‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน

จ่ายหลักพันแต่คิวก็ยังแน่น! เปิดใจ “พจนีย์ พินิจศักดิ์กุล” ทายาทรุ่นที่ 2 แห่ง “Copper Beyond Buffet” มีแค่ 2 สาขา แต่โกยรายได้ไป 800 ล้านบาท เริ่มทำร้านอาหารเพราะอยากสร้างแม่เหล็กดึงคนเข้าห้าง ปีนี้ตั้งเป้าทะยานสู่พันล้านบาท มั่นใจคุณภาพดี-ไร้คู่แข่งโดยตรง ทำถึงจนต่างชาติยังต้องมาเยือน

KEY

POINTS

  • “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟ่ต์” ร้านบุฟเฟ่ต์ราคาหลักพันที่เกิดและเติบโตจากครอบครัว “พินิจศักดิ์กุล” ไม่เคยทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อน เริ่มจากการทำร้านจิวเวลรี และมาทำห้าง คิดเปิดร้านคอปเปอร์เพราะอยากให้คนมาเดินห้างเยอะๆ
  • “คอปเปอร์” โด่งดังติดลมบนจากการรีวิวของยูทูบเบอร์ และบอกต่อแบบปากต่อปาก ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ร้านมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปีที่ผ่านมาได้ฤกษ์เปิดสาขาที่ 2 ที่ห้างเกษรอัมรินทร์
  • ปี 2568 ทายาทรุ่นที่ 2 ตั้งเป้าทำรายได้ทะลุ “1 พันล้านบาท” ด้วยจำนวนลูกค้า “5 แสนคน” ส่วนสาขาที่ 3 หรือการไปต่างประเทศจะเกิดขึ้นหรือไม่ ดูที่ความเหมาะสมของจังหวะเวลา โลเกชัน และปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน

เซกเมนต์บุฟเฟ่ต์แทบจะเป็นเบอร์ต้นในตลาดร้านอาหารที่มีอัตราการแข่งขันดุเดือดมากที่สุด โดยเฉพาะบุฟเฟ่ต์ที่มี “Entry Price Point” ไม่สูงมาก ตรงกันข้ามกับบุฟเฟ่ต์พรีเมียมที่มีเพียงบรรดาเชนโรงแรมปักธงลงแข่ง ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนราคาวัตถุดิบ กำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการเฟ้นหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมต้องกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่นัก

แต่ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ กลับมี “หน้าใหม่” ที่ตั้งใจขายความพรีเมียม ด้วยราคาเริ่มต้นคนละ 1,359 บาท เชื่อหรือไม่ว่า ราคานี้และยังสูงกว่านี้สำหรับแพ็กเกจอื่นๆ กลับทำให้ “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟ่ต์” (Copper Beyond Buffet) เติบโตจากการบอกปากต่อปากด้วยร้านที่มีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น กระทั่งปีที่ผ่านมา “คอปเปอร์” เพิ่งจุดพลุสาขาที่ 2 ไปหมาดๆ โดยในปี 2567 บุฟเฟ่ต์นานาชาติพรีเมียมแห่งนี้ทำรายได้มากถึง “800 ล้านบาท” พร้อมกำไรสุทธิอีกราวๆ 80 ล้านบาท จากร้านอาหารเพียง 2 สาขาเท่านั้น

“เหมี่ยน-พจนีย์ พินิจศักดิ์กุล” ผู้บริหารร้านคอปเปอร์ และทายาทรุ่นที่ 2 บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากย้อนกลับไปก่อนจะมีร้านบุฟเฟ่ต์เกิดขึ้น ครอบครัวของเธอไม่เคยคลุกคลีในวงการอาหารมาก่อน “สมศักดิ์ พินิจศักดิ์กุล” ผู้เป็นพ่อ เริ่มต้นจากการทำธุรกิจจิวเวลรียาวนานเกือบ 60 ปี

จนกระทั่งหันหัวเรือสู่ธุรกิจรีเทลด้วยการทำคอมมูนิตี้มอลล์ “เดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า” (The Sense Pinklao) และลงท้ายด้วย “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟ่ต์” เพื่อเพิ่มทราฟิกให้กับห้างเดอะเซ้นส์ โดยที่ทั้งสองพ่อลูกไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า อีก 10 ปีให้หลัง “คอปเปอร์” จะกลายเป็นธุรกิจหลักในท้ายที่สุด

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน -กุ้งล็อบสเตอร์ หนึ่งในเมนูยอดนิยมของ Copper Beyond Buffet-

อยากดึงคนมาเดินห้าง แถมได้คุมธุรกิจเอง: ปฐมบท “Copper Beyond Buffet”

ถัดจากธุรกิจจิวเวลรี “สมศักดิ์” มองเห็นลู่ทางสู่น่านน้ำธุรกิจค้าปลีกจึงขยับไปทำคอมมูนิตี้มอลล์แถบปิ่นเกล้า โดยหลังจากเปิดเดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้ามาได้ 2 ปี เขาก็เริ่มตั้งโจทย์ใหม่อีกครั้งในวัย 65 ปี คิดอยากทำร้านอาหารเพื่อเพิ่มทราฟิกให้พื้นที่

“พจนีย์” เล่าว่า อีกหนึ่ง Pain Point ที่ทำให้คุณพ่อหันมาทำร้านอาหาร เป็นเพราะต้องการดูแลธุรกิจด้วยตัวเองแบบจบในตัว ขณะที่การทำห้างต้องใช้วิชาบริหารพื้นที่ และมีผู้เช่าเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญในการพลอตกราฟการเติบโต

เพราะธุรกิจพื้นที่ให้เช่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าของห้างแต่เพียงผู้เดียว หากร้านค้ามีกระแสน้อยลง คนไม่ควักกระเป๋าจ่าย แลนด์ลอร์ดก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ จะเป็นอย่างไรถ้าเจ้าของลงมาทำร้านอาหารในพื้นที่ด้วยตัวเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟ่ต์” ในปี 2559

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน -พจนีย์ พินิจศักดิ์กุล ผู้บริหารร้านคอปเปอร์ และทายาทรุ่นที่ 2-

จากทำเพชร กระโดดมาทำห้าง และเข้าสู่สมรภูมิร้านอาหาร “สมศักดิ์” ไม่ได้คิดว่า ตนเองถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญอย่างแรงกล้า แต่ด้วยสายเลือดนักลงทุน มีวิสัยทัศน์ หากมองเห็นโอกาสก็พร้อมลุยทันที

“พจนีย์” บอกว่า แม้ไม่เคยมีสมาชิกคนใดในครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อนแต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะ “คอปเปอร์” เริ่มฟอร์มทีมกันตั้งแต่ปี 2558 มีที่ปรึกษา มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดวางแผน หนึ่งในนั้นคือ “เกษมสันต์ สัตยารักษ์” ที่เข้ามาช่วยตั้งไข่ร้านคอปเปอร์ตั้งแต่วันแรกๆ จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับร้านบุฟเฟ่ต์ตะวันตกและ Fine Dining มาอย่างโชกโชน

ในตอนแรก “คอปเปอร์” ยังไม่มีเมนูและแพ็กเกจหลากหลายเท่านี้ เริ่มต้นจากการเป็นบุฟเฟ่ต์พรีเมียมหัวละ 678 บาท ยอมขาดทุนติดต่อกัน 8-9 เดือน จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มเมนู-วัตถุดิบ พร้อมกับการปรับราคาขึ้นอีก 200 บาท ซึ่งการขยับตัวครั้งนี้ “พจนีย์” คิดว่า สิ่งที่ลูกค้าได้กินต้องคุ้มค่ามากกว่าเงิน 200 บาทที่จ่ายเพิ่ม

ผ่านไป 1 ปี “คอปเปอร์” เริ่มโผล่พ้นน้ำจากสภาวะขาดทุน จากที่มีลูกค้าหลักพันคนต่อเดือนเพิ่มเป็นหลักหมื่นคน และพีคสุดๆ เมื่อยูทูบเบอร์สายกินเข้ามารีวิว ทำให้หลังจากปี 2561 เป็นต้นมา “คอปเปอร์” มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมีการขยายพื้นที่ร้านบริเวณชั้นบนสุดของห้างเดอะเซ้นส์ให้ใหญ่ขึ้นอีก จนถึงตอนนี้คอปเปอร์ สาขาเดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 2,300 ตารางเมตร จุคนได้มากถึง 400 ที่นั่ง

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน -บรรยากาศร้าน Copper Beyond Buffet สาขา The Sense Pinklao-

ส่วนชื่อ “คอปเปอร์” มีความหมายง่ายๆ จากการออกแบบตกแต่งร้าน ที่ “พจนีย์” อยากให้มีโทนสีคอปเปอร์และโรสโกลด์ มองว่า คู่สี้นีมีความพรีเมียม ดูดี แต่ก็เข้าถึงง่าย ความตั้งใจของเธอ คือการเสิร์ฟอาหารพรีเมียมเหมือนบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม แต่ลูกค้ายังสามารถแต่งตัวสบายๆ รองเท้าแตะ-กางเกงขาสั้นเข้ามานั่งทานที่ร้านได้ เมื่อออกแบบไปเรื่อยๆ แล้วเห็นโทนสีที่วางไว้ชัดขึ้น “สมศักดิ์” ผู้เป็นพ่อจึงเสนอให้ใช้ชื่อร้านว่า “คอปเปอร์” เพราะเป็นคำที่เรียกง่าย จำง่ายที่สุด

ละเอียดตั้งแต่เลือกเนื้อ อุณหภูมิ เตาย่างราคา 1 ล้านบาท เมืองนอกก็ทำไม่ได้

สิ่งที่ทำให้คอปเปอร์แตกต่างจากร้านอื่นๆ คือการเฟ้นหาวัตถุดิบที่มีซัพพลายเออร์ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่หากุ้งตัวใหญ่หรือเนื้อชิ้นหนาหนุ่ม แต่ทีมคอปเปอร์มองลึกไปถึงสภาพอากาศ ต่างอุณหภูมิ ต่างภูมิประเทศ ก็มีผลกระทบกับปลายทางบนจานผู้บริโภค ช่วงเวลาในการจัดเก็บวัตถุดิบหลัก รวมไปถึงการขนส่ง การหั่น ความหนา-บาง อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำครัว เทคนิคหน้าเตา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือ “Key Success” ที่ทำให้ “คอปเปอร์” ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น

ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าว่า ขณะนี้งบลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ “100 ล้านบาท” เฉพาะเครื่องครัวกินสัดส่วนไปแล้ว 40% อย่างเตาย่างและเครื่องรมควันที่ใช้ในครัวก็มีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเตานำเข้าจากสหรัฐ ชาวต่างชาติที่มากินบอกกับ “พจนีย์” ว่า ไม่เคยเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ในร้านพรีเมียมที่ประเทศบ้านเกิดด้วยซ้ำไป ประกอบกับราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับวัตถุดิบและกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ “คอปเปอร์” เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของต่างชาติที่ได้มาเยือนเมืองไทยด้วย

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน

“ตอนแรกคุณพ่อมองว่า เป็นธุรกิจครอบครัวไม่ได้คิดจะขยายไปพื้นที่ไหน แต่พอจุดหนึ่งเราเห็นถึงแบรนดิ้ง ศักยภาพ กลุ่มลูกค้าที่ขยับตัวเพิ่มมากขึ้นเราก็มองเห็นโอกาส บวกกับทาง “เกษรอัมรินทร์” เข้ามาคุยเมื่อปลายปี 2565 หุ้นส่วนหลักๆ มองเห็นว่า เราคงต้องขยายเป็นสาขาที่สอง หลังจากนี้เราคงไม่ได้มองว่า คอปเปอร์เป็นแม็กเน็ตที่จะดึงคนเข้ามาที่เดอะเซ้นส์อีกแล้ว คอปเปอร์เป็นแบรนด์ที่ต่อยอดธุรกิจได้ เป็นธุรกิจ F&B เต็มตัวจริงจัง มีโอกาสที่จะขยายสาขาหรือแม้แต่แตกไปทำสินค้าหรือทำแบรนด์อื่นได้”

รีวิวบอกต่อปากต่อปากทำให้ “คอปเปอร์” เนื้อหอมจนแลนด์ลอร์ดพากันรุมจีบ “พจนีย์” บอกว่า ที่ผ่านมามีห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ทั่วทุกมุมของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ต่างจังหวัดติดต่อชักชวนมาโดยตลอด แต่การจะไปต่อสาขาที่ 3 เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างถี่ถ้วน เป็นเรื่องของจังหวะ โลเกชัน และกลุ่มลูกค้า

ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวต้องมีชาวต่างชาติหมุนเวียนมาเป็นลูกค้าราวๆ 30-40% ต้องเป็นโซนที่รักษาระดับทราฟิกลูกค้าทั้งในวันธรรมดาและวันเสาร์อาทิตย์ได้ใกล้เคียงกัน เพราะความต่างของสองส่วนนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ร้านจะกำไรหรือขาดทุน ด้วยงบลงทุน 100 ล้าน และการใช้ระยะเวลาคืนทุนกว่า 2 ปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนขยายกิจการ

มีบ้านใหญ่มาจีบแต่ยังไม่พร้อม ตั้งเป้า “พันล้าน” ไปต่างประเทศยังอยู่ในแผน

ปี 2567 หลังจากขยายเป็น 2 สาขา ปรากฏว่า “คอปเปอร์” มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 40,000 คนต่อเดือน ทั้งปีมีลูกค้าเข้ามากิน 480,000 คน ทำรายได้รวมกัน “800 ล้านบาท” นับเป็น “New High” ของคอปเปอร์นับตั้งแต่วันก่อตั้ง ปีนี้ “พจนีย์” วางเป้าใหญ่อยากไปให้ถึง “1 พันล้านบาท” พร้อมกับจำนวนลูกค้าอีก 500,000 คน

สำหรับสาขาที่ 3 อาจจะยังอยู่ในช่วงมองหาโลเกชันที่ตรงกับเงื่อนไขในใจโดยเฉพาะปัจจัยเรื่องลูกค้าชาวต่างชาติ ส่วนการออกนอกประเทศ “พจนีย์” บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยออกไปสำรวจตลาดสิงคโปร์มาบ้าง ทั้งเรื่องค่าเช่า ค่าแรง วัตถุดิบ ซึ่งก็พบว่า อาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลา ด้วยสเกลของคอปเปอร์ที่ต้องรักษามาตรฐานความพรีเมียมอย่างสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบที่พจนีย์มองว่า ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการพูดคุยกับซัพพลายเออร์ 

‘Copper Buffet’ มีแค่ 2 สาขา แต่ทำเงินไป ‘800 ล้าน’ คิวล้นทุกวัน ต่างชาติยังมารอกิน -เตี๋ยวคอปเปอร์ เมนูขึ้นชื่อที่แตกแบรนด์ออกมาเรียบร้อยแล้ว-

แม้จะมีเชฟมือทองแต่ถ้าคุณภาพวัตถุดิบต่างกันก็อาจจะไม่ได้รสชาติฉบับคอปเปอร์ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการศึกษา ขณะเดียวกันก็ยังมีโปรเจกต์อื่นๆ ที่เตรียม “Spin-off” ออกจากแบรนด์อย่าง “เตี๋ยวคอปเปอร์” ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของร้าน มองว่า ตัวนี้น่าจะมีโอกาสขยายไปต่างประเทศเร็วกว่าตัวบุฟเฟ่ต์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทายาทรุ่นที่ 2 เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ไม่นานมานี้มี “บ้านใหญ่” เข้ามาเจรจาร่วมทุนกับแบรนด์อยู่เหมือนกัน แต่ด้วยการบริหารที่เกิดและเติบโตจากธุรกิจครอบครัวอาจจะยังไม่ตรงกับแนวทางของบริษัทขนาดใหญ่ ขณะนี้ “คอปเปอร์” ยังบริหารกันเองภายในครอบครัวพินิจศักดิ์กุล มองไกลอยากเป็น “Best International Buffet in Southeast Asia” ในฐานะบุฟเฟ่ต์พรีเมียมที่ให้ความรู้สึกเหมือนกิน Fine Dining ทุกๆ เมนูที่เสิร์ฟ