LH ขยับพอร์ตสินเชื่อ ‘เอสเอ็มอี-รายย่อย’3ปี แตะ50%

LH ขยับพอร์ตสินเชื่อ  ‘เอสเอ็มอี-รายย่อย’3ปี แตะ50%

“กลุ่มแอล เอซ” ถก AWN สัปดาห์หน้า ชี้ชะตาดีล JASIF จากเป็นกลุ่มผู้ถือหน่วยรายใหญ่ อันดับ 2 พร้อมเปิดแผนธุรกิจ รุกสินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอีเพิ่ม ตั้งเป้า3ปีสัดส่วนเพิ่มเป็น50%

LH ขยับพอร์ตสินเชื่อ  ‘เอสเอ็มอี-รายย่อย’3ปี แตะ50%        “กลุ่มแอล เอซ” นับว่าเป็นผู้ชี้ชะตา บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)จะขายหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จํากัด (มหาชน) TTTBBและ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ให้ แก่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN)

      ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้หรือไม่ จากเป็นกลุ่มผู้ถือหน่วยรายใหญ่ อันดับ 2  ของ  (JASIF)ถือหุ้นรวมกัน 616.08 ล้านหุ้น หรือ 7.7%  เพราะหากผู้ถือหน่วยไม่อนุมัติทำให้ดีลนี้ต้องล้มทั้งกระดาน
 


        “ชมภูนุช ปฐมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) กล่าวว่า จากกรณีที่   JAS  ขายหน่วยลงทุนJASIF จำนวน  1,520 ล้านหน่วย หรือ 19% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท มูลค่ารวม 1.29 หมื่นล้านบาท  ให้กับแก่AWN 

      โดยAWN มีการเสนอให้ยกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนของกอง JASIF ลงเพื่อให้การบริหารกองทุนคล่องตัว ไม่ต้องแบกรับต้นทุนสูงเกินไป และเสนอยืดอายุสัญญาเช่านานขึ้นจากสิ้นสุดปี 2575 เป็นสิ้นสุดปี 2580 ซึ่งการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว จำเป็นต้องขออนุญาตจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ใน 4 จากเสียงทั้งหมดเพื่ออนุมัติข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนสัญญาดังกล่าว  

      ในฐานะที่ “กลุ่มแอล เอซ ” ถือหน่วยลงทุนใน JASIF ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันกับ AWN ในสัปดาห์หน้าก่อน หลังจากนั้นจะมีความชัดเจนหรือข้อสรุปตามมาได้

       โดย การอนุมัติ จำเป็นต้องให้  Investment board ของกลุ่ม แอล เอช เป็นผู้พิจารณา ว่าจะอนุมัติตามเงื่อนไขต่างๆได้หรือไม่ 

        อนึ่ง บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ถือหุ้น 225.63 ล้านหน่วย หรือ 2.82% , บมจ. แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG)217.78 ล้านหน่วย  หรือ 2.72% และ  ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ถือ 172.66 ล้านหน่วย หรือ 2.16%

       “ชมภูนุช กล่าวว่า  แผนการเนินธุรกิจ ภายใต้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปีนี้จะเป็นปีที่ดี ที่ผลการดำเนินงานมีการเติบโตมากขึ้น หากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และปรับกลยุทธ์ของธนาคาร

      ทั้งการกระจายพอร์ตสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงไปในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย ที่ให้ “ผลตอบแทนสูง” (High Yield) จากเดิมเน้นรายใหญ่ โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวมถึง 90%

      ดังนั้น คาดใน 2-3 ปี พอร์ตของธนาคารในส่วนเอสเอ็มอี และรายย่อยจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% ได้ 

       อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 48% เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพในการเข้าไปปล่อยกู้ และรองรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ดังนั้นคาดว่าปีนี้ ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารน่าจะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 6-7% ได้ จากครึ่งปีที่สินเชื่อรวมโตแล้ว 8-9% ขณะที่รายย่อยโตเกือบ20% 

       “2-3 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบโควิด กลุ่ม LH ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง แต่ปีนี้วางแผนจะโตเร็วขึ้น ดังนั้น ต้องตั้งสำรองที่เหมาะสม ทำให้เราวิ่งเร็ว เพราะมีเบรกที่ดี”

      ดังนั้น คาดอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) ปีนี้น่าจะใกล้เคียง 200% จากปัจจุบันที่ 196% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL คาดว่าจะไม่เกิน 2.5-2.6% จากปัจจุบันที่ 2.4%

      นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งเป้าเจาะนักธุรกิจไต้หวันที่ทำธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น และอยากเห็นมาร์เก็ตแชร์ หรือ ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 10% จากลูกธุรกิจไต้หวันที่ทำธุรกิจในไทยกว่า 5,000 ราย และมีรายย่อยอีก 2 แสนคน เพื่อตอบโจทย์ในการปล่อยสินเชื่อ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆตามมา เช่นลูกค้าระดับบน ที่มีความต้องการซื้อคอนโดฯ และลงทุนในไทย 

     ธนาคารยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 2-3 รายเพื่อเข้ามาช่วยต่อยอดในธุรกิจการเงิน และธุรกิจอื่นๆในกลุ่มด้วย ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนได้ในปลายปีนี้