3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’

บลูมเบิร์กเปิดรายชื่อ 20 ตระกูลสุดอู้ฟู่แห่งเอเชีย "เจียรวนนท์" ครองที่ 2 รองตระกูลอัมบานี อินเดีย ส่อได้ประโยชน์จากภาษีทรัมป์ ‘อยู่วิทยา-จิราธิวัฒน์’ ติดด้วย

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ไม่กี่สัปดาห์หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐรับตำแหน่ง ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ตลอดสี่ปีข้างหน้าย่อมสร้างความโกลาหลให้กับครอบครัวมั่งคั่งที่สุดของเอเชียเช่นกัน

บลูมเบิร์กจัดอันดับ 20 ครอบครัวมั่งคั่งที่สุดของเอเชีย อันดับ 1 ตกเป็นของตระกูลอัมบานีแห่งอินเดีย เจ้าของบริษัท Reliance Industries ซึ่งทำธุรกิจหลายอย่าง ปัจจุบันตกอยู่ในมือของทายาทรุ่นที่ 3 มีความมั่งคั่งสุทธิ 9.05 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่ตระกูลมั่งคั่งอันดับ 2 ตกเป็นของ “ตระกูลเจียรวนนท์” ผู้ก่อตั้งบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ มั่งคั่ง 4.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 4 ดูแลกิจการ

บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีของทรัมป์จะเป็นตัวเร่งเทรนด์ “จีนบวกหนึ่ง” (China Plus One) ให้ต่างชาติย้ายการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทผลิตอาหารในเครือซีพี กรุ๊ป ของตระกูลเจียรวนนท์ น่าจะอยู่ในกลุ่มผู้ได้ประโยชน์

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’

นอกจากเจียรวนนท์แล้วยังมีอีก 2 ตระกูลจากประเทศไทยที่ติด 20 อันดับตระกูลอภิมหาเศรษฐกิจเอเชียในครั้งนี้ด้วยคือ “ตระกูลอยู่วิทยา” แห่งอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังเรดบูล ในอันดับ 8 มั่งคั่ง 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์ และ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” แห่งเครือเซ็นทรัล ในอันดับ 17 มั่งคั่ง 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดอันดับตระกูลมหาเศรษฐีในระดับโลกมาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้น ตระกูลเจียรวนนท์ คว้าอันดับ 19 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 44,100 ล้านดอลลาร์ หากเทียบเฉพาะในเอเชีย (ไม่รวมตะวันออกกลาง) จะเป็นอันดับที่ 3 รองจากตระกูลอัมบานี ของอินเดีย ซึ่งมีความมั่งคั่งสุทธิ 9.96 หมื่นล้านดอลลาร์ และตระกูลฮาร์โตโน จากอินโดนีเซีย ซึ่งมีความมั่งคั่ง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์

ทว่าในการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้ที่ผ่านไปประมาณ 2 เดือน มูลค่าทรัพย์สินของตระกูลฮาร์โตโน ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจยาสูบรายใหญ่แห่งอาณาจักร Djarum Group ลดลงมาอยู่ที่ 4.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้หล่นไปเป็นอันดับ 3 รองจากตระกูลเจียรวนนท์ จากไทย

“ซีพี”รายได้มากกว่างบประมาณรัฐ

กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าตระกูลเจียรวนนท์ ที่มั่งคั่งอันดับ 2 ในเอเชีย มีธุรกิจหลักอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2464 เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการเปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และอุปกรณ์สำหรับการเพาะปลูก 

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’ ธุรกิจบางส่วนของตระกูลเจียรวนนท์

สำหรับซีพีในช่วงที่ผ่านมามีนายธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก และปัจจุบันรับตำแหน่งประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยนายธนินท์ทยอยวางมือจากตำแหน่งสำคัญในซีพีในช่วงก่อนซีพีครบ 100 ปี โดยปัจจุบันมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ ลูกชาย เป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาณคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

ในรายงานความยั่งยืนของซีพี ระบุว่าถึงรายได้ของกลุ่มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 มีรายได้รวม 3.32 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 14% จากรายได้ 2.90 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ปี 2564 มีรายได้ 2.33 ล้านล้านบาท และปี 2563 มีรายได้ 2.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายได้ 1.99 ล้านล้านบาท โดยจะเห็นว่าในช่วงที่มีโควิดระบาดในช่วงปี 2563-2565 รายได้ของซีพียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากพิจารณารายได้ของกลุ่มซีพีในปี 2566 วงเงิน 3.32 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐบาลที่ตั้งไว้ที่ 3.18 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ของซีพีมาจากธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร 56.34% รองลงมาเป็นธุรกิจค้าปลีก 30.32% ธุรกิจสื่อสาร และโทรคมนาคม 7.07% และธุรกิจอื่นๆ 6.27%

รวมทั้งเมื่อดูสัดส่วนที่มาของรายได้พบว่าส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย 47.67% รองลงมาเป็นจีน 41.57% และอื่นๆ 10.76% 

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’ ร้านสะดวกซื้อเบอร์ 1 ใต้อาณาจักรเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ขณะที่ธุรกิจปัจจุบันของซีพีส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในไทยมีสาขา 14,545 แห่ง ในประเทศอื่นมี 85 แห่ง และธุรกิจ Makro ในไทยมี 160 สาขา ในประเทศอื่นมี 8 แห่ง ซึ่งทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 และ Makro ไม่มีสาขาในจีน แต่ในจีนจะมีสาขา Lotus's

กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำห้างลักชัวรีระดับโลก

ตระกูลจิราธิวัฒน์ ขยายอาณาจักร “เซ็นทรัล” มากว่า 76 ปี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของเจเนอเรชันที่ 3 “ทศ จิราธิวัฒน์” เคลื่อนธุรกิจ “กลุ่มเซ็นทรัล” สยายปีกเฟื่องฟูทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ครอบคลุมธุรกิจค้าปลีก และบริการหลากหลายแขนง นอกจากเรือธง “ห้างเซ็นทรัล” ยังมีธุรกิจหลักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริหาร และการตลาดสินค้าแฟชั่น ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ท ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์

นับเป็นกลุ่มทุนสัญชาติไทยรุกเปิดตลาดนอกบ้านที่เรียกได้ว่าสร้างประวัติศาสตร์ค้าปลีกไทยสวนทาง “ค้าปลีกข้ามชาติ” ที่ยุคหนึ่งต่างแห่ยึดสมรภูมิตลาดประเทศไทย และวันนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ก้าวข้ามการแข่งขันสู่ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรีระดับโลกอย่างเต็มตัวหลังเข้ารุกตลาดยุโรปเป็นครั้งแรกปี 2554 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ รีนาเชนเต (Rinascente) ห้างสรรพสินค้าหรูแห่งอิตาลี อายุ 150 ปี ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลเป็นเจ้าของเครือข่ายห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 11 ประเทศ 80 เมือง 120 สาขา และห้างแฟลกชิปหรู 16 แห่ง ในหัวเมืองหลักยุโรป และเอเชีย มียอดขายกว่า 6,700 ล้านยูโร หรือราว 2.6 แสนล้านบาท (ปี 2565)

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’

ทศ จิราธิวัฒน์ นำทัพกลุ่มเซ็นทรัล ผงาดค้าปลีกโลก

ขณะที่อีกธุรกิจเรือธง “เซ็นทรัลพัฒนา” ซึ่งเน้นพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-use Development)สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567มีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงานทั้งหมด 42 โครงการ (ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 40 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 16 โครงการ ต่างจังหวัด 23 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ ศูนย์การค้าเอสพละนาด 1 แห่ง และศูนย์การค้าเมกา บางนา 1 แห่ง) คอมมูนิตี้ มอลล์ 15 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 2.3 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ ยังบริหารศูนย์อาหาร 37 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 อาคาร โรงแรม 10 แห่ง โครงการที่พักอาศัย 39 โครงการ ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ ESCENT, ESCENT VILLE, ESCENT PARK VILLE, PHYLL และ BELLE GRAND RAMA 9 และโครงการแนวราบภายใต้แบรนด์ ESCENT TOWN (ทาวน์โฮม) ESCENT AVENUE (โฮมออฟฟิศ) NINYA (บ้านแฝด) NIYAM (บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี) และโครงการแนวราบหลากหลายรูปแบบภายใต้แบรนด์ NIRATI และ BAAN NIRADA

“ทีซีพี” ขุมทรัพย์เครื่องดื่มชูกำลังหนุนมั่งคั่ง

เมื่อมีการจัดอันดับ “ทำเนียบเศรษฐีโลก” ชื่อชั้นของตระกูลดังของเมืองไทย มักติดโผอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ “ตระกูลอยู่วิทยา” เจ้าของอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ไทย “กระทิงแดง” และแบรนด์ระดับโลก “RedBull”

ธุรกิจของ “ตระกูลอยู่วิทยา” ทั่วโลกถูกผ่องถ่ายให้ “ทายาท” ขับเคลื่อนความมั่งคั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทายาทคนโต “เฉลิม อยู่วิทยา” ถือหุ้นและกุมบังเหียนอยู่ในซีกโลกตะวันตก ร่วมกับนักธุรกิจชาวออสเตรียรุ่นลูกของผู้ปลุกปั้น RedBull ให้ยืนหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังอัดก๊าซของโลก

3 ตระกูลไทยมั่งคั่งท็อป 20 เอเชีย  ‘เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-อยู่วิทยา’ เรดบูลทำตลาดในจีน

ขณะที่ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” และพี่น้องดูแลตลาดในซีกโลกตะวันออกทั้งฐานทัพการผลิตในประเทศไทย ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

RedBull ในโลกตะวันตก ทำยอดขายทะลุกว่า “หมื่นล้านกระป๋อง” ในฝั่งตะวันออก ภายใต้การนำของ “กลุ่มธุรกิจทีซีพี”(TCP) เบ่งการเติบโตไม่แพ้กัน จากสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ วิตามิน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มเกลือแร่ ฯลฯ ซึ่งตามเป้าหมายเดิมที่บริษัทตั้งไว้ ปี 2568 จะต้องทำเงินทะยานสู่ “แสนล้านบาท”

กลุ่มธุรกิจทีซีพี ยังรุกหนักตลาดใหญ่อย่าง “แดนมังกร” ซึ่งไปลงทุนหลัก “หลายหมื่นล้านบาท” สร้างโรงงานผลิตเรดบูลแห่งที่ 3 ในประเทศจีน เพื่อชิงขุมทรัพย์เครื่องดื่มชูกำลัง 3 แสนล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์