โคโค โกลบอลฯ เจาะโรงแรมขนาดกลาง บริหาร 1,000 แห่งใน 10 ปี

ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เป็นเส้นเลือดหลักต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 กำลังประสบปัญหาจากตลาดนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก โดยเฉพาะตลาดหลักนักท่องเที่ยวชาวจีน
กระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่อีกด้านท่ามกลางท่องเที่ยวหดตัว เซกเมนต์โรงแรมขนาดกลางยังคงขยายตัวตามความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เลือกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
เรย์ มัทสึดะ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (KGH) กล่าวว่า ภาพรวมการบริหารโรงแรมในปี 2568 มีความท้าทายมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลกและในประเทศไทย สะท้อนจากภาพรวมของตลาดโรงแรมในประเทศไทยมีอัตราการเข้าพักลดลงประมาณ 10% ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยคงอัตราการเข้าพักไว้ในระดับเท่าเดิม ด้วยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 80% และโรงแรมทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การบริหารเฉลี่ย 75% จากการวางกลยุทธ์มุ่งบริหารพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย มีลูกค้าคนไทย จีน เกาหลีใต้และตะวันออกกลาง
พร้อมวางแนวทางบริหารแบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ไคเซน (Kaizen) เน้นระบบจัดการ ความเที่ยงตรง และความใส่ใจในรายละเอียด และการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานด้วยโมเดลการบริหารจัดการจากส่วนกลาง (Centralized Operation) ช่วยลดต้นทุนให้เจ้าของโรงแรม
ขณะเดียวกัน บริษัทมุ่งขยายตลาดใหม่ โดยต้องการขยายบริหารโรงแรมใหม่ 100 แห่งภายในปี 2569 มุ่งเป้าหมายตลาดไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ซึ่งให้น้ำหนักตลาดไทย 75% ฟิลิปปินส์ 20% และญี่ปุ่น 5% ต่อจากนั้นภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2578 ต้องการขยายเพิ่มให้ได้ 1,000 แห่ง ใน 10 ประเทศ จาก 6 ทวีปทั่วโลก เพื่อสยายปีกให้ครอบคลุมทั่วโลก
“ในประเทศไทยมีโรงแรมขนาดกลางประมาณ 5,400 แห่ง แต่ละแห่งมีห้องพักขนาด 50-200 ห้อง จึงมีโอกาสเข้าไปขยายและเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น”
สำหรับตลาดใหม่ที่ได้เข้าไปรุกไปในปี 2568 กับประเทศ “ฟิลิปปินส์” เปิดครั้งแรกในโรงแรมที่เมือง เซบู ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นตลาดใหม่กำลังขยายตัว มีโรงแรมขนาดกลางจำนวนมาก และมีความต้องการยกระดับการบริการของธุรกิจโรงแรม ถือว่ามีรูปแบบของตลาดคล้ายคลึงกับประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ที่มีศักยภาพสูง ทั้งประเทศอินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงมุ่งยกระดับบริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีสุดในการเข้ามาใช้บริการในไทย และกลับเข้ามาใช้บริการซ้ำ ร่วมเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าประจำ
ประเมินว่าภาพรวมผลประกอบการในปี 2568 สร้างการเติบโตในระดับสองหลักต่อเนื่องจากปีก่อน และรักษาอัตราการเข้าพักเท่าเดิม อีกทั้งสร้างอัตรากำไรจากการดำเนินการของอสังหาริมทรัพย์ (Profit Margin at Property Level) อยู่ที่ 57% ถือว่า สูงกว่ามาตรฐานของโรงแรมระดับกลาง (Industry Average) ที่ 25-35%
สำหรับภาพรวมบริษัทมีการบริหารโรงแรมขนาดกลางทั้งหมด 41 แห่ง ผ่าน 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ โคโคเทล (Kokotel) เป็นเชนระดับ 3 ดาว เน้นราคาจับต้องได้ ต่อมา แบรนด์ วิฟเทล (Vivtel) โรงแรมพรีเมียมไลฟ์สไตล์ ระดับ 4 ดาว ต่อมา แบรนด์เจ้าของโรงแรมอิสระ ที่เข้าไปบริหารให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ
ภวัติ เพียรเพ็ญศิริวงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การสร้างสรรค์แบรนด์และการออกแบบโรงแรม บริษัท โคโค โกลบอล ฮอสพิทอลลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า จะขยายพอร์ตโฟลิโอ 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ การบริการสนับสนุนการขายออนไลน์ ดูแลการขายออนไลน์และการจัดหารายได้ การบริหารแพลตฟอร์มจองที่พักและการเดินทาง (OTA) และการปรับอัตราค่าห้องผ่านระบบให้สอดคล้องกับรายได้ การบริการสนับสนุนการตลาดออนไลน์ ที่ช่วยในการวางแผนแพ็กเกจห้องพักและโปรโมชันต่างๆ และการให้บริการด้านบริหารและให้คำปรึกษา