หมดอีเวนต์ พักฉลอง ฉุดคนไทยชะลอใช้จ่าย ลุยทำงานเก็บเงินรอบใหม่

พ้นเทศกาลเฉลิมฉลอง คนไทยกลับมาลุยทำงานเต็มสูบ เพื่อเก็บเงินสะสมรอบใหม่สำหรับใช้พักผ่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เบรกการใช้จ่ายเดือนกุมภาพันธ์ลดลง
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) เผยผลสำรวจฉบับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยประเด็นการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย ยังต้องเกาะติดต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคธุรกิจต้องรับมือ วางกลยุทธ์การทำตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการ อำนาจซื้อ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค
สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ลดลง 1% มาอยู่ที่ 66 คะแนน จากเดือนธันวาคมปี 2567 คะแนนอยู่ที่ 67 ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้คนไทยรัดเข็มขัด ระมัดระวังการใช้จ่ายหนีไม่พ้นจากการใช้จ่ายเต็มที่ไปแล้วช่วงปลายปี ต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่
อีกด้านยังเป็นห้วงเวลาที่ต้องกลับมาทำงานเต็มสูบ ไม่มีหยุดยาวให้พักใจ เน้นเก็บเงินสะสมรอพักผ่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง
แม้จะประหยัดการใช้จ่าย หากต้องชอปปิง ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่จะเปย์ให้สินค้าต่างๆ 10 อันดับ เป็นดังนี้
1.อาหาร 21% จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
2.ของใช้จำเป็น 9% เพิ่มขึ้น 1%
3.โทรศัพท์มือถือ 9% ทรงตัว
4.เสื้อผ้า 6% จะใช้จ่ายลดลง 1%
5.ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม 6% จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2%
6.ทานอาหารนอกบ้าน 5% ทรงตัว
7.กระเป็า รองเท้า 5% จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2%
8.เครื่องใช้ไฟฟ้า 4% จะใช้จ่ายลดลง 3% และเป็นการลดลงมากสุดเมื่อเทียบกับทั้ง 10 หมวด
9.ท่องเที่ยวภายในประเทศ 4% จะใช้จ่ายลดลง 3% เท่ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า
10.คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต 3% ทรงตัว
สำหรับความเห็นจากผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ มีดังนี้
-เพศหญิง อายุ 31 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ รายรับไม่เท่าเดิม ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ปัญหาเลิกจ้างก็เยอะ อยากเซฟเงินไว้บางส่วนเผื่อฉุกเฉิน
-เพศหญิง อายุ 40 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพ จ่ายเงินสนับสนุนดาราไทย อยากให้ศิลปินที่ชอบมีคนรู้จักเยอะๆ
เมื่อแยกแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายรายภูมิภาคและแต่ละช่วงอายุ พบว่า “ลดลง” และ “ทรงตัว” ไม่มีกลุ่มใดที่วางแผนจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเลย
สำหรับรายภูมิภาค เป็นดังนี้
-กรุงเทพฯ และปริมณฑล สัดส่วน 68% จะใช้จ่ายลดลง 4%
-ภาคกลาง สัดส่วน 66% จะใช้จ่ายลดลง 4%
-ภาคตะวันออก สัดส่วน 61% จะชะลอการใช้จ่ายลดลง 1%
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 69% จะใช้จ่ายลดลง 1%
-ภาคเหนือ สัดส่วน 64% จะใช้จ่ายทรงตัว
-ภาคใต้ สัดส่วน 68% จะใช้จ่ายทรงตัว
“คนเมืองชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางลดลง 4% เนื่องจากไม่มีอีเวนต์เฉลิมฉลองเหมือนปลายปี ประกอบกับข่าวเลย์ออฟต่อเนื่อง ทำให้พนักงานออฟฟิศเริ่มออมเงินฉุกเฉินมากขึ้น และลดการใช้จ่ายลง”
ส่วนแบ่งตามช่วงอายุเป็นดังนี้
-อายุ 20-29 ปี สัดส่วน 63% จะใช้จ่ายลดลง 3%
-อายุ 30-39 ปี สัดส่วน 66% จะใช้จ่ายทรงตัว
-อายุ 40-49 ปี สัดส่วน 67% จะใช้จ่ายลดลง 1%
-อายุ 50-59 ปี สัดส่วน 68% จะใช้จ่ายลดลง 1%
“ช่วงอายุ 20-29 ปี ยังไม่อยากจับจ่ายในช่วงนี้ เนื่องจากใช้จ่ายสุดเหวี่ยงในช่วงสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา รวมไปถึงเก็บเงินสำหรับการใช้จ่ายช่วงรับปริญญาที่จะมาถึง”
ผลสำรวจยังมีความสนใจในกระแส Thai Made ของผู้บริโภคแต่ละเจนเนอเรชั่นด้วย เมื่อสินค้าไทย 3 หมวด ได้แก่ แฟชั่นไทย เทศกาลและประเพณีไทย และเพลงไทย ครองใจสายเปย์หลากหลายเจนฯ หลากสไตล์
-เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์(Gen X) เพราะอายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับแฟชั่น! แม้ Gen X จะเป็นกลุ่มที่อายุมากที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับแฟชั่นไทยมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ว่าแฟชั่นไทยในปัจจุบันมีคุณภาพใกล้เคียงกับแบรนด์ต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องการแสดงออกถึงความรักสวยรักงามและไม่ยอมจำนนต่ออายุ เพราะอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น
-เจนเนอเรชั่นวาย(Gen Y) เพราะเทศกาลคือช่วงเวลาของครอบครัว! คน Gen Y เปย์จัดเต็มในช่วง เทศกาลไทย เพราะมองว่าช่วงเวลานี้คือโอกาสทองในการรวมตัวกันของครอบครัว ไม่ว่าจะซื้อของขวัญให้ลูก พ่อแม่ หรือพาทุกคนในครอบครัวไปเที่ยว ช่วงเทศกาล คือ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนรอคอยให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน การเฉลิมฉลอง ประเพณี และการทำบุญยังเป็นหัวใจหลักที่ช่วยเชื่อมโยงครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เจนเนอเรชั่นซี(Gen Z) เพราะดนตรีคือสีสันของชีวิต! Gen Z ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ฟัง แต่คนใน Gen นี้ คือแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้ T-Pop พุ่งแรงไม่มีตก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนศิลปินผ่านคอนเสิร์ต แฟนมีต หรือกิจกรรมต่าง ๆ ชาว Gen Z คือ พลังที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการ T-Pop ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง