อีเวนต์แน่น ‘เดือนแห่งความรัก’ ดันยอด ‘ไทยเที่ยวไทย’ 16.5 ล้านคน ฝ่าวิกฤติฝุ่น PM

'ททท.' ตั้งเป้าหมายตลาด 'ไทยเที่ยวไทย' ตลอดปี 2568 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 205 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.17 ล้านล้านบาท เมื่อดูภาพรวมช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) คาดมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสะสม 33.93 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีรายได้สะสม 169,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เฉพาะเดือน “ก.พ. 2568” คาดแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้ จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 16.45 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2% ก่อให้เกิดรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 81,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
สำหรับแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยรายภูมิภาค พบว่า เกือบทุกภูมิภาคมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้ โดยภูมิภาคที่ได้รับความนิยมจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยมากที่สุดในเดือน ก.พ. แบ่งเป็น “ภาคกลาง” และ “ภาคตะวันตก” คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 5.50 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 17,530 ล้านบาท
ส่วน “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีจำนวน 2.71 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 8,910 ล้านบาท “กรุงเทพฯ” มีจำนวน 2.26 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 13,200 ล้านบาท “ภาคเหนือ” จำนวน 2.18 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 15,480 ล้านบาท “ภาคตะวันออก” จำนวน 1.97 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 13,270 ล้านบาท และ “ภาคใต้” จำนวน 1.83 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 12,860 ล้านบาท
ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “ปัจจัยสนับสนุน” การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ มี 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันหยุดวันมาฆบูชา หลายพื้นที่ยังมีการจัดงานเทศกาลตรุษจีนต่อเนื่องยาวถึงต้นเดือน ก.พ. เอื้อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมบิ๊กอีเวนต์ของ ททท. เช่น ถนนเยาวราช และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ขณะที่วันหยุดวันมาฆบูชา ได้รับแรงหนุนจากการเดินทางเข้ามาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่อัญเชิญมาจากวัดหลิงกวง ประเทศจีน มาประดิษฐานในไทยเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2567 – 14 ก.พ. 2568
2.ฤดูท่องเที่ยวเส้นทางสายดอกไม้ที่กำลังบาน โดยในเดือน ก.พ. เป็นช่วงที่ นางพญาเสือโคร่ง เจ้าของสมญา “ซากุระเมืองไทย” รวมถึง เมเปิ้ล ชมพูพันธ์ทิพย์ บัวแดง ทุ่งเก๊กฮวย กำลังบาน ประกอบกับบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็นในหลายพื้นที่ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ การตั้งแคมป์ ชมทะเลหมอกและดอกไม้ ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้บรรยากาศคึกคักต่อเนื่องจากเดือน ม.ค. โดยข้อมูลของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ระบุว่าในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมความงามของดอกไม้ประมาณ 250,000-300,000 คน
3.การจัดกิจกรรมส่งเสริม “Soft Power เสน่ห์ไทย” ของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมไทย กระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ
4.กระแสการท่องเที่ยวสวนสัตว์ ทั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี และสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ ที่ยังมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความนิยมของ “หมูเด้ง” และ “เอวา” โดยในเดือน ม.ค. 2568 สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีผู้เข้าชม 141,439 คน เพิ่มขึ้นกว่า 58% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
5.การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวด้วยรถไฟ โดย ททท. ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดโปรแกรมท่องเที่ยวทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลอดเดือน ก.พ. ในรูปแบบวันเดย์ทริป (One Day Trip) และพักค้าง 2 วัน 1 คืน ด้วยขบวนรถไฟ รอยัล บลอสซัม (Royal Blossom) เส้นทางเพลินเพชรบุรี และขบวนรถไฟ KIHA 183 เส้นทางกรุงเทพฯ ไปยัง สระบุรี ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และกาญจนบุรี และ 6.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “Easy E-Receipt 2.0” ในปี 2568
ด้าน “ปัจจัยอุปสรรค” ได้แก่ 1.ปัญหาค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้คนไทยยังคงระมัดระวัง และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือน ก.พ. ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
2.ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ทำให้คนบางกลุ่มหลีกเลี่ยงการเดินทางออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น และงดทำกิจกรรมท่องเที่ยวกลางแจ้ง
และ 3.การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดหมายปลายทางยอดนิยม อาทิ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพราะมีแรงสนับสนุนจากอากาศที่หนาวเย็นในต่างประเทศ การอ่อนค่าของเงินเยน มาตรการยกเว้นวีซ่าทั้งจีนและไต้หวัน
รวมทั้งการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - ฮาร์บิน ประเทศจีน จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2567 – 8 ก.พ. 2568 และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ – เกาสง (ไต้หวัน) – โอกินาว่า (ญี่ปุ่น) จำนวน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป