‘MIXUE’ กวาดรายได้ในไทย ‘459 ล้านบาท’ กำไรโตเกิน 600% ไอศกรีมไทยสู้ไหวมั้ย ?

พลิกทำกำไรสำเร็จแล้ว! ไอศกรีมแดนมังกร “MIXUE” ทะยานสู่ธุรกิจร้อยล้าน กวาดรายได้ปีที่แล้ว 459 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้าที่ทำเงินเพียงหลักแสน สยายปีกทั่วประเทศ 480 แห่ง สะท้อนคนไทยอุดหนุนแบรนด์จีนต่อเนื่อง ราคาคุ้มค่า-เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม
“MIXUE” (อ่านว่า มี่เสวี่ย) น่าจะเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟจีนเจ้าแรกที่เข้ามาบุกตลาดไทยอย่างเป็นทางการ ประเดิมสาขาแรกช่วงปลายปี 2565 และเริ่มเดินหน้าขยายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา กระทั่งปัจจุบัน “MIXUE” มีสาขาทั้งหมด 480 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568) และหลังจากนั้นก็มีแบรนด์ซอฟต์เสิร์ฟจีนบุกไทยอีกมากมาย อาทิ “WEDRINK” หรือ “Bing Chun” ที่มีเมนู และราคาเริ่มต้นใกล้เคียงกัน
สำหรับ “MIXUE” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด มีผลประกอบการในทิศทางบวกตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขา ตัวเลขรายได้ปี 2567 อยู่ที่ 459 ล้านบาท กำไรสุทธิ 39 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าพบว่า เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2566 “MIXUE” มีรายได้ 693,605 บาท ขาดทุนสุทธิ 7.1 ล้านบาท
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Creden Data ระบุว่า บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด มี ผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 100% ได้แก่
1. MIXUE INTERNATIONAL BUSINESS MANAGEMENT CO.,LTD. ถือหุ้นสัดส่วน 60%
2. HAINAN DEHUI YUETONG ENTERPRISE MANAGEMENT CONSULTING CO., LTD. ถือหุ้นสัดส่วน 40% และมี “ฮุ่ย เจี่ย” นั่งกรรมการบริษัท
ความสำเร็จของ “MIXUE” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในไทย เพราะปัจจุบันนี่คือ ธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในโลก เอาชนะบิ๊กเพลย์เยอร์ที่ครองแชมป์มานานอย่าง “สตาร์บัคส์” (Starbucks) และ “แมคโดนัลด์” (McDonald’s) สำเร็จ
รวมจำนวนสาขาทั่วโลกตอนนี้ “MIXUE” กระจายตัวทั้งหมด 45,300 แห่ง กลยุทธ์ที่ทำให้ร้านขยายสาขาได้เร็วมาก คือ การขายสิทธิแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจลงทุนเปิดร้าน โดย 99% ของ MIXUE เป็นร้านของแฟรนไชส์ซี
นอกจากปัจจัยดังกล่าว เรื่องข้อจำกัดของขนาด และพื้นที่ใช้สอยยังทำให้ MIXUE เปิดง่าย-ขายคล่อง เพียงคูหาเล็กๆ ไม่กี่สิบตารางเมตรก็เปิดทำการได้แล้ว บวกกับราคาเริ่มต้นที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก จึงส่งให้ MIXUE ขึ้นสู่แบรนด์เจ้าตลาดในระยะเวลาเพียงไม่นาน
ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า “MIXUE” ไม่ได้เป็นที่นิยมในจีนเท่านั้น ฝั่งเอเชียโดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนามก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน เฉพาะสองประเทศนี้กินสัดส่วนรายได้พอร์ตต่างประเทศไปแล้ว 70%
ซึ่งในเวลาต่อมา “อินโดนีเซีย” ก็มีแบรนด์คู่แข่งที่มีความละม้ายคล้ายกัน ทั้งรูปร่างหน้าตา แบรนดิ้ง และราคาเริ่มต้น “MIXUE” ประจำการที่อินโดนีเซียสาขาแรกปี 2563 และในเวลาต่อมา “Ai-Cha” ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสัญชาติอินโดก็ถือกำเนิดขึ้น เปิดให้บริการสาขาแรกเมื่อปี 2565
ส่วนในไทยเองอาจจะไม่ได้มียุทธการโต้กลับในฐานะแบรนด์ท้องถิ่นชัดเจนเท่ากับ “Ai-Cha” ทว่า ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากธุรกิจค้าปลีกที่หันมาโฟกัสสินค้ากลุ่มไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟมากขึ้น ไล่มาตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลรีเทลขยายตู้ไอศกรีมเข้าร้านสะดวกซื้อ “Tops Daily” และ “Go! Wholesale” ห้างค้าส่งในเครือ
ฝั่ง “Makro-Lotus’s” ทำซอฟต์เสิร์ฟจากนมโคแท้ๆ ยี่ห้อเมจิที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียล รวมถึงแบรนด์ “เถียนเถียน” (Tian Tian) ที่ขายในร้านสะดวกซื้อเครือซีเจของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อคาราบาวกรุ๊ป
จุดแข็งของ “MIXUE” ไม่ได้มีแค่ซอฟต์เสิร์ฟ แต่ยังมีชานม-ชาผลไม้ ราคาเริ่มต้นแก้วละ 20 บาท ลองเทียบเคียงกับแบรนด์ไทยที่ดูจะทำราคาได้ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ก็น่าจะเป็น “เถียนเถียน” ที่กำลังไต่ระดับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัดโปรโมชันแรงทั้งซื้อ 1 แถม 1 และซื้อแก้วที่สองลดราคาเพิ่ม
ในแง่ความหลากหลายของเมนูและราคา “เถียนเถียน” จึงน่าจะเป็นคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับไอศกรีมแดนมังกรได้ไม่ยาก แต่ศึกชิงบัลลังก์ครั้งนี้จะมีใครเป็นผู้ชนะในตอนท้ายคงไม่ได้แข่งกันเรื่องรสชาติเพียงอย่างเดียว เพราะท่ามกลางสมรภูมิที่ต้องช่วงชิงผ่านเกมราคายังมีเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนให้ได้ประสิทธิภาพ ใครสายป่านยาวกว่า คนนั้นก็จะเป็นผู้รอดชีวิต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์