ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์...กับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ภายหลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “การควบรวมธุรกิจ” (Mergers and Acquisitions: M&A) ดูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญ ในการ...
สร้างความอยู่รอดของผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และสร้างโอกาสของการเติบโต รวมไปถึงชิงความได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่
แนวนโยบายการลดและผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อกิจการ หรือการควบรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้นำหลัก ยิ่งตอกย้ำถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการควบรวมธุรกิจของโลก
จากรายงานการรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการควบรวมธุรกิจในปี 2568 ของสหรัฐจะสูงขึ้นมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ และน่าจะสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ข้อมูลสถิติการควบรวมธุรกิจในประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ได้เปิดเผยจำนวนและมูลค่าการควบรวมธุรกิจตั้งแต่ปี 2562-2567 พบว่า มีจำนวนการควบรวมธุรกิจทั้งหมด 163 กรณี หรือคิดเป็นมูลค่าการควบรวมธุรกิจ 4.88 ล้านล้านบาท
โดยในปี 2565 มีจำนวนการควบรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 42 กรณี ในขณะที่ปี 2564 มีมูลค่าการควบรวมธุรกิจมากที่สุดสูงถึง 2.05 ล้านล้านบาท เนื่องจากในปีดังกล่าว มีกรณีการควบรวมธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องขออนุญาตควบรวมธุรกิจ ซึ่งมักมีมูลค่าของการควบรวมธุรกิจที่สูง
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา มีจำนวนการควบรวมธุรกิจทั้งสิ้น 21 กรณี คิดเป็นมูลค่าการรวมธุรกิจ 5.99 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกรณีการแจ้งผลการควบรวมธุรกิจ 17 กรณี และการขออนุญาตควบรวมธุรกิจ 4 กรณี
โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ มีมูลค่าการควบรวมธุรกิจสูงที่สุดถึง 1.82 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจทางการแพทย์ที่แม้จะมีเพียง 1 กรณี แต่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องขออนุญาตควบรวมธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าการควบรวมธุรกิจสูงถึง 1.25 แสนล้านบาท
หากรวมมูลค่าการควบรวมธุรกิจของทั้งสองธุรกิจดังกล่าว จะพบว่า มีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการควบรวมธุรกิจทั้งหมดในปี 2567
จากข้อมูลข้างต้น อาจสามารถคาดการณ์ได้ว่า การควบรวมธุรกิจในประเทศไทยปี 2568 จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าไม่น่าจะน้อยไปกว่าในปีที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมประเภทธุรกิจบริการ และธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงน่าจับตามอง
เนื่องจากข้อมูลสถิติการควบรวมธุรกิจในประเทศไทย ปี 2566-2567 สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนและมูลค่าการควบรวมธุรกิจที่สูงเป็นสองอันดับแรกของประเภทอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประเภทธุรกิจบริการในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความกระจุกตัวสูง ซึ่งการเติบโตดังกล่าวย่อมดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ทั้งในและนอกประเทศ ให้เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งพัสดุกำลังเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ที่หลากหลาย ทั้งจากแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ค้าออนไลน์รายใหญ่ในตลาดขนส่งพัสดุในช่วงเวลาเร่งด่วนและระยะทางสั้น ที่กำลังขยายธุรกิจสู่ตลาดบริการขนส่งฯ
ส่งผลให้ให้ตลาดขนส่งฯ มีความซับซ้อนและการแข่งขันรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยยะ เนื่องจากบริการขนส่งฯ ของผู้ให้บริการรายต่างๆ มีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก
ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจของตนสามารถอยู่รอดและเติบโตในตลาดที่แข่งขันสูงได้ ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งฯ แต่ละรายจำต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่าง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาบริการเสริม การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ฯลฯ
พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจขนส่งฯ หลายรายมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน
เช่น การขยายสาขาเครือข่ายการบริการ โดยการจัดตั้งโครงการให้ผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างที่มีอยู่แล้วให้เป็นจุดบริการรับ- ส่งพัสดุ
การเข้าเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการปรับใช้รหัสแทนการใช้ข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อ ที่อยู่และรหัสไปรษณีย์ เป็นต้น
แต่ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้ธุรกิจของตนสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ก็ตาม สิ่งที่สำนักงาน กขค. จำต้องจับจ้องและเฝ้าระวังก็คือ กลยุทธ์ที่ถูกนำมาดำเนินการเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นอันขาด!