17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

เซเว่นฯ โอกาสเสิร์ฟ "เอพริล เบเกอรี่" หลักแสนชิ้นต่อวัน จากความต้องการผู้บริโภคที่สูง และช็อกโกแลตดูไบ บทเรียนการจับเมนู สินค้าแฟชั่นช่วยแบรนด์ทำเงิน หนุนโต

จากริเริ่ม “พายหมูแดงสูตรฮ่องกง” เจ้าแรกในไทย ทำให้ชื่อของ “เอพริล เบเกอรี่” แจ้งเกิดและเติบโตในตลาด จนปัจจุบันเข้าสู่วัย 17 ปี และธุรกิจกำลังโกยรายได้แตะ “1,000 ล้านบาท” ในปี 2568 ก้าวต่อไป คือการสานฝันพาแบรนด์ไทย ไปสู่ตลาดต่างประเทศ หมุดหมายใหญ่คือ “สหรัฐ”

กนกกัญจน์ มธุรพร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหาฟู้ดส์ อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ปั้นแบรนด์ “เอพริล เบเกอรี่” ฉายภาพธุรกิจในปี 2567 ถือว่ามีความท้าทายมาก เพราะเปิดปีเผชิญ “ยอดขาย” และ “กำลังซื้อที่ชะลอตัว” ทำให้สุ่มเสี่ยงที่เป้าหมายรายได้อาจพลาดเป้า ทว่า ช่วงครึ่งปีหลังกระแส “ช็อกโกแลตดูไบพิสตาชิโอ” มาแรงมาก ทำให้จับเทรนด์ คิดค้นสูตร พัฒนาสินค้าช็อกโกแลตดูไบขายในราคา 39 บาท ผ่านช่องทางเซเว่นอีเลฟเว่น จนพลิกให้ทั้งปีสามารถสร้างรายได้กว่า 630 ล้านบาท เติบโต 20% บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

2 สูตรต่อยอดการเติบโตของ “เอพริล เบเกอรี่” อย่างแรกคือช่องทางจำหน่าย การที่บริษัทสามารถป้อนสินค้า 18 รายการ(SKUs)ให้กับร้านสะดวกซื้อเบอร์ 1 อย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกว่า 1.4 หมื่นสาขา ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้อย่างดี

ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายเบเกอรีผ่านเซเว่นฯมา 5 ปีแล้ว เกิดการเรียนรู้ในการสร้างยอดขายให้เติบโต ต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆป้อนผู้บริโภค ทำให้สินค้าหมุนเวียนเร็ว(ขายออก) ซึ่งช่วงแรกการพัฒนาสินค้าใหม่ทำได้เพียง 1 รายการต่อปี ปัจจุบันสร้างสรรค์ได้ 10 กว่ารายการต่อปี

“การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเซเว่นฯ ช่วยเราได้อย่างมาก จากตอนแรกที่เข้าไป เราเป็นเพียงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ปัจจุบันทำให้เราเติบใหญ่ขึ้น”

สูตร 2 คือการเกาะกระแส เบเกอรี่เมนูแฟชั่นในหมู่ผู้บริโภค เพราะเป็นกลยุทธ์ในการ “ทำเงิน” ตัวอย่างช็อกโกแลตดูไบพิสตาชิโอ เอพริล เบเกอรี่ ผลิตสู่ตลาดช่วงปลายเทรนด์ แต่ยังสามารถทำยอดขาย สร้างการเติบโตอย่างดี โดยความต้องการสินค้าจากเซเว่นฯ มากถึงหลักแสนชิ้นต่อวัน แต่บริษัทผลิตป้อนได้เพียง 7 หมื่นกล่องต่อวัน และเมื่อรวมสินค้าทุกรายการ เซเว่นฯต้องการถึง 2.6 แสนกล่องต่อวัน แต่บริษัทมีกำลังการผลิต 1.8 แสนกล่องต่อวัน

17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

จากความต้องการดังกล่าว ปี 2567 บริษัทใช้งบลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าโรงที่ 9 และจ้างงานเพิ่มเป็น 1,200 คน จากเดิมมี 500 คน

ปัจจุบันยอดขายของบริษัทมาจากช่องทางร้านสะดวกซื้อ 80% ที่เหลือเป็นหน้าร้าน ซึ่งมีจุดจำหน่าย 30-40 แห่ง และขายสินค้าผ่านคาเฟ่ ร้านกาแฟต่างๆ โดยจุดจำหน่ายเมื่อก่อนมีการขายแฟรนไชส์ราว 5 แสนบาท แต่แผนจากนี้จะมุ่งทำร้านเอง จึงมีการซื้อคืนสิทธิ์ขายสินค้ารูปแบบแฟรนไชส์สู่การเป็นเจ้าของร้าน 70%

ปี 2568 บริษัทยังขยายโมเดลใหม่ ร้านรูปแบบนั่งรับประทานเบเกอรี่และเครื่องดื่ม ภายในร้านมีการอบเบเกอรี่สด สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค โดยนำร่องสาขาที่เจริญกรุง ยอดขายดีมาก และสาขา 2 ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ ซึ่งจะเปิดให้บริการพฤษภาคมนี้ ใช้งบลงทุนราว 1 ล้านบาทต่อสาขา เทียบกับคีออสจำหน่ายสินค้าลงทุนหลักแสนบาท

17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

นอกจากตลาดประเทศไทย บริษัทยังมองโอกาสขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ที่ผ่านมามีขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ไปยังเวียดนาม และกัมพูชา แต่เป้าหมายใหญ่ต้องการบุกตลาด “สหรัฐ” ด้วยเมนูช็อกโกลแลตดูไบจากเมืองไทย และมองเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “คอสโก”(Costco) ขณะนี้วางแผนนำเสนอโปรไฟล์ให้แก่พันธมิตร

“เอพริล เบเกอรี่” เชี่ยวชาญเมนูขนมหวานหลากหลาย แต่สินค้า “ฮีโร่” คือพายหมูแดงที่แจ้งเกิด ก้าวไปต่อคือการต่อยอดความสำเร็จของช็อกโกแลตดูไบ ทำให้บริษัทซื้อที่ดิน 10 จังหวัดเชียงใหม่ปลูกโกโก้ คาดเก็บเกี่ยวผลผลิตปลายปีนี้ และยังเป็นการรองรับต้นทุนโกโก้ที่ปีนี้แพงขึ้นถึง 400% แต่บริษัทยังไม่ปรับราคาขายสินค้า

 “การปรับราคาสินค้าจะทำให้ยอดขายตกลงทันที แม้จะขยับ 2-3 บาทก็ตาม เช่น เบเกอรี่ราคา 39 บาท ปรับเป็น 41-42 บาท ซึ่งต่อให้เราปรับราคาลง ยอดขายก็จะไม่กลับมา การขายสินค้าราคาใหม่(ที่ขึ้นราคา)เป็นสิ่งที่ยากมาก”

17 ปี ‘เอพริล เบเกอรี่’ โกยพันล้าน เซเว่นฯ-ช็อคโกแลตดูไบ ปั๊มยอด

จากแผนธุรกิจดังกล่าว บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 2568 แตะ 1,000 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าทำได้ จาก 2 เดือนแรกยอดขายเติบโตดีมาก เฉลี่ย 90 ล้านบาทต่อเดือน

“เป้าหมายระยะยาว ต้องการทำให้เบเกอรีแบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก เป็นเครือข่ายร้านเบเกอรีหรือเชน และอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำเบเกอรีหลากหลาย รวมถึงช็อกโกแลต"