก (รูปที่ 1)

    ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ตึงเครียดอยู่แล้ว โดยจีนประณามการเดินทางครั้งนี้และเพิ่มการซ้อมรบทั้งทางน้ำ และทางอากาศรอบเกาะไต้หวัน

      ซึ่งล้ำเส้นกลาง (Median line) ระหว่างขอบเขตไต้หวันกับจีน ทั้งนี้ความตึงเครียดในบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพราะจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน 
การเดินเรือ และเศรษฐกิจภูมิภาค

     EIC จึงได้วิเคราะห์กรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบ รวมถึงนัยต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวันเริ่มตึงเครียดมากขึ้นตั้งแต่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party)

    ซึ่งสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและไต้หวันแย่ลง นโยบายที่เคยพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตกับจีนมีน้อยลง ทางการจีนมองว่าเป้าหมายควบรวมประเทศ (Reunification policy) ในระยะยาวโดยไม่ต้องใช้กำลังทางการทหารอาจเป็นไปได้ยากขึ้น

    ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ พันธมิตรตะวันตกอาจเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่มากขึ้น

     จึงมองว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปในทิศทางนี้ อาจเสียอำนาจ และความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่นี้ได้

     ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนจึงตอบโต้ต่อเหตุการณ์เยือนไต้หวันของนางเพโลซี อย่างชัดเจนและรุนแรง เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลไต้หวัน และชาติพันธมิตรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นหากไต้หวันยังพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐ อย่างต่อเนื่องและต้องการแยกตัวเป็นอิสระ
 
    2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเพียงใดขึ้นอยู่กับพัฒนาการ
     และความขัดแย้งที่จะทวีความรุนแรงขึ้นนับจากปัจจุบัน หากความขัดแย้งไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันมีขนาดเล็ก

    แต่หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับภาวะถดถอยได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลกระทบของสงครามที่อาจเกิดขึ้นจากชนวนเหตุครั้งนี้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะพบว่า

    หากเกิดสงครามขึ้นจริง ผลกระทบจะรุนแรงมากกว่ากรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนมีขนาดใหญ่ และมีความเชื่อมโยงกับตลาดโลกมากกว่ารัสเซีย

    อีกทั้ง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) รุนแรงกว่า โดยเศรษฐกิจและการค้าโลกจะชะลอลงมาก เงินเฟ้อเร่งขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

     ทั้งนี้ EIC ได้ประเมินผลกระทบโดยแบ่งออกเป็น 3 เหตุการณ์ ตามสมมติฐานด้านมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางทหาร การขนส่งทางเรือ และทางอากาศ และการตอบโต้จากสหรัฐ ดังนี้
     กรณีที่ 1 : จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์ และซ้อมรบเพียงชั่วคราว สถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น

    แต่ความตึงเครียด และข้อพิพาทระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตรการทางเศรษฐกิจ : จีนเลือกคว่ำบาตรเศรษฐกิจไต้หวันเฉพาะสินค้าที่ไม่สำคัญมากต่อห่วงโซ่การผลิตจีน และหาทดแทนได้ง่าย

    เช่น สินค้าเกษตรและสินค้าประมง แต่จะไม่คว่ำบาตรสินค้าสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์

    ขณะเดียวกัน จีนใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าจีนบางชนิดไปไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมของจีนไม่มาก เช่น ทรายธรรมชาติ

    ซึ่งนำไปใช้ในภาคก่อสร้าง และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะคงอยู่นานหลายปี
     มาตรการทางทหาร : จีนเพิ่มการซ้อมรบบริเวณน่านน้ำไต้หวัน และบินลาดตระเวนน่านฟ้าไต้หวันเป็นครั้งคราว
การเดินเรือ : ช่องทางการเดินเรืออาจถูกกระทบเพียงชั่วคราวเป็นระยะในช่วงที่จีนซ้อมรบ
การตอบโต้จากสหรัฐ : สหรัฐ ไม่ใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ

   ในกรณีนี้ EIC คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 การส่งออกสินค้าประมง และสินค้าเกษตรจากไต้หวันไปจีนคิดเป็นเพียงแค่ 0.05% ของการส่งออกรวมของไต้หวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกของไต้หวันไปยังจีน และอุตสาหกรรมเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.5% ของ GDP ไต้หวันในปี 2021

   นอกจากนี้ จีนสามารถนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากประเทศอื่นทดแทนได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาค ขณะเดียวกัน การนำเข้าทรายจากจีนของไต้หวันคิดเป็นเพียง 3% ของการนำเข้าทรายทั้งหมด (รูปที่ 3)

    ซึ่งจะส่งผลจำกัดต่อภาคการก่อสร้าง และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน เนื่องจาก 1) จีนเคยใช้มาตรการระงับการส่งออกทรายธรรมชาติกับไต้หวันมาแล้วในปี 2007 ทำให้ไต้หวันต้องทยอยหาแหล่งนำเข้าทรายธรรมชาติจากประเทศอื่นทดแทนมากขึ้น

   2) ไต้หวันพึ่งพาการใช้ทรายธรรมชาติในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากแหล่งในประเทศเป็นหลัก นำเข้าในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก สำหรับการเดินเรือ ผู้ให้บริการได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อรับมือการซ้อมรบของจีน

   แต่ยังเดินทางผ่านช่องแคบไต้หวันได้ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางคาดว่าจะเพิ่มระยะการเดินทางประมาณ 3 วัน

     สำหรับทางอากาศ มีการปรับเส้นทางบินที่ผ่านช่องแคบไต้หวันไปอ้อมด้านขวาของเกาะไต้หวันผ่านน่านฟ้าฟิลิปปินส์ในช่วงที่จีนซ้อมรบ แต่ในภาพรวมจะไม่มีผลกระทบที่ยืดเยื้อ และรุนแรงในระยะยาว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์