ตลาดรีเซลสนีกเกอร์ล่มสลาย ? แพลตฟอร์มออนไลน์แห่ขายล้างสต๊อก

สินค้า “รีเซล” เคยเป็นตลาดใหญ่ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ขาย โดยเฉพาะ “สนีกเกอร์” แต่ล่าสุดกำลังเข้าสู่ขาลงเพราะลูกค้าไม่อินเลยขายไม่ออก จนบางบริษัทล้มละลาย
เหล่าสนีกเกอร์เฮดคงจะคุ้นเคยกันดีสำหรับการ “รีเซล” โดยเฉพาะเวลามีรองเท้าผ้าใบหายากหรือมีจำนวนจำกัดที่ไม่สามารถหาซื้อตามหน้าร้าน ในอดีตมักจะมีคนคอยรับหิ้ว แต่ในช่วงหลังมานี้ก็สามารถไปตามหาได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่มีไว้ขาย “สินค้ามือสองสภาพดี” โดยเฉพาะได้ แต่ก็ต้องทำใจว่าบางคู่ราคาอาจพุ่งสูงขึ้นเกิน 50% ยกตัวอย่างรองเท้า Puma Speedcat ในไทยที่มีราคาป้ายอยู่ที่ 3,800 บาท แต่ขายจนหมดเกลี้ยง และหลังจากนั้นไม่นานทั้งในร้านค้าออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็นำรองเท้ารุ่นดังกล่าวมาขายต่อโดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งราคาจะแตกต่างกันออกไปตาม สี ไซซ์ ความหายาก และการตั้งราคาของพ่อค้าแม่ค้า
แม้ว่าที่ผ่านมาสินค้ารีเซลอาจเรียกได้ว่าอยู่ในยุครุ่งเรืองเพราะหลายแบรนด์ต่างก็พากันออกรองเท้าที่เน้นดีไซน์แปลกใหม่ มีสีสันแปลกตา และบางรุ่นก็เป็นการร่วมงานกันระหว่างแบรนด์กับเซเลบริตีด้วย เช่น ไนกี้ กับ จีดราก้อน หรือ ทราวิส สก็อตต์ ทำให้ความต้องการของตลาดพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในหมู่นักสะสม แต่ด้วยความที่แบรนด์ไม่ได้ผลิตสินค้ามาได้มากพอกับความต้องการของผู้บริโภคจึงทำให้กลายเป็นเรื่องของความเร็ว ที่ไม่ได้มีแค่คนที่ซื้อไปใส่เองเท่านั้น แต่ยังนำไปขายต่อจนทำให้การรีเซลกลายเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ
แต่ทุกวันนี้ตลาดรองเท้าผ้าใบมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้นแถมยังเริ่มเข้ามาแบ่งเค้กจากเจ้าตลาดอย่าง ไนกี้ และ อาดิดาส ไปได้ด้วย เช่น ออน, เอสิกส์ หรือ นิวบาลานซ์ ที่เน้นความสบายเป็นหลัก
ด้วยความที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จนทำให้ความต้องการรองเท้าเน้นดีไซน์หรือรองเท้าหายากที่เรียกว่าเป็นของแรร์เริ่มมีความต้องการลดลงแม้แต่ “จอร์แดน” ที่ในอดีตเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่หาซื้อยากและต้องต่อคิวเป็นวัน
แน่นอนว่าเมื่อความต้องการของลูกค้าลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ขาย โดยตลาดรีเซลสนีกเกอร์ยักษ์ใหญ่ฝั่งยุโรปอย่าง “Restocks” ของเนเธอร์แลนด์และ “Kikikickz” จากฝรั่งเศส ยื่นฟ้องล้มละลายไปแล้วเรียบร้อยแต่อาจไม่เป็นที่สังเกตเพราะทั้งสองบริษัทยังคงขายรองเท้า Jordan และ Yeezys อยู่ รวมถึงยังทำคอนเทนต์บน TikTok ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพวกเขาปิดตัวลงและขายทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้
การปิดตัวลงของทั้งสองบริษัทอาจจะเหมือนเรื่องใหม่สำหรับคนที่อยู่นอกวงการ แต่สำหรับสาวกสนีกเกอร์นั้นพวกเขามองว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายเดือนที่ผู้ใช้เว็บไซต์ทั้งสอง เริ่มพูดคุยกันถึงประเด็นด้านความกังวลเกี่ยวกับคำสั่งซื้อหรือเงินคืนที่ไม่ได้รับ และเงินที่ค้างชำระอีกรวมหลายล้านยูโร จนเกิดการตั้งกลุ่ม Anti Restocks.Net บนเฟซบุ๊กขึ้นมา และมีสมาชิกมากกว่า 3,000 คน เพื่อให้ผู้เสียหายได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเงินและรองเท้าที่พวกเขายังไม่ได้รับการชดเชย
ไม่ใช่แค่รายใหญ่เท่านั้นแต่แพลตฟอร์มรีเซลที่มีขนาดย่อมลงมาเช่น The Edit Ldn ที่แม้จะได้รับการสนับสนุนด้วยทุนของบริษัทเอกชน ก็ยังต้องลดราคาล้างสต๊อกสินค้าไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับแพลตฟอร์มชื่อดังอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น StockX, Stadium Goods และ GOAT ก็ต้องใช้วิธีนำสินค้าอย่างอื่นเข้ามาขายเพิ่มเพื่อให้กิจการยังดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะสินค้าแนวสตรีทแวร์ระดับไฮเอนด์ เช่น StockX ที่ขายทุกอย่างตั้งแต่การ์ดสะสมไปจนถึงเครื่องเล่น PlayStation
ถึงแม้ StockX จะพยายามขายทุกอย่างบนโลกนี้ที่ขายได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดสนีกเกอร์ที่อยู่ในสภาพร่อแร่ได้ เพราะในเดือนมกราคมที่ผ่าน ทางบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานไป 40 คน แม้แต่ ดีน่า บาห์รี (Deena Bahri) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดก็ลาออกไปด้วยเหมือนกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทต้องการปรับโครงสร้างใหม่
หากมองถึงตลาดสนีกเกอร์มือสองโดยรวมในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะไม่ส่งผลดีกับผู้ขายมากนัก โดยเฉพาะภาพรวมของตลาดขนาดกลางที่ปริมาณการซื้อยังลดลงตั้งแต่ปี 2023 และถ้าราคายังดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เจ้าของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน
เอริค วิทเชน (Eric Witschen) ผู้ก่อตั้ง Neustreet แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ซื้อขายสินค้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ StockX, GOAT, Stadium Goods และ Flight Club กล่าวว่า “ผู้เล่นในตลาดรีเซลต้องเจอกับความเจ็บปวดอย่างมาก การขายในปริมาณมากนั้นไม่มีความหมายถ้าไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป”
ตลาดรีเซลเริ่มกลายเป็นธุรกิจใหญ่ตั้งแต่ช่วงปี 2010 เมื่อแบรนด์เจ้าตลาดเริ่มหันมาใช้โมเดลหายาก มีการออกแบบที่ซับซ้อน และการออกรองเท้ารุ่นลิมิเตดที่มีจำนวนน้อยมากๆ เพื่อสร้างกระแสให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะ Jordan และ Yeezy รุ่นหายากที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้นจนถึงจุดสูงสุดในปี 2022 เพราะนักสะสมบางส่วนเริ่มมองว่าถึงแม้จะมีสินค้าออกวางจำหน่ายหลายแบบแต่ก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย
แต่หลังจากนั้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้ง “ไนกี้” และ “อาดิดาส” ต่างก็เร่งการผลิตรองเท้ารุ่นต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ ทำให้การรีเซลไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะลูกค้าสามารถหาซื้อได้จากหน้าร้านหรือร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่รับของจากแบรนด์ไปจำหน่าย และจ่ายในราคาตามป้าย
การเติมสต๊อกของแบรนด์ดังทั้งหลายไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับ Kikikickz เท่านั้น แต่แพลตฟอร์มรีเซลรองเท้าขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่เพิ่งเข้ามาในช่วงที่กระแสรองเท้ากำลังพีคแบบทุ่มสุดตัวและลงทุนไปด้วยเม็ดเงินมหาศาล ต้องขาดทุนอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการกู้ยืมเงินและสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ และอาจจะยิ่งประสบปัญหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคตหากตลาดรีเซลไม่ฟื้นตัว ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบนี้ย่อมส่งผลไปถึงผู้เล่นรายใหญ่ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : Business of Fashion