‘มิตซูโคชิ เดปาจิกะ’ ชี้ไทยตลาดค้าปลีกศักยภาพ สร้างการรับรู้แบรนด์

ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศไทยมีขนาดใหญ่ด้วยมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท การแข่งขันรุนแรงจากบรรดาผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ขยายการลงทุนต่อเนื่องทุกปี
จากการประเมินของ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปี 2568 จะขยายตัว 3-5% และ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” เป็นเซกเมนต์ที่มีทิศทางขยายตัวสูง ด้วยลูกค้าเป้าหมายมุ่งเจาะกลุ่มระดับบน เป็นโอกาสของแบรนด์ยักษ์จากญี่ปุ่น อิเซตัน ส่ง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” แบรนด์ “มิตซูโคชิ เดปาจิกะ” (Mitsukoshi Depachika) รุกขยายตลาดเมืองไทย ปักหมุดทำเลสำคัญ วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โอโนะ มาซาโตะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บริษัท วัน แบงค็อก มิตซูโคชิ จำกัด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้ตลาดค้าปลีกในประเทศไทย มีการแข่งขันที่เข้มข้น แต่ค้าปลีกจากญี่ปุ่นยังมีโอกาสรุกตลาด โดยเฉพาะค้าปลีกกลุ่มพรีเมียม ซูเปอร์มาร์เก็ต และ สเปเชียลตี้ สโตร์ (Specialty Store) ที่มีดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาเยือน
"เป้าหมายระยะแรก คือ การทำให้ไทยคุ้นชินกับแบรนด์มากขึ้น เพื่อสนใจเข้ามาใช้บริการและเชื่อมั่นสินค้าที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น และนโยบายของบริษัทแม่ญี่ปุ่น ไม่ได้มองเฉพาะการลงทุนในไทย แต่สนใจขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น จากตลาดค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียนกำลังขยายตัวเช่นกัน”
แบรนด์ห้างอายุ 350 ปี จากญี่ปุ่น เร่งแผนชิงลูกค้าระดับบน
“มิตซูโคชิ" เป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น เป็นห้างสรรพสินค้าแรกในญี่ปุ่น เปิดบริการมายาวนาน 350 ปีแล้ว สำหรับในไทยจึงนำเสนอโมเดลที่แตกต่างกับ มิตซูโคชิ เดปาจิกะ” (Mitsukoshi Depachika) มีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต และ เดปาจิกะ ทั้งเอกลักษณ์กับการนำร้านอาหารและแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย รวมถึงสินค้าเอ็กซ์คลูชีฟ และสินค้าของแบรนด์ มิตซูโคชิ ที่มีเฉพาะสาขานี้แห่งเดียวในไทย รวมถึงบริการต่างๆ จากญี่ปุ่น
ไม่ใช่แค่ ซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมดา แต่เป็น เดปาจิกะระดับตำนาน ที่ฮิตในแดนอาทิตย์อุทัย
ส่วน “เดปาจิกะ” หมายถึงการเป็น สโตร์รวบรวมสินค้าอาหารและร้านค้าพรีเมียม ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้า ซึ่งชาวญี่ปุ่นต่างคุ้นเคยกับสโตร์ในรูปแบบนี้ ปัจจุบันมีสินค้ารวมกว่า 4,000 รายการ
อีกข้อได้เปรียบคือทำเลยุทธศาสตร์ โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ วัน แบงค็อก (One Bangkok) อยู่ใจกลางเมือง เชื่อมต่อการเดินทางสะดวกทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน โดย “วัน แบงค็อก มิตซูโคชิ” เป็นบริษัทจัดตั้งใหม่ร่วมมือระหว่างบริษัท และกลุ่ม ทีซีซี ในการบริหารโครงการค้าปลีก มิตซูโคชิ เดปาจิกะ พื้นที่กว่า 4,600 ตร.ม. ซึ่งโครงการแห่งนี้มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่กลุ่มคนทำงานในสำนักงาน กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และคนไทย โดยบริษัทต้องการขยายตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ รวมถึงกลุ่มลูกค้าในเมือง
“การเข้ามาลงทุนในไทย มิตซูโคชิ เดปาจิกะ โดยร่วมมือกับกลุ่มทีซีซี เป็นการผนึกกำลังขยายค้าปลีกในไทย จากจุดแข็งมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์แท้จากญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงข้อได้เปรียบที่กลุ่มลูกค้าคนไทยชื่นชอบการเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงคุ้นชินกับอาหารและสินค้าญี่ปุ่นในระดับสูง”
มองไทยค้าปลีกหรูโต วางแผนเป็น สปริงบอร์ด ขยายสู่ตลาดอาเซียน
แผนการรุกตลาดในประเทศไทยปี 2568 เตรียมนำเสนอสินค้ากลุ่มใหม่นำเข้าจากญี่ปุ่นให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เน้นกลุ่มอาหาร และสินค้าของใช้ในบ้าน ปัจจุบันสัดส่วนสินค้าหลักที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมากสุด คือ ของสด 40% รองลงมากลุ่มของใช้ในบ้าน และกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร 10% ที่เหลือ 50% มาจากอื่นๆ
พร้อมกันนี้ เตรียมขยายพื้นที่ดึงร้านชื่อดังใหม่ๆ เข้ามาเปิดมากขึ้น เน้นคอนเซปต์ใหม่ทั้งกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และขนมจากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ปัจจุบันมีร้านค้าในพื้นที่ประมาณ 14 ร้านค้า วางเป้าหมายเปิดครบ 32 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ โดยทยอยเปิดเป็นเฟสๆ เพื่อขยายสินค้าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายกว้างมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมการตลาดเน้นสื่อสารแบรนด์กับลูกค้าสมาชิกที่มีอยู่ประมาณกว่า 3 หมื่นรายมุ่งนำเสนอสินค้าพิเศษ และโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการถี่ขึ้น
นอกจากนี้ ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เข้าร่วม Japanese Food Supporter เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น จากปัจจุบันได้นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นในสัดส่วน 40%
เจโทร เร่งดึง ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกเข้า Japanese Food Supporter
โยชินาริ สุดะ ผู้อำนวยการ แผนเกษตรและอาหาร เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย ยังมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นมาไทย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ มีกำลังซื้อที่ดีเทียบกับกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ส่งเสริมบริษัทญี่ปุ่นออกไปลงทุนต่างประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญ
สำหรับการส่งเสริม Japanese Food Supporter ให้แก่บริษัท ร้านอาหาร และค้าปลีกในประเทศไทย เพื่อร่วมใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก และมีภาคเอกชนทั้งกลุ่มค้าปลีกและร้านอาหารได้รับรองตรา Japanese Food Supporter รวม 225 ร้านค้า เป็นลำดับที่ 5 ของโลกที่ได้รับตราสัญลักษณ์มากที่สุด
โดยทั่วโลกมีผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ 5,559 ร้านค้า อันดับ 1 ออสเตรเลีย 1,806 ร้านค้า ตามมาด้วย ฮ่องกง 1,243 ร้านค้า ฟิลิปปินส์ 383 ร้านค้า มาเลเซีย 287 แห่ง และไทย ซึ่งคาดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีก