คนไทยบริโภค น้ำเมาอันดับ 7 ของโลก แต่อนาคตตลาดโตต่ำ

คนไทยบริโภค น้ำเมาอันดับ 7 ของโลก แต่อนาคตตลาดโตต่ำ

“drinktec 2025” เวทีการแสดงสินค้าเครื่องดื่มและอาหารเหลวระดับโลก จาก YONTEK เดินหน้าโรดโชว์งานที่ประเทศไทย พร้อมเผยเทรนด์ตลาด โอกาสที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับตลาดเครื่องดื่มทั่วโลกยังหอมหวาน โดยหมวด “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” และ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ควงคู่เติบโต ซึ่งข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล คาดการณ์ภายในปี 2571 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะมีมูลค่าเชิงปริมาณ 9.72 แสนล้านลิตร เติบโต 15.8% ที่น่าสนใจคือ ตลาดเอเชียครองการบริโภคสัดส่วน 1 ใน 3 ของการบริโภคทั้งโลก

เจาะลึกตลาดเอเชีย หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีการ “เติบโตเร็วสุด” ระหว่างปี 2567-2571 โดยยอดขายเชิงปริมาณจะเพิ่มขึ้น 22% เป็น 2.94 แสนล้านลิตร

ริชาร์ด เคลเมนส์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมเครื่องจักรแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์แห่งสมาคมวิศวกรรมเครื่องกลเยอรมัน(VDMA) ฉายภาพว่า แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มและอาหารเหลวที่เติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2571 จะมีมูลค่าแตะ 3.50 พันล้านยูโร เพิ่มจากปี 2567 มูลค่าอยู่ที่ 2.76 พันล้านยูโร ซึ่งการบริโภคเชิงปริมาณจะทะยานสู่ 9.72 แสนล้านลิตร ในปี 2571 จากปี 2567 อยู่ที่ 8.39 แสนล้านลิตร ภาพดังกล่าวสะท้อนโอกาสที่สดใส

ทั้งนี้ เมื่อเจาะรายหมวดหมู่ ในปี 2571 เทียบปี 2567 น้ำดื่มบรรจุขวดจะพุ่งถึง 1.64 แสนล้านลิตร จาก 1.26 แสนล้านลิตร น้ำอัดลม 5.37 หมื่นล้านลิตร จาก 4.73 หมื่นล้านลิตร ชาพร้อมดื่ม 3.28 หมื่นล้านลิตร จาก 2.86 หมื่นล้านลิตร น้ำผลไม้ 1.98 หมื่นล้านลิตร จาก 1.86 หมื่นล้านลิตร เครื่องดื่มชูกำลัง 1.09 หมื่นล้านลิตร จาก 8,590 ล้านลิตร และเครื่องดื่มเกลือแร่ 6,695 ล้านลิตร จาก 5,765 ล้านลิตร

สำหรับประเทศไทย การบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์รั้งอันดับ 5 ของเอเชีย และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ภายในปี 2571 คาดการณ์เพิ่ม 19% จากปี 2567 มูลค่าเชิงปริมาณอยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านลิตร ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่อันดับ 7 ด้วยปริมาณ 3,100 ล้านลิตร โดยมี “จีน” บริโภคมากสุดในโลกด้วยสัดส่วนถึง 60%

ทั้งนี้ เทรนด์ที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มโต มาจากกระแสรักษ์สุขภาพหนุนตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอล เครื่องดื่มปราศจากวัตถุเจือสังเคราะห์ การลดปริมาณน้ำตาล

การบริโภคที่เติบโต ยังส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรุนแรงขึ้นทั้งกลยุทธ์ราคา การนำเสนอสินค้านวัตกรรม วงจรชีวิตสินค้าสั้นลง ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องเสริมแกร่ง เพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการซื้อเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ ไม่เพียงตอบสนองด้านธุรกิจ แต่ยังขานรับกระแสความยั่งยืนด้วย

10 เดือนแรกปี 2567(ม.ค.-ต.ค.) ประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีการส่งมอบเครื่องจักรแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์มายังประเทศไทยมูลค่า 245 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8% โดยเครื่องจักรเยอรมนีครองส่วนแบ่งตลาด 35%

“ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารเหลวต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อผลิตสินค้า การใช้ทรัพยากร วัตถุดิบให้คุ้มค่าสุด รวมถึงการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปยังมีข้อบังคับเกี่ยวกับพลาสติกและขยะพลาสติกของสหภาพยุโรปหรือ PPWR การเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล เพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีเอไอช่วยวิเคราห์ข้อมูลการผลิตเรียลไทม์ ช่วยตัดสินใจขั้นสูง ระบบการผลิตที่ซับซ้อน สะท้อนความต้องการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิตในประเทศไทย”

แม้ตลาดเครื่องดื่มในไทยจะเติบโต แต่แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยคาดการณ์จะ "ขยายตัวต่ำ"

ดร.เจริญ แก้วสุขใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อาหารรายใหญ่อันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ขณะที่หมวดเครื่องดื่มสินค้าหลายรายการมีเอกลักษณ์ สร้างการเติบโตไม่ว่าจะเป็นเรดบูลที่ทำตลาดทั่วโลก เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ใหญ่ เจาะตลาดอาเซียนทั้งกัมพูชา ลาว

ไทยยังได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศในยุโรปเพิ่ม ซึ่งน่าจะเจรจาแล้วเสร็จสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า จากปัจจุบันได้ลงนามไปแล้วในการส่งออกสินค้าไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฯ

ส่วนแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มในประเทศ ระหว่างปี 2568-2573 คาดว่ายังเติบโต 3.5-4.5% โดยเฉพาะหน้าร้อนเป็นไฮซีซั่น จะเป็นแรงส่งให้การเติบโตเพิ่ม 5-10% จากช่วงปกติ จากเทรนด์ดังกล่าว ทำให้ด้านผู้ผลิตต้องมองหาเครื่องจักร ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน

มาร์คุส โคซัค กรรมการบริหาร drinktec จากบริษัทจัดงานแสดงสินค้า YONTEK งาน drinktec 2025 จะจัดขึ้นที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ระหว่าง 15-19 กันยายน 2568 โดยที่ผ่านมามีกว่า 1,200 บริษัทเข้าร่วม และมีผู้เยี่ยมเยือนจากกว่า 170 กว่าประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ งานดังกล่าวถือเป็นเวทีพบปะของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ที่จะมาแบ่งปันโอกาส ความก้าวหน้าและการยกระดับธุรกิจทุกส่วน