ทำไม โออิชิ ส่ง 'ชาบูชิ อิชิเทน' แฟลกชิปสโตร์ ชิงตลาดชาบู-สุกี้ ที่สุดเดือด!

ทำไม โออิชิ ส่ง 'ชาบูชิ อิชิเทน' แฟลกชิปสโตร์ ชิงตลาดชาบู-สุกี้ ที่สุดเดือด!

ชาบู-สุกี้ หรือ ตลาดสุกี้หม้อต้ม แข่งขันรุนแรงทุกแบรนด์เร่งโหมทำการตลาด โออิชิ ส่ง “ชาบูชิ อิชิเทน” แฟลกชิปสโตร์ สาขาแรก วัน แบงค็อก ชิงตลาด เล็งขยายสาขาใหม่เพิ่มในปี 2568 เพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

ส่องตลาดอาหารที่กำลังมาแรงในประเทศไทยกับ ชาบู-สุกี้ หรือ ตลาดสุกี้หม้อต้ม มีมูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นสมรภูมิธุรกิจอาหารที่มีการแข่งขันดุเดือด ทั้งแบรนด์ใหญ่ในตลาดที่เร่งปรับแผนครั้งใหญ่ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงการมีหลายแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาช่วงชิงตลาดได้ในหลายทำเล ทั้งเน้นกลยุทธ์ในเรื่องราคา และการเปิดให้บริการที่ดึกมากขึ้น ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันดุเดือดอีกแบรนด์ในตลาด ชาบู-สุกี้ ที่อยู่ในตลาดมายาวร่วม 24 ปี กับ “ชาบูชิ” (Shabushi) จากค่ายโออิชิ ภายใต้กลุ่มไทยเบฟ ได้เร่งเครื่องขยายธุรกิจในปี 2568 เช่นกัน

 

ทั้งนี้ภาพรวมแบรนด์ ชาบูชิ ตลอดการเข้ามาทำตลาด ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดที่พลิกผันรวดเร็ว

  • ยุคแรกของแบรนด์  “ชาบูชิ” (Shabushi) เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 มาในรูปแบบร้านขนาดใหญ่ มีจำนวน 2 สายพาน และมีที่นั่งจำนวนกว่า 100 ที่นั่ง สาขาแรกกับเดอะมอลล์ บางกะปิ
  • ยุคสองกับการไปสู่ร้านที่มีร้านพรีเมียม มาในราคา 3 แบบ โดยเปิดให้บริการทั้งในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นต้น

  • ยุคสามกับการเปิดคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เปิดให้บริการยาวนานขึ้น ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จนถึง 24.00 น.

  • ยุคสี่ขยายไปสู่การเปิด ชาบูชิ ที่เป็นร้านขนาดเล็กลง มีจำนวน 40-50 ที่นั่ง เพื่อรองรับการเปิดสาขาใหม่ได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สาขาในโมเดลนี้มีในศูนย์การค้า แฟชั่นไอส์แลนด์ ที่มีจำนวน 2 สาขา ในศูนย์การค้าแห่งเดียว

ทำไม โออิชิ ส่ง \'ชาบูชิ อิชิเทน\' แฟลกชิปสโตร์ ชิงตลาดชาบู-สุกี้ ที่สุดเดือด!

 

รวมถึงในปัจจุบันได้ขยายสู่ “ชาบูชิ อิชิเทน” (Shabushi ICHITEN) โดยเป็นสาขาแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก อยู่ในโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่กับ วัน แบงค็อก (One Bangkok) โดยดีไซน์ร้านในแบบใหม่ และการใช้สีสันใหม่ในการแต่งร้าน เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างมากขึ้น ทั้งลูกค้ากลุ่มที่เด็กลงในเจนใหม่และลูกค้าประจำ ซึ่งเลือกสาขาแรกที่ วัน แบงค็อก เนื่องจากเป็นแลนด์มาร์คของ กทม. สามารถใช้ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้มากขึ้น 

ทั้งนี้สาขาแรกที่ วัน แบงค็อก เน้นนำเสนอรูปแบบร้านที่มีความสนุกสนานและความสดใส พร้อมคงเอกลักษณ์การเป็นอาหารสไตล์ญี่ปุ่น มีทั้งชาบู - ชาบู สุกี้หม้อไฟ และซูชิ ข้าวปั้นหน้าต่างๆ รวมมากกว่า 100 รายการ  กำหนดราคาบุฟเฟต์เริ่มต้นที่ 499 บาท+ ไปจนถึง 599 บาท+ 

นางสาวศสัย ตังเดชะหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “ชาบูชิ” (Shabushi) มุ่งเจาะตลาดแมส เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้าง ส่วน “ชาบูชิ อิชิเทน” (Shabushi ICHITEN) เน้นตลาดพรีเมียมแมส เพื่อนำเสนอประสบการณ์และกิจกรรมการรับประทานอาหารที่แตกต่างและพิเศษมากขึ้น

สำหรับการรุกธุรกิจอาหารในปี 2568 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 67 – 30 ก.ย. 68) “ชาบูชิ อิชิเทน” มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และคัดเลือกทำเลที่เหมาะสม ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดและกลยุทธ์ของแบรนด์ เพื่อให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

รวมถึงแบรนด์ “ชาบูชิ” มีแผนขยายสาขาเพิ่มเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาทำเลที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของแบรนด์ ซึ่งบริษัทได้กำหนดงบประมาณการลงทุนต่อสาขาในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการขยายธุรกิจ

สำหรับภาพรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) โออิชิ โฮลดิ้ง มีร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือทั้งหมด 284 สาขา โดย “ชาบูชิ” มีจำนวนมากที่สุด 185 สาขา สะท้อนแบรนด์ที่ยังมีความแข็งแกร่ง และความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อ ชาบู – ชาบู บุฟเฟต์สายพาน ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาบูชิ

"ชาบูชิ เป็นแบรนด์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในเครือ แสดงถึงศักยภาพในการขยายตัวในกลุ่มตลาดแมส ซึ่งตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมอาหารบุฟเฟต์ในราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งยังสะท้อนบริษัทที่พัฒนาโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายสาขาได้ต่อเนื่อง" 

 

ทำไม โออิชิ ส่ง \'ชาบูชิ อิชิเทน\' แฟลกชิปสโตร์ ชิงตลาดชาบู-สุกี้ ที่สุดเดือด!