เศรษฐกิจอีสาน 2 ทศวรรษ (พ.ศ.2540-2560) ข้อเท็จจริงที่หลายคนอาจไม่เคยตระหนัก (1)

หนังสือ “เศรษฐกิจอีสาน 2 ทศวรรษ (พ.ศ.2540-2560)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตำราและหนังสือของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดทำโดย จักรกฤช เจียวิริยบุญญา และ นรชิต จิรสัทธรรม แม้ว่า หนังสือมุ่งเน้นที่จะชูประเด็น “อีสานล้าหลังทางเศรษฐกิจเป็นภาพลวงหรือภาพจริง” โดยยืนยันจากสถิติตัวเลขที่เก็บอย่างเป็นระบบ ตามหลักวิชาการ มีการตรวจสอบความถูกต้อง
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 บท บทที่ 1 บทวิเคราะห์เศรษฐกิจอีสาน บทที่ 2 ภาพรวมประชากร แรงงาน การมีงานทำ และการย้ายถิ่นฐานแรงงาน บทที่ 3 ภาพรวมระบบการเงินอีสาน ซึ่งทั้งหมดรวมแล้ว 184 หน้า
หลังจากที่ได้อ่านจบครบ 184 หน้า ผู้เขียนก็ได้พบว่า มีเรื่องมากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจอีสาน ที่พวกเราอาจไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วแต่อาจไม่ถูกต้อง ผู้เขียนจึงพยายามย่อย สรุปใจความสำคัญๆ มาให้อ่านง่ายๆ ได้ดังนี้
บทที่ 1 : วิเคราะห์เศรษฐกิจอีสาน
1. ภาคอีสาน มีรากมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ยิ่งใหญ่” หรือ “ผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งก็คือพระอิศวรผู้เป็นเทพปกครองในความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู ส่วนความหมายตรงๆ คํานี้ แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
2. ภาคอีสานไม่มีทางออกสู่ทะเลไม่เหมือนภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ตอนล่างลงไป ภาคอีสานมีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ แต่ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศ ภาคอีสานอยู่ในเขตเงาฝน ส่งผลให้แห้งแล้งประกอบกับมีดินเค็มทำให้การเพาะปลูก เป็นไปอย่างลําบาก
3. เศรษฐกิจอีสานอยู่กับความเหลื่อมล้ำตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานมีการเติบโต แต่การเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจอีสานสามารถไล่ตามภูมิภาคที่มีรายได้สูงกว่า เช่น กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลได้ ภาคอีสานไม่เคยไต่ระดับรายได้ต่อหัวได้เกินกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เศรษฐกิจของภาคอีสานถูกทิ้งไว้ข้างท้ายตลอดมา
4. เศรษฐกิจอีสานมีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้เศรษฐกิจอีสานยังมีพลวัตที่กิจกรรมนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะ ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีกและบริการ ที่เติบโตและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆอย่างชัดเจน
5. จังหวัดในภาคอีสานสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มจังหวัดรายได้สูง ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และอุดรธานี ทั้ง 4 จังหวัดนี้มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันคิดเป็น 48% ของรายได้ภาคอีสานทั้งหมด
(2) กลุ่มจังหวัดรายได้ปานกลาง ประกอบด้วย สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ จังหวัดเหล่านี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 38
(3) กลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ ประกอบด้วย หนองคาย หนองบัวลําภู มุกดาหาร อํานาจเจริญ ยโสธร เลย บึงกาฬ และนครพนม ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มีส่วนแบ่งรายได้ต่ำกว่าร้อยละ 10
6. ขอนแก่นและนครราชสีมามีความโดดเด่นชัดเจนด้านการผลิต (manufacturing) และยังเป็นเพียงไม่กี่จังหวัดในอีสานที่มีความเชี่ยวชาญและความเติบโตทางด้านวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค อีกด้วย
7. อุบลราชธานี และ อุดรธานี มีความโดดเด่นในสาขาด้านอสังหาริมทรัพย์ ในอุบลราชธานีมีทําเลในตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการศึกษา มี “วารินชําราบ” เป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ มี “บ้านด่าน” เป็นประตูสู่ลาว “พิบูลมังสาหาร” เป็นศูนย์กลางเกษตร และ “ตระการพืชผล” เป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจใหม่ของอีสานอยู่ในแนวรถไฟความเร็วสูง โดยพื้นที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ ได้ขยายจากตัวเมืองไปยังนอกเขตถนนรอบเมือง (ทิศตะวันออก) จนถึงสี่ยาทางออกไป หนองคา
8. อุบลราชธานี และ อุดรธานี ยังมีความโดดเด่นในสาขาด้านการค้าปลีก-ค้าส่งที่นับว่าเป็นสัดส่วนที่มากสุดในหมวดรายได้ ด้านบริการในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
- อุบลราชธานี นับเป็นจุดค้าขายหลักของอีสานตอนใต้ ตั้งแต่นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 การเป็นจังหวัดที่ติดกับชายแดนกัมพูชาและลาวจึงเป็นข้อได้เปรียบ เกิดเป็นจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ทําให้มีตลาดนัดเพื่อให้ประชาชนทั้ง 3 ประเทศ ค้าขายกันโดยไม่ต้องเสียภาษี
- อุดรธานี นับเป็นจังหวัดค้าขายหลักของอีสานตอนบน เนื่องจากมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าหนองคายซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่อยู่ใกล้เคียงมาก นอกจากนี้อุดรธานี ยังเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว เช่น วัดป่าคําชโนด แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หนองบัวแดง บึงประจักษ์ศิลปาคม ฯลฯ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงกับการค้าปลีก-ค้าส่งอย่างขาดไม่ได้
แม้ว่า จังหวัดหลัก อย่าง ขอนแก่น และนครราชสีมา จะมีมูลค่าในสาขาด้านการค้าปลีก -ค้าส่งที่สูงมาก แต่ในด้านความเชี่ยวชาญเปรียบเทียบยังไม่เท่า อุบลราชธานี และอุดรธานี
9. ขอนแก่น นครราชสีมา และศรีสะเกษ มีความโดดเด่นในด้านของสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- นครราชสีมา มีแหล่งท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้มีโรงแรมในเครือมีชื่อเสียงเปิดทำการมากมาย รวมถึงเป็นแหล่งร้านอาหารที่อยู่ในมิชลินไกด์
- ขอนแก่น เป็นเมือง MICE City เพื่อการจัดประชุมสัมมนา งานอีเวนต์ ฯลฯ ของภาคอีสาน และมีร้านอาหารอยู่ในมิชลินไกด์เช่นกัน
- ศรีสะเกษ ไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่ก็ถือเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น เขาพระวิหาร วัดมหาพุทธาราม อควาเรียมแห่งแรกของอีสาน ฯลฯ นอกจากนี้ ความโดดเด่นและเติบโตของสาขาที่พักแรมและบริการ ด้านอาหารอาจมาจากการที่ศรีสะเกษมีชายแดนช่องสะงำเป็นพรมแดนไปสู่บ่อนกาสิโนในประเทศกัมพูชา
10. เลยและบุรีรัมย์ มีความโดดเด่นด้านกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
- เลย มีชื่อเสียงมานานเรื่องศิลปะและประเพณีท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น การละเล่นผีตาโขน และการแสดงดอกไม้เมืองหนาว
- บุรีรัมย์ เป็นที่รู้จักกันมากในระยะหลังนี้จากการพัฒนาคอมเพล็กซ์ด้านกีฬาและความบันเทิง ทั้งทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียง (บุรีรัมย์ยูไนเต็ด) มีสนามเหย้าที่ได้มาตรฐาน และสนามแข่งรถมาตรฐานสูง จนทั้งหมดกลายเป็นจุดที่ผู้คนจากที่ต่าง ๆ ให้ความสนใจเยี่ยมชม
11. สกลนคร ที่อยู่กลุ่มรายได้ปานกลางกลับมีความโดดเด่นในด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ประกอบด้วยการผลิตสื่อต่าง ๆ บริการด้านโทรคมนาคม รวมถึงการผลิตโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ นี้ชัดเจน ในขณะที่ อุบลราชธานี และอุดรธานี ทั้ง 2 จังหวัดมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในด้าน ICT มากกว่าจังหวัดอื่นโดยเปรียบเทียบ แต่ ความโดดเด่นในด้านนี้กลับน้อยกว่า
12. อุบลราชธานี อุดรธานี สุรินทร์ มหาสารคาม และบุรีรัมย์ มีความโดดเด่นด้านกิจกรรมด้านการเงินและการประกัน
- สําหรับ 2 จังหวัดแรก อุบลราชธานี อุดรธานี ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นจังหวัดในกลุ่มรายได้สูง มีความเชี่ยวชาญและเติบโตในกิจกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง และอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นไปได้ที่จะดึงให้เศรษฐกิจภาคการเงินมีความสำคัญตามไปด้วย
- สุรินทร์ แม้ว่ามีภาพลักษณ์เป็นเมืองโบราณ แต่ช่วงกรอบเวลาที่พิจารณา ก็มีจำนวนธนาคารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า
- มหาสารคาม เต็มไปด้วยประชากรแฝงที่ย้ายถิ่นเข้ามาเรียนหนังสือ แน่นอนว่าต้องมีการทำธุรกิจกรรมทางการเงินด้วย
- บุรีรัมย์ ความโดดเด่นด้านการเงินอาจเชื่อมโยงกับลักษณะของจังหวัดที่ต้องการเป็นศูนย์กลาง บันเทิง ซึ่งต้องมีการลงทุนและกู้ยืมในการหล่อเลี้ยงโครงการต่างให้ดำเนินต่อไปได้
13. หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร มีความ มีความเชี่ยวชาญและเติบโตโดยเปรียบเทียบในด้านกิจกรรมการเกษตร มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาพรวมทั้ง 3 จังหวัดใช้พื้นที่กว่าครึ่งในการเพาะปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พื้นที่ในระดับประเทศ เนื่องจาก จังหวัดดังกล่าวมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขง เหมาะกับการปลูกพืชผักในฤดูนาลด เนื่องจากดินจะมีสารอาหารมากและบางพื้นที่ยังเหมาะกับการปลูกผลไม้อื่น เช่น กล้วยนาว้าในอําเภอสังคมของหนองคาย