‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน

‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน

จะรอดตายได้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่! โรงเรียนกวดวิชาเจอศึกหนัก ซบเซาต่อเนื่องหลังโควิด-19 ยอดคนเรียนหายสูงสุด 50% ระบบสอบเปลี่ยน-เด็กเหนื่อยอ่านหนังสือ หนีตายยื่นพอร์ตโฟลิโอแทน ติวเตอร์ดังชี้ ตลาดบนยังโตต่อ เด็กเกิดใหม่น้อยลง แต่เด็กอินเตอร์ฯ-เรียนต่อนอกเยอะขึ้นเรื่อยๆ

KEY

POINTS

  • ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นเหมือนทศวรรษก่อนหน้า ต้องปรับตัวหนีตายจากหลายสาเหตุ ทั้งการมาถึงของระบบออนไลน์ในช่วงระบาดใหญ่ รวมถึงการเปลี่ยนระบบสอบเข้าที่ทำให้เด็กๆ เลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการยื่นพอร์ตโฟลิโอแทน
  • แม้ไทยจะเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่แหล่งข่าวในธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาบอกว่า เด็กอินเตอร์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน หมดยุคการเรียนกวดวิชาเพื่อทำเกรดแล้ว พ่อแม่เน้นส่งลูกเรียนอินเตอร์-ไปต่างประเทศมากขึ้น
  • ส่วนเด็กระดับรากหญ้านอกจากไม่มีกำลังจ่าย ยังเสี่ยงหลุดออกจากระบบศึกษาด้วย จากเด็กมัธยมจำนวน 100 คน มีเด็กที่ศึกษาต่อจนจบมัธยมปีที่ 6 และเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้สำเร็จเพียง 30 คนเท่านั้น

จากยุคเฟื่องฟูของโรงเรียนกวดวิชาที่ทั้งเด็ก และผู้ปกครองต่างก็หมายปองการเรียนในห้องสอนสด-ประชิดตัวกับติวเตอร์ชื่อดังระดับประเทศ มาวันนี้ธุรกิจติวเตอร์หรือโรงเรียนกวดวิชากลับร่วงโรยไปตามยุคสมัย เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้การเรียนออนไลน์จากที่บ้านเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปโดยปริยาย

อีกทั้งความเหนื่อยล้าจากการเรียนผ่านจอทั้งใน และนอกเวลา ทำให้เด็กๆ ถอยห่างจากติวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีการปิดสาขาโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหลายแห่ง ส่งผลให้ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ซบเซามากกว่าที่เคย

ปัจจัยเรื่องอัตราการเกิดน้อยลงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ “สุธี อัศววิมล” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พี่โหน่ง ออนดีมานด์” ฉายภาพให้เห็นว่า แม้เด็กไทยจะมีอัตราการเกิดน้อยลง แต่ที่ยังเกิด และเติบโตเพิ่มขึ้นทุกวัน คือ เด็กโรงเรียนอินเตอร์ฯ รวมถึงเด็กที่พ่อแม่ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ

ภาพของโรงเรียนกวดวิชายุคนี้จึงไม่ได้เหมือน 10-20 ปีก่อนหน้า ที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ลงเรียนเสริมเพื่อหวังทำเกรดให้ดีขึ้น ทว่า การค้นหาตัวเอง-วางแผนให้กับเส้นทางอาชีพในอนาคตกลับเป็นโจทย์ข้อแรกที่พ่อแม่ และเด็กๆ นึกถึง

‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน

เด็กกลางๆ ไม่อยากสอบเข้า ส่วนเด็กรวยอยากเรียนอินเตอร์-ต่อเมืองนอก

ความรุนแรงของสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่กระทบกับธุรกิจกวดวิชาเข้าอย่างจัง การปิดสาขาลงชั่วคราวพร้อมปรับใหญ่สู่ออนไลน์ ทำให้หลายเจ้าที่ไม่เคยวางระบบมาก่อนเจอแรงเสียดทานอย่างหนัก สำหรับมูลค่าตลาดโรงเรียนกวดวิชาในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่มีตัวเลขปรากฏชัด แต่พบว่า ล้มหายตายจากไปเยอะพอสมควร โดย “สุธี” ระบุว่า ช่วงระหว่างเกิดโรคระบาดธุรกิจกวดวิชาล้มไปเยอะ แต่มาหนักสุดๆ คือ หลังจากการระบาดใหญ่จบลงแล้ว

ทวีคูณมากขึ้นไปอีกเมื่อความสงบของโรคร้ายมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากเดิมที่เน้นสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเด็กๆ สามารถยื่นพอร์ตโฟลิโอเพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณาได้โดยตรง สำหรับเส้นทางการเข้ามหาวิทยาลัยไทยตอนนี้มีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ยื่นพอร์ตโฟลิโอหรือผลงาน หากเป็นหลักสูตรอินเตอร์จะใช้คะแนนสอบ IELTS หรือ SAT ยื่นเข้า 2. รอบโควตา 3. รอบแอดมิดชัน และ 4. รอบรับตรงอิสระ หรือ “Direct Admission” 

ส่วนที่กระทบกับธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา คือ รูปแบบการยื่นพอร์ตโฟลิโอที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กๆ เบนเข็มจากระบบสอบสู่การยื่นพอร์ตราวๆ 30% หากถามว่า เพราะเหตุใดวิธียื่นพอร์ตโฟลิโอจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น “สุธี” บอกว่า เด็กๆ รุ่นนี้เหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์อย่างหนัก ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องเรียนจากบ้าน ประกอบกับรูปแบบการวัดผลของโรงเรียนก็เปลี่ยนไปด้วย จากเก็บคะแนนด้วยการสอบ เปลี่ยนเป็นการบ้านหรือให้ทำงานส่งแทน

หลังโควิด-19 จบลง ทั้งครู และนักเรียนผ่านการปรับตัวกันมาเยอะ รูปแบบการเรียนการสอบจึงเปลี่ยนไป เด็กที่เคร่งครัดกับการทำเกรด คือ เด็กที่วางเป้ายื่นเข้าคณะ - มหาวิทยาลัยที่มีการกำหนดเกรดเฉลี่ยไว้ค่อนข้างสูงซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเรียนดี ส่วนเด็กระดับกลางๆ ถึงอ่อนจะไม่เน้นเรื่องเกรดเท่าแต่ก่อน เมื่อไม่ต้องสอบแข่งขัน อัตราการมาเรียนกวดวิชาก็น้อยลงไปตามธรรมชาติ

ผลสะเทือนต่อมา คือ ความท้าทายของธุรกิจกวดวิชาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดกลางและกลางค่อนบนที่เริ่มจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ส่วนที่ต้องจับตา คือ กลุ่มตลาดบน กลุ่มนี้ไม่มีลดมีแต่เพิ่ม เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ “สุธี” ระบุว่า แม้แต่โปรแกรมการเรียนการสอนสองภาษา หรือ “English Program” ในโรงเรียนเบอร์ต้นระดับประเทศก็ยังคึกคัก พ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นแววว่า ลูกๆ พูดภาษาอังกฤษพอได้ก็หันมาส่งเสริมมากขึ้นเพื่อปูทางสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน -สุธี อัศววิมล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ พี่โหน่ง ออนดีมานด์ -

“หลังโควิด-19 เด็กๆ ล้าจากการเรียน พอเปลี่ยนระบบสอบเข้าเขาก็ไม่อยากสอบ เลยมีเด็กจำนวนหนึ่งหนีไปคัดเลือกด้วยพอร์ตโฟลิโอ ทำให้ตลาดกวดวิชาภาคไทยหดตัวลงไปอีกรอบ ซึ่งเราก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น อย่างของออนดีมานด์มีไปบรรยายตามโรงเรียนเพื่อไปสร้างการรับรู้ ไปสอนฟรีถึงโรงเรียน ไปแนะแนวให้รู้วิธีสอบเข้า ถ้าเด็กรู้ตัวไว เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะกระโดดเข้าแทร็คได้เร็วขึ้น แล้วเขาก็จะเห็นว่า เรามีประโยชน์กับการเข้ามหาวิทยาลัย”

หมดยุคเรียนเพื่อทำเกรด เด็กเกิดใหม่น้อย แต่ “เด็กอินเตอร์” เกิดใหม่เยอะ

เฉพาะสถาบันกวดวิชาออนดีมานด์เองไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก เนื่องจากได้มีการพัฒนาระบบเรียนออนไลน์ไว้ก่อนแล้ว จึงสามารถยกการเรียนการสอนทั้งหมดขึ้นสู่แพลตฟอร์มได้ แต่แม้จะปรับก่อน “ออนดีมานด์” ก็ต้องเจอผลกระทบจากความอ่อนล้าของเด็กๆ อยู่ดี

“สุธี” หรือ “พี่โหน่ง” บอกว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กนักเรียน ทำให้โรงเรียนกวดวิชาเจอกับความยากลำบากมากขึ้น ตลาดโรงเรียนกวดวิชาหดตัวลงไปอีกรอบ แม้ออนดีมานด์จะยังเติบโตมาโดยตลอด แต่ปีที่แล้วก็โตเพียงเล็กน้อยราวๆ 5-6% เท่านั้น

โชคดีที่เครือออนดีมานด์ไม่ได้มีแค่โรงเรียนเดียว แต่ยังมี “Ignite” และ “EduSmith” โรงเรียนกวดวิชาสำหรับติวสอบเข้าภาคอินเตอร์ และเรียนต่อต่างประเทศที่ยังมีการเติบโต ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องเด็กเกิดใหม่น้อยแต่นั่นไม่ใช่กับตลาดบน เพราะเด็กอินเตอร์เกิดใหม่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ติวเตอร์กวดวิชาที่จะอยู่รอดในยุคนี้ต้องมีคอร์สเรียนรองรับกลุ่มเด็กอินเตอร์ หากเป็นกวดวิชาเพื่อทำเกรดในรูปแบบเดิมจะเริ่มอยู่ยาก

“ภาพของโรงเรียนกวดวิชาแบบสมัยเดิมที่เด็กเรียนในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง กลัวเกรดเสีย เลยต้องมาติวเพื่อให้ได้คะแนนหรือให้ทันเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้เป็นภาพหลักของการเรียนเสริมหรือติวเตอร์แล้ว ภาพตอนนี้ที่เปลี่ยนไป คือ ผู้ปกครองต้องการมีชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญคือ การรู้ตัวเองว่า มีตัวตนอย่างไร ต้องการทำอาชีพไหน รู้อาชีพ รู้คณะ รู้แผนที่ต้องเดินไป แล้วใช้กวดวิชาให้ได้ผล ทิศทางจะเป็นแบบนี้มากกว่า จากการเรียนเพื่อทำเกรด ติวเข้ามหาวิทยาลัย โลกก็กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยไทย แต่เป็นมหาวิทยาลัยอินเตอร์ในไทยหรือไปเรียนต่อต่างประเทศ กระแสตรงนี้ชัดขึ้น”

‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน -บรรยากาศตึกวรรณสรณ์ในยุคก่อน คราคร่ำไปด้วยเด็กๆ มุ่งหน้ามาเรียนกวดวิชากับติวเตอร์ชื่อดัง-

“สุธี” บอกว่า แต่ก่อนตลาดภาคอินเตอร์มีราคาสูงมากราวๆ ปีละ 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเริ่มมีอินเตอร์ระดับกลางๆ เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการตรงนี้ แนวโน้มของโรงเรียนไทยเองก็ปรับตัวไปตามเทรนด์ด้วย โรงเรียนเบอร์ต้นของประเทศที่เคยขับเคี่ยวกันในวงการคณิตศาสตร์ ส่งเด็กแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกทุกปีวันนี้ทิศทางเริ่มเปลี่ยน หันไปสนับสนุน-ผลักดันยื่นรับทุนเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายอันดีของชนชั้นกลางที่จะได้มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับโลก

มุมมองของผู้ปกครองเองก็เปลี่ยนไป ไม่ได้โฟกัสแค่ลูกฉันต้องได้เกรดสี่ แต่มองเส้นทางอาชีพในอนาคตให้ลูกๆ ด้วย ส่วนฝั่งที่ไม่ได้เน้นเรื่องเรียนมากก็จะหันไปให้ความสำคัญเรื่องความสามารถพิเศษ มีการเรียนดนตรี กีฬา หรือการแสดงอย่างเอาจริงเอาจัง ภาพตรงนี้จะเริ่มชัดเจนขึ้น

ปัญหาใหญ่กว่า คือ เด็กจนหลุดจากระบบ เด็กอาชีวะรอวันล่มสลาย

ขณะที่เด็กระดับกลางบน และระดับบนหนีไปภาคภาษาอังกฤษ กลุ่มตลาดล่างหรือรากหญ้าก็เริ่มโรยราจากกำลังซื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ “สุธี” เล่าว่า ช่วงที่ตนได้มีโอกาสไปช่วยยกร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติราวๆ 5 ปีที่แล้ว พบว่า ในจำนวนเด็กไทย 100 คน มีเด็กที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสามารถศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้เพียง 30 คนเท่านั้น คำถาม คือแล้วเด็กกว่า 70 คนอยู่ตรงไหนของสมการนี้

“เราพบว่า เรื่องนี้เป็นหลุมอากาศพอสมควรที่กระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้ถือตัวเลขนี้ และช่วยกันดูเด็กกลุ่มนี้ เราฟังก็ใจหาย ไม่ได้มีใครผิด แต่เป็นหลุมอากาศ กลายเป็นไม่มีใครดู เด็กดีก็กลายเป็นแรงงานเด็ก ส่วนเด็กไม่ดีก็กลายเป็นปัญหาสังคม”

‘โรงเรียนกวดวิชา’ ใกล้ตาย? หมดยุคติวเพื่อทำเกรด ส่วนคนรวยเน้นส่งลูกเรียนเมืองนอกแทน

นอกจากเด็กในสายสามัญ ฝั่งนักเรียนอาชีวะก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ กลุ่มนี้ก็มีบางส่วนหลุดออกจากระบบด้วยเหมือนกัน พี่โหน่งมองว่า ทั้งหมดนี้คือ ปัญหาระดับชาติที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่ต้องเจอกับปัญหาการกระจุกตัวความเจริญในกรุงเทพฯ พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานหาเงินในเมืองใหญ่ เด็กๆ โตมากับปู่ ย่า ตา ยาย หนักกว่านั้น คือ บางบ้านเด็กๆ ต้องอยู่ดูแลกันเอง เพราะคนแก่หมดอายุขัยไปเสียก่อน

ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องร้ายแรงที่ทุกฝ่ายควรมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ในขณะที่ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกครั้งเมื่อผู้ใหญ่ได้รับความเดือดร้อน ทว่า ปัญหาอื่นๆ ที่ยังดำเนินต่อไป และเกิดขึ้นทุกวันกลับไม่มีใครเหลียวแล

สำหรับ “ออนดีมานด์” มีโครงการทุนเปลี่ยนชีวิตให้เด็กๆ ยากจน-ด้อยโอกาสเข้าถึงคอร์สออนไลน์ฟรีได้ 3,000 คน บางส่วนสอบติดคณะแพทยศาสตร์ บางส่วนสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปได้ก็มี

สะท้อนว่า เด็กๆ กลุ่มนี้มีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่โอกาสที่พวกเขาควรจะได้รับหล่นหายไปตรงไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในเครื่องหมายคำถามที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องพิจารณากัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์