‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้

เพราะเห็นโอกาสในวิกฤติ จึงเกิดเป็น “ตลาดเซฟวัน” ย้อนรอยจุดเริ่มต้นตลาดกลางคืนใหญ่สุดในภาคอีสาน เกิดได้เพราะล้มจากธุรกิจเดิม หันไปเปิดท้ายขายของกระทั่งผุดไอเดียเปิดตลาดเป็นของตัวเอง ด้านรุ่นลูกสานต่อ “ตลาดเซฟวันโก” คนเดินแน่น-พ่อค้าแม่ขายจองที่ฉ่ำๆ

KEY

POINTS

  • “ตลาดเซฟวันโคราช” ตลาดกลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ปัจจุบันมีรายได้ทะลุร้อยล้านบาท ก่อตั้งและบริหารโดยอดีตเจ้าของธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างที่เจอมรสุมจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้งจนติดหนี้กว่า 60 ล้านบาท
  • “รัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ” เจ้าของตลาดเซฟวันโคราช ผุดไอเดียเปิดตลาดนัดในช่วงหลังวิกฤติทางการเงิน จากการที่ตนเองได้มีโอกาสเปิดท้ายขายของและพบว่า การจัดการของตลาดไม่ดีเท่าที่ควร
  • ปัจจุบัน “อธีตะ สราธิวัฒน์ประไพ” ลูกชายคนโตของรัตนไชย คือหนึ่งในผู้บริหารตลาดเซฟวันโก ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าแยก คปอ. มีทราฟิกหนาแน่นทุกวัน

27 ปี คืออายุของ “ตลาดเซฟวัน” ตลาดนัดกลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ไม่มีคนโคราชบ้านเอ๋งคนไหนไม่รู้จักไนท์ไลฟ์บนพื้นที่ 100  ไร่แห่งนี้ เมื่อพลิกดูรายได้ของ “บริษัท ตลาดเซฟวัน จำกัด” พบว่า ทำเงินทะลุร้อยล้านบาทติดต่อกันหลายปีแล้ว

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น “ตลาดเซฟวัน” ไม่ได้มีที่มาจากคนโคราชแต่กำเนิด ทว่า “รัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของตลาดเซฟวันเกิดและโตที่กรุงเทพฯ ต่อมาจึงได้มีโอกาสลงหลักปักฐานมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่โคราชหลังเรียนจบแล้ว

ตอนนั้น “รัตนไชย” ไม่ได้คาดคิดว่า เกือบ 30 ปีให้หลัง เขาจะกลายเป็นนักธุรกิจร้อยล้าน จาก Pain Point ที่ได้ประสบพบเจอเมื่อครั้งเปิดท้ายขายของในตลาดนัด ซึ่งสาเหตุที่รัตนไชยตัดสินใจเปิดกรุขายสมบัติส่วนตัว เกิดจากมรสุมเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เขาเปรียบเปรยว่า วิกฤติครั้งนั้นราวกับกำลัง “ล้มบนหิน” ซ้ำร้ายยังยังกลิ้งตกลงไปในหุบเหวอีกด้วย

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้ -บรรยากาศภายในตลาดเซฟวันโคราช-

ทำตลาดเพราะธุรกิจเจ๊ง ปล่อยผู้รับเหมาเซ็นจนต้องแบกหนี้เสียไว้เอง

ก่อนจะเป็นตลาดนัดร้อยล้านที่กลายเป็น “Role Model” ของตลาดนัดกลางคืนหลายแห่งในไทย รัตนไชยทำธุรกิจเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างมาก่อน เขามุ่งหน้าสวมหมวกเถ้าแก่ทันทีหลังเรียนจบ เพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ลูกชายในครอบครัวคนจีนต้องทำการค้า ด้วยจังหวะชีวิตที่พี่สาวทั้งสองคนของรัตนไชยแต่งงานและย้ายมาปักหลักที่โคราช เขาจึงตัดสินใจมาเริ่มต้นทำธุรกิจที่นี่ด้วย โดยนำโฉนดที่ดินอาคารพาณิชย์ของพ่อแม่มาค้ำประกันเพื่อหาเงินลงทุน 

ร้านขายวัสดุก่อสร้าง คือธุรกิจแรกสุดที่รัตนไชยเลือกทำ แต่เปิดไปได้สักระยะก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ตอนนั้นวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ลุกลามบานปลายจนกระทบกับธุรกิจของรัตนไชยเข้าอย่างจัง ด้วยความเป็นมือใหม่หัดทำธุรกิจจึงไม่ได้วางแผนจัดระบบหลังบ้านรัดกุมเท่าที่ควร

“รัตนไชย” บอกว่า การทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างกับผู้รับเหมา หากค้าขายด้วยเงินสดเพียงอย่างเดียวมักจะได้ยอดไม่ต่อเนื่อง ระยะหลังจึงใช้วิธี “ปล่อยเครดิต” พูดง่ายๆ ก็คือ ให้บรรดาผู้รับเหมาเซ็นไว้ก่อนแล้วค่อยมาจ่ายทีหลัง

เมื่อปล่อยเครดิตไปมากๆ ประจวบเหมาะกับวิกฤติการเงินที่กำลังคืบคลานเข้ามา ครั้นจะเรียกข้าวของกลับคืนมาจากผู้รับเหมาก็ไม่ทันการเสียแล้ว อิฐ หิน ปูน ทราย ถูกแปรสภาพจนไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ทำให้เกิดหนี้เสียตามมา ขาดสภาพคล่อง ปัญหาสะสมเพิ่มขึ้นจนทำให้ท้ายที่สุด “รัตนไชย” ต้องสูญเสียอาคารพาณิชย์ของพ่อแม่ที่ติดจำนองไว้กับสถาบันการเงิน พร้อมกับหนี้ก้อนโตอีกราวๆ 60 ล้านบาท

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้ -รัตนไชย สราธิวัฒน์ประไพ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของตลาดเซฟวันโคราช-

ชีวิตของรัตนไชยต้องเผชิญกับเจ้าหนี้ที่มายืนรอหน้าบ้านทุกวัน พร้อมกับการเดินสายไปประนอมหนี้ พอตกเย็นก็นำข้าวของส่วนตัวที่มีไปเปิดท้ายขายของที่ตลาดนัด วิกฤติลูกใหญ่ที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดนัดเปิดท้ายขายของในเวลานั้นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กระทั่งคนดูแลตลาดก็รับมือไม่ทัน เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารตามมากมาย 

ไม่รู้เป็นเพราะจิตวิญญาณแบบ “เถ้าแก่” ของรัตนไชยด้วยหรือไม่ ทำให้เขาคิดขึ้นมาว่า แทนที่จะคอยจองล็อกขายของทุกๆ วัน ทำไมไม่ลองเป็นคนทำตลาดเองเลยล่ะ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้คิดจะยึดการทำตลาดไปโดยตลอด เพียงแต่เป็นแผนกว้างๆ เพื่อเก็บเงินรอทำธุรกิจใหม่ก็เท่านั้น

“รัตนไชย” ตระเวนดูทำเลทั่วโคราช จนมาเจอกับ “ห้างเซฟวัน” ห้างท้องถิ่นที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ลานจอดรถกว้างๆ ในพื้นที่ดูโล่งขึ้นมาทันตา เขาเขียนแผนธุรกิจไปเสนอกับห้างเพื่อแบ่งรายได้คนละครึ่ง ห้างเซฟวันตอบตกลง เป็นอันได้ฤกษ์ตัดริบบิ้นเปิดตลาดเซฟวันโคราชเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้

มีตลาดเกิดใหม่-ปิดตัวทุกวัน แต่ “เซฟวัน” ยังอยู่ได้ เพราะไม่เคยหยุดพัฒนา

ทุกวันนี้การทำตลาดกลางคืนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีตลาดนัดที่เน้นของกินสตรีทฟู้ดเกิดขึ้นทุกวัน แต่เพราะอะไร “ตลาดเซฟวัน” ถึงยังอยู่ได้นานเกือบสามทศวรรษ “รัตนไชย” บอกว่า การทำตลาดต้องมีจิกซอว์หลายชิ้น ให้น้ำหนักไปที่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ตลาดเกิดใหม่ส่วนมากเน้นไปที่ของกินสตรีทฟู้ด แถมยังมีขนาดเล็กกว่า ที่ผ่านมามีตลาดคล้ายๆ เซฟวันผุดขึ้นจำนวนมาก แต่ทุกครั้งก็จะเข้าสู่วัฏจักรเดิม คือปิดตัวและเปิดใหม่สลับกันไป

หัวใจสำคัญของการจัดการแบบตลาดเซฟวัน คือความหลากหลาย หลากหลายในที่นี้ไม่ใช่แค่ประเภทสินค้า แต่หมายถึงความเก๋าเกมในเชิงวิธีคิด ตลาดอื่นๆ แผงขายของอาจมีเจ้าประจำ แต่ที่เซฟวันไม่มีคำว่า แผงประจำ ต้องสลับล็อกเพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกน่าเบื่อจำเจ โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มสำหรับจองล็อกอำนวยความสะดวกให้คนค้าขาย ระบุจำนวนล็อก ประเภทร้านค้า กดโอนเงินจองค่าแผงเป็นอันเสร็จสิ้น

ในส่วนของลูกค้า “ตลาดเซฟวัน” มีซูเปอร์แอปให้บริการเดลิเวอรีกับลูกค้าภายในตลาด มีให้กดบริการไดร์ฟทรู (Drive-thru) มีบริการจองนัดกับร้านเสริมสวยต่างๆ รวมถึงยังมีฟีเจอร์ค้นหาประเภทร้านค้าที่ต้องการด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากแก่นแกนธุรกิจที่ “รัตนไชย” มองว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าโปรดักต์ ถ้าโปรดักต์ดี โปรโมชันก็ไม่ใช่สารัตถะ 

“ทำธุรกิจต้องใช้ความอดทน ต้องสานสัมพันธ์กับลูกค้า เน้นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ อย่าเพิ่งดูเรื่องเงินหรือกำไร ถ้าสินค้าดี บริการดี เดี๋ยวเงินและกำไรจะตามมาเอง ถ้าทำแล้วล้มเหลวให้ตระหนักไว้เสมอว่า ความล้มเหลว คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ การลองผิดลองถูกเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจอยู่แล้ว”

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้

รุ่นลูกแปะมือ ติดปีก “ตลาดเซฟวันโก” ที่กรุงเทพฯ

ตลาดเซฟวันโคราชประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ส่วนตลาดเซฟวันโกใกล้ๆ กรุงเทพฯ ที่เพิ่งเปิดทำการได้เพียง 1 ปีเศษๆ ก็ไม่ใช่ตลาดชื่อคล้ายของใครอื่นไกล ก่อตั้งและบริหารโดย “อิง-อธีตะ สราธิวัฒน์ประไพ” ลูกชายคนโตของ “รัตนไชย”

เขาระบุว่า ที่ผ่านมาเพื่อนๆ มักเรียกตนเองว่า “เสี่ยอิง” จากการเป็นลูกเจ้าของธุรกิจตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แต่หลังจากนี้เขาต้องการปั้นธุรกิจตลาดด้วยตนเองพร้อมกับหุ้นส่วนอีก 3 คน

หากใครเคยไปตลาดเซฟวันโกก็อาจจะพอประมวลผลคร่าวๆ ได้ว่า “อธีตะ” น่าจะเข้าใกล้คำว่า สำเร็จด้วยฝีมือตนเองอย่างที่เคยตั้งเป้าไว้แล้ว เพราะแทบจะไม่มีวันไหนที่ล็อกขายของในตลาดถูกปล่อยว่างแม้แต่ล็อกเดียว

จากการสำรวจของ “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่า แผงขายของในตลาดเซฟวันโกเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทุกๆ วันพ่อค้าแม่ค้าจะต้องทำการจองแผงขายของด้วยระบบเดียวกับตลาดเซฟวันโคราช คือมีการสลับสับเปลี่ยนล็อกขายของไปเรื่อยๆ แบบไม่มีล็อกประจำ 

ระบบที่หนาแน่นทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องปฏิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ในการจองล็อกขายของ “ตลาดเซฟวันโก” มีระบบให้ดาวกับร้านค้าผ่านหลายตัวชี้วัด อาทิ ความอร่อย ความสะอาด มารยาท ฯลฯ ยิ่งได้ดาวเยอะ คะแนนเยอะ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการจองล็อก ทราฟิกที่หนาแน่นของลูกค้าในทุกๆ วัน ทำให้ความทรหดในการกดจองแผงผ่านระบบถูกลดทอนลงไป แลกมากับจำนวนลูกค้าและรายได้ต่อวัน ก็นับว่า ทั้งคนขายและเจ้าของตลาดต่างสมประโยชน์กันทั้งคู่

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้ -(จากซ้ายไปขวา) ซุง-ศตาวิน นาคทองเพชร และอิง-อธีตะ สราธิวัฒน์ประไพ สองผู้ก่อตั้งตลาดเซฟวันโก เครดิตภาพจาก Thairath Online-

สมการนี้ยังส่งผลดีกับลูกค้าด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดาหรือวันเสาร์อาทิตย์ ทุกแผงในตลาดเซฟวันโกไม่เคยว่าง จะหายไปก็มีอยู่เหตุผลเดียว คือของที่ขายหมดเกลี้ยงก่อนเวลาปิดเสียอีก ขณะเดียวกันระบบให้ดาวของตลาดเซฟวันโกก็เคยมีดราม่าเกิดขึ้นทำนองว่า นี่คือระบบโรงงานนรกที่ไม่เอื้อให้พ่อค้าแม่ค้าได้หยุดพัก หากหยุดไปก็จะทำให้ดาวลดลง ส่งผลกับการจองล็อกในวันถัดมา

เรื่องนี้ “อธีตะ” เคยออกมาชี้แจงว่า ระบบกลางเรื่องการให้ดาวไม่เคยตัดคะแนนในกรณีที่ร้านค้าต้องการหยุด เพียงแต่ร้านอื่นๆ ที่ยังขายตามปกติจะมีเวลาสะสมดาวได้มากขึ้น เมื่อร้านค้าที่หยุดไปกลับมาขายใหม่ก็อาจจะโดนร้านอื่นๆ ทำคะแนนแซงไปแล้ว คะแนนต่ำกว่าจึงมีโอกาสจองล็อกขายของได้น้อยกว่านั่นเอง ยอมรับว่า กฎระเบียบดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นกฎกลางบังคับใช้กับทุกคน

สำหรับรายได้ของ “บริษัท ตลาดเซฟวัน จำกัด” มีรายละเอียด ดังนี้

ปี 2566: รายได้ 156 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.7 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้ 122 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 24 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.8 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 87 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.5 ล้านบาท

‘ตลาดเซฟวัน’ ทำอย่างไรจึงมีรายได้ ‘150 ล้าน’ เปิดมา 30 ปี ยังไม่มีใครล้มได้

ส่วน “บริษัท เซฟวัน โก จำกัด” ของรุ่นลูก เพิ่งเปิดมาได้เพียง 1 ปีเศษๆ รายได้ปี 2566 อยู่ที่ 5.8 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1.3 ล้านบาท น่าจับตามองต่อไปว่า การเติบโตของเซฟวันโกภายใต้การบริหารของทายาทตลาดเซฟวันจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวันไหนที่ตลาดเซฟวันโกเงียบเหงา โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ทราฟิกเนืองแน่นเย็นจรดค่ำ

“อธีตะ” เคยออกมาบอกกับผู้ติดตามในช่อง TikTok ว่า ตนและเพื่อนไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน จึงอาจจะเกิดความผิดพลาดไปบ้าง แต่ทันทีที่ได้รับฟีดแบ็กก็นำมาปรับปรุงทันที ไม่เคยนิ่งนอนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลานจอดรถทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ห้องน้ำ โต๊ะนั่งกินอาหาร

การปรับตัวอยู่เสมอและใช้โซเชียลมีเดียในการฟังเสียงผู้บริโภค ทำให้ “ตลาดเซฟวันโก” น่าจะยืนระยะตามรอยผู้พ่อ เป็น “ลูกไม้ใต้ต้น” ได้ไม่ยาก

 

อ้างอิง: นิตยสารกรุงไทย SME Focus, TikTok: IngAteeta