‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ โหมยอดขายร้านเดิมโต 4% ร้านอาหารเผชิญความยาก!

‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ โหมยอดขายร้านเดิมโต 4%  ร้านอาหารเผชิญความยาก!

บาร์บีคิวพลาซ่า เดินหน้าขยายร้านปิ้งย่างอีก 10 สาขา จากปัจจุบันมี 150 สาขา ดังนั้นการโฟกัสเป้าโตจึงมุ่งร้านเดิม รับไตรมาสแรกท้าทาย ผู้บริโภครู้สึกข้าวของแพง

ธุรกิจร้านอาหารกว่า 4 แสนล้านบาท ถูกมองเป็นสนามแข่งขันที่ไร้กำแพงกั้นหน้าใหม่เข้ามาชิงเค้ก เพียงมี “สูตรลับ” กระทะ ตะหลิว เปิดร้านได้เลย

ทว่า ปี 2568 ภาพรวมตลาดกำลังเผชิญความท้าทายจาก “กำลังซื้อผู้บริโภคแผ่ว” และการห้ำหั่นที่เดือด! ต่อเนื่อง

รัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารไตรมาสแรก “ค่อนข้างยากลำบาก” หรือ tough จากหลายปัจจัยทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคที่ค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะมีความรู้สึกถึง “ข้าวของแพง” รวมถึงตลาดร้านร้านอาหารยังมีผู้เล่นใหม่ๆเข้าอย่างต่อเนื่อง

“ไตรมาสแรก ถามว่าเหนื่อยไหม..ก็ tough เหมือนทุกธุรกิจ กำลังซื้ออาจไม่รู้ภาพจริงเป็นอย่างไร แต่ด้านความรู้สึกข้าวของแพง คนกลัว รับรู้หรือมี perception ระมัดระวังการใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว”

ด้านบาร์บีคิวพลาซ่า ผ่านไตรมาส 1 ค่อนข้างดี เนื่องจากมีการจัดแคมเปญการตลาดแห่งปีอย่าง “GON BUFFET เทหมดตัก อิ่มครบ ALL IN ฟินไม่บวกเพิ่ม” ซึ่งปี 2568 สร้างสีสันด้วยการมอบส่วนลด 50% ให้กับกลุ่มเป้าหมายสูงวัย ผลตอบรับค่อนข้างน่าพอใจตามที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ การเลือกจับกลุ่มเป้าหมายสูงวัยให้ทานบุฟเฟ่ต์ และบาร์บีคิวพลาซ่า เพราะหากเจาะอินไซต์ผู้บริโภค “บุฟเฟต์” ไม่ค่อยชวนผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ไปทาน เพราะทานได้น้อย อาจไม่คุ้มค่า กลายเป็นช่วงเวลาไม่อบอุ่น

“การมอบส่วนลด 50% ให้กับกลุ่มสูงวัย เพราะต้องการดึงความอบอุ่นให้กลับสู่กลุ่มครอบครัว”

ท่ามกลางความท้าทาย แผนเคลื่อนธุรกิจช่วง 8 เดือนที่เหลือ มีการปรับตัว พลิกกลยุทธ์ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้านการเปิดร้านใหม่ปีนี้วางไว้ 10 สาขา ลงทุนเฉลี่ย 6-8 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีร้านบาร์บีคิวพลาซ่าให้บริการลูกค้า 150 สาขา

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน รักษาสภาพคล่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนเป้าหมายการเติบโต บริษัทโฟกัสร้านเดิมหรือ Same Store Sales Growth (SSSG)ให้ได้ 4%

ธุรกิจร้านอาหารมีจุดแข็งภายใต้แรงกดดันเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และการแข่งขันคือ “อาหารเป็นปัจจัยสี่” สำคัญต่อการดำรงชีพ และการรับประทานอาหารหรือ “การกิน” ช่วย “ฮีลใจ” ผู้คน เติมเต็มความสุขได้ ส่วนบาร์บีคิวพลาซ่า การเป็นแบรนด์อยู่ในตลาดมา 38 ปี ถือเป็นข้อได้เปรียบในการดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ “บุฟเฟ่ต์” กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคดึงผู้บริโภค มองเป็นเพียง mechanic ในภาวะเช่นนี้ผู้คนมองหา “ความคุ้มค่าเงิน” มากขึ้น

“คนไทยใช้การกินในหลาก occasion ทั้งเพื่อความสุขทุกข์ ฮีลใจ เหนื่อย จากงานก็ไปกิน โมเมนต์เป็นแบบนั้น การทานอาหารคนยังมองความคุ้มค่าเงินเป็นสำคัญ ว่าแบรนด์เสิร์ฟความอิ่มอร่อยคุ้มค่าหรือไม่ บุฟเฟต์เป็นเพียงเครื่องมือรองที่ดึงดูดลูกค้า”

ด้านการทำตลาดบริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เพื่อสื่อสาร เอนเกจกลับลูกค้าเฉพาะบุคคลมากขึ้น รวมถึงมุ่งสร้าง “ฐานแฟน” 2 มิติ ทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยลูกค้าสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมี 3.2 ล้านราย และกว่า 90% มาทานบาร์บีคิวพลาซ่าความถี่ 3 เดือน 2 ครั้ง

บาร์บีคิว ยังปรับวิธีคิด มุ่งสร้างสรรค์คอนเทนต์สื่อสารลูกค้ารายบุคคลให้มีความหมาย ทรงพลังให้ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา มากกว่าจะ “หว่าน” ทั่วไปหรือแมส ส่งคอนเทนต์ไปให้แล้วต้องเปิดอ่าน รวมถึงนำอินไซต์การกินอาหารชุดโปรด กินเวลาไหน มาเสิร์ฟเมนูให้แม่นยำรายบุคคลมากขึ้น

“เมื่อก่อนสิ่งที่หลายแบรนด์ต้องการคืออยากทำให้เสียงของเราหรือแบรนด์ดังสุดไปถึงลูกค้ามากสุด วันนี้เชื่อว่าแบรนด์จะสำเร็จได้ต้องฟังเสียงลูกค้าที่เล็กสุด พยายามตอบโจทย์ลูกค้ารายนั้นๆให้ดีสุด และต้องวัดผลได้ เพราะความท้าทายวันนี้คือคอนเทนต์เราส่งถูกคนไหม เมสเสจที่ส่งไปคนสนใจไหม เหมือนกล่องดำที่ต้องกะเทาะออก เพื่อดูเงินทุกบาทที่ใช้จ่ายไปจากการโฆษณาหรือ Return on Ad Spend คุ้มค่าหรือไม่ เพราะเมื่อยิงโฆษณาถูกคนก็จะเพื่อเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นยอดขายได้”

ด้านการสื่อสารตลาดบริษัทยังให้น้ำหนักกับสื่อดิจิทัล ใช้งบประมาณให้เหมาะสม

“ในฐานะแบรนด์ ยังต้องการทุ่มเงินมากๆ เพื่อสื่อสารให้ลูกค้าได้ยินสิ่งที่แบรนด์พูดไปไกลสุด หรือพูดเบาๆแล้วฟังผู้บริโภค ปรับตัวเองให้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากสุด เพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพดีสุด”