11 ปี 'ชินคันเซ็น ซูชิ' จิ๊กซอว์เคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายยอดขาย 5,000 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นหาอะไรทำในวัยนักศึกษา จึงคลอดธุรกิจตอนปี 3 และความตั้งใจจะเปิดร้าน "ชินคันเซ็น ซูชิ" เล็กๆ ปัจจุบันก้าวย่างสู่ปีที่ 11 "ชนวีร์ หอมเตย" และ "ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล" สร้างอาณาจักรร้านอาหารญี่ปุ่น "พันล้านบาท" และอีก 5 ปี จะทะยานสู่ 5,000 ล้านบาท เจาะหมากรบสานเป้าโต
จากอายุน้อยร้อยล้าน ล่วงเลยวัยรุ่นพันล้าน อาจเป็นนิยามที่บ่งบอกความสำเร็จขั้นหนึ่งของ 2 นักธุรกิจ ชนวีร์ หอมเตย และ ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด ที่ปลุกปั้นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น “ชินคันเซ็น ซูชิ” (Shinkanzen Sushi) ตั้งแต่ปี 3 ในวัยนักศึกษา ทว่า ปัจจุบันเติบใหญ่มีหลายสาขาให้เลือกใช้บริการ
ปัจจุบัน บริษัทยังแตกพอร์ตโฟลิโอ สร้างและนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเสิร์ฟลูกค้าชาวไทย และยังมองโอกาสหาร้านอาหารใหม่ๆ เข้ามาเสริมแกร่ง รวมถึงปี 2568 ยังคงเดินหน้าขยายสาขา เพื่อพาอาณาจักรย่อมๆ ให้มั่งคั่งทำเงินสู่ 5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือเติบโตเกือบ “เท่าตัว” จากปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายยอดขาย 2,800 ล้านบาท
จากตั้งใจเปิดร้านเล็กๆ 10 ปี ทุกอย่างเกินคาด!
เส้นทางการทำร้านอาหารญี่ปุ่น “ชินคันเซ็น” ของ 2 นักธุรกิจรุ่นใหม่ “ชนวีร์” และ “ศุภณัฐ” หลายคนทราบดีว่าเริ่มต้นในวัยเรียน สมัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยจุดสตาร์ตเพียงเพราะอยากหาอะไรทำตอนเรียน รวมกลุ่มเพื่อนด้วยซ้ำ แต่เปิดสาขาแรก ผลตอบรับดีมาก จนทำให้ขยายสาขาที่ 2 เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้ารอคิวนาน
ทว่า เปิดร้าน เพิ่มสาขา ลูกค้ายังเยอะ เห็นภาพผู้คนรอคิวยังล้นหลาม เลยมองเห็นเส้นทางทำธุรกิจเวิร์ค
“ตอนนั้นเลยตัดสินใจ ไม่ทำงานประจำดีกว่า มาตั้งบริษัทลุยธุรกิจ”
“ชนวีร์” และ “ศุภณัฐ” ยังร่วมให้ข้อมูลว่า การทำธุรกิจร้านอาหารที่ตั้งต้นปี 2558 ตอนเป็นนักศึกษาปี 3 จนถึงปัจจุบันธุรกิจย่างก้าวเข้าปีที่ 11 เลย ทุกอย่างถือว่าเกินคาดค่อนข้างมาก
“เราตั้งใจจะทำร้านเล็กๆ ไม่คิดว่าจะขยายสาขามาได้เยอะขนาดนี้ จนเติบโตมาเรื่อยๆ จนถึงตรงนี้ ถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง และยังไปต่อได้อีกเยอะ” ทั้งคู่ขยายความ
อายุน้อยพันล้าน ไม่ได้ภูมิใจมาก แต่ภาระเพิ่มขึ้น
ห้วงเวลาเพียง 1 ทศวรรษหรือ 10 ปี 2 นักธุรกิจรุ่นใหม่ “ชนวีร์” และ “ศุภณัฐ” สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ร้านชินคันเซ็น ปิดปี 2567 มีร้านให้บริการลูกค้าถึง 57 สาขา มีแบรนด์ใหม่เสริมแกร่ง ทั้ง “นักล่าหมูกระทะ” (Nak-La Mookata)ที่โตวันโตคืนไม่แพ้กัน สำทับด้วยร้าน “นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟต์” (NAMA Japanese and Seafood Buffet) รุกคืบร้านอาหารญี่ปุ่นเซกเมนต์พรีเมียม และนำเข้าแบรนด์ “คัตสึมิโดริ ซูชิ” (Katsu Midori Sushi) จากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย
เมื่อถามทั้งคู่ว่าความสำเร็จของการทำธุรกิจถูกยกให้เป็นคนรุ่นใหม่ หรืออายุน้อยพันล้านมีมุมมองอย่างไร ทั้งคู่หัวเราะแบบถ่อมตน และตอบว่า
“ปีนี้จะ 31 แล้ว ก็อายุไม่น้อยแล้วนะ” และขยายความต่อว่า
“ไม่ได้ภูมิใจมากขึ้น แต่ภาระเรามีมากขึ้น เพราะตอนนี้มีทีมงาน 2,200 ชีวิตแล้ว ที่ต้องดูแล จากเริ่มต้นมีเพียง 5 คน และตอนนี้ต้องวางแผนการขยายสาขา แผนการเติบโตในอนาคต เลยจุดภูมิใจมา 5 ปีแล้ว”
“นักล่าหมูกระทะ” หมากรบปี 68
ปี 2568 ย่างก้าวสู่ปีที่ 11 บริษัทยังเดินเกมรุกต่อเนื่อง แผนการเปิดร้านอาหาร ขยายสาขาลุยเต็มสูบ แต่ปีนี้ “นักล่าหมูกระทะ” จะเป็นเรือธง เนื่องจากฐานเล็ก มีการเติบโตสูงมาก ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ขณะที่ “ชินคันเซ็น ซูชิ” จะชะลอการเปิดสาขา แต่วางแผนตะลุยต่างจังหวัดเพิ่ม
แผนงานปีนี้ บริษัทจะใช้งบลงทุนรวมราว “ 200 ล้านบาท” เพื่อเปิดร้านอาหารทุกแบรนด์รวม 15-16 สาขา แบ่งเป็น นักล่าหมูกระทะ เร่งเปิด 10 สาขา จากมี 5-6 สาขา ชินคันเซ็นจะเปิด 5 สาขา หันหัวขบวนขยายตลาดต่างจังหวัด หลังผลตอบรับดีที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ฯลฯ ปีนี้จะลงภาคใต้
ส่วน “คัตสึมิโดริ ซูชิ” จะเปิดเพิ่ม 1-2 สาขา ขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300 ตารางเมตร(ตร.ม.) และ “นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟต์” ไม่เปิดเพิ่ม แต่จะขยายโมเดล “อิซากายะ” ไปยังพื้นที่ด้านนอกทำเลเดิมที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
จากปัจจุบันร้านอาหารทั้ง 4 แบรนด์มีให้บริการรวม 70 สาขา
สำหรับเงินลงทุน ร้านนักล่าหมูกระทะใช้งบราว 15 ล้านบาทต่อสาขา ส่วน คัตสึมิโดริ ซูชิ ใช้เงินลงทุนราว 35 ล้านบาทต่อสาขา จากร้านแรกขนาด 700 ตร.ม. ลงทุน 70 ล้านบาท บริษัทยังใช้เงินอีก 30 ล้านบาท เพื่อขยายครัวกลางเฟส 3 เพิ่มกำลังการผลิตอาหารอีก 40% รองรับการเติบโตได้ 3 ปี
“กลยุทธ์สร้างการเติบโตปีนี้ การขยายสาขารวมทุกแบรนด์จะเห็น 15-16 สาขา โดยมีนักล่าหมูกระทะเป็นหัวเรือ เพราะการตอบรับดี ปี 2566 ยอดขาย 100 ล้านบาท ปี 2567 ทำยอดขาย 300 ล้านบาท โตเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนชินคันเซ็น สาขามีค่อนข้างมากแล้วจะชะลอการเปิดสาขา”
ทะยานรายได้สู่ 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปี
การขยายร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2568 อยู่ที่ 2,800 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 30% จากปี 2567 ทำรายได้ 2,100 ล้านบาท
ทว่า บริษัทยังวางเป้าหมายระยะยาว 5 ปี จะทะยานสู่รายได้ระดับ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยมองการมีร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอ อยากมีร้านชินคันเซ็น 100 สาขา หรืออย่างน้อยมีให้ครบทุกจังหวัดทั่วไทย มีร้านนักล่าหมูกระทะ 40 สาขา มองโอกาสมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา ภายใต้คอนเซปต์ “เน้นความคุ้มค่า ราคาไม่แพง” และยังโฟกัส “ร้านอาหารญี่ปุ่น” เพื่อสานเป้าใหญ่ในการเป็นราชันร้านอาหารญี่ปุ่นอันดับ 1 จากปัจจุบันเชื่อว่าติด “ท็อป 5” แล้ว
“ใน 5 ปี อยากผลักดันรายได้ถึง 5,000 ล้านบาท..ยากจัง” ตอบพร้อมหัวเราะร่วน
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ในพอร์ตที่จะมาเสริม คุณสมบัติเด่นต้องเป็นร้านที่อยู่ในเทรนด์ ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย คนไทยไปญี่ปุ่น ไปรับประทานและรู้จัก มีความคุ้มค่า
“ที่สำคัญเราทุกคน(ทีมงานบริษัท)ต้องชอบ เลยบินไปญี่ปุ่น พาทุกคน ทีมงานไปรับประทานร้านนี้แล้วชอบรสชาตินี้ ราคาจับต้องได้ คุณภาพกับราคาที่จ่ายต้องสัมพันธ์กัน” เขาย้ำ
ท่ามกลางร้านอาหารเกาหลีมาแรง ทั้งคู่สนใจ แต่เบื้องต้นยังเทน้ำหนักให้ร้านอาหารญี่ปุ่น
“ไม่ปิดกั้นร้านอาหารประเภทอื่นๆ แต่เราถนัดร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่า”
ต้นทุนขึ้นโหด กำลังซื้อไม่ดี ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นทรงตัว
ภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นมีมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านบาท ปี 2568 บริษัทมองตลาดจะ “ทรงตัว” เพราะเผชิญความท้าทายด้านกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัว เห็นชัดจากเดือนแรก มกราคม แม้จะเป็นช่วงที่คนใช้จ่ายน้อย เพราะเปย์หนักช่วงปีใหม่ แต่หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
“เดือนมกราคมปีนี้เห็นชัดว่ากำลังซื้อชะลอตัว และทราฟฟิกหรือลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้านลดลง 10% แต่ยอดการใช้จ่ายต่อบิลยังไม่ได้ประเมินตัวเลข”
ขณะที่การแข่งขันสูงมาก กระทั่งปีที่ผ่านมามีร้านอาหารปิดตัวลงไม่น้อย ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น(เจโทร) เผยว่า ปี 2567 ,uร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย 5,916 ร้าน เป็นร้านซูชิ 1,279 ร้าน และ “ปิดตัวลง” ถึง 6.8%
นอกจากกำลังซื้อแผ่วสัญญาณกระทบธุรกิจ แต่อีกสถานการณ์ที่เผชิญคือ “ต้นทุนวัตถุดิบ” พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ปลาแซลมอน” ที่ขยับราว 40% จากปี 2565 หรือรวมทุกรายการขยับแล้ว 10% แต่บริษัทยังไม่มีแผนขึ้นราคาสินค้า ยังแบกภาระได้ และบริหารจัดการทั้งใช้การซื้อวัตถุดิบปริมาณมาก เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง การประมูลวัตถุดิบโดยใช้ปริมาณเข้าสู้ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และเดินหน้าโปรเจค “ซีโร่ เวสต์” ที่ใช้วัตถุดิบทุกส่วนให้คุ้มค่า ลดการสูญเสียมากสุด
โปรเจกต์ดังกล่าวเกิดขึ้นตอนโควิด-19 ระบาด ภาพรวมทำให้เพิ่มยีลด์ 1% และลดต้นทุนได้ถึง 10 ล้านบาท เช่น ปลาแซลมอน แล่เนื้อ ยังมีเนื้อบางส่วนติดกระดูก จะทำการขูดออกให้หมดเพื่อนำไปเมนูอื่นๆ เช่น แฮมเบิร์ก ส่วนก้างปลา นำไปจำหน่ายให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
“ปีนี้ห่วงเรื่องราคาวัตถุดิบขึ้น อย่างชาเขียวขึ้นราคาโหดร้ายมาก ด้วยเศรษฐกิจปีนี้ไม่ค่อยดี เราเห็นเทรนด์ยอดขายตกลงๆ ซึ่งแบรนด์ที่แกร่ง มีความคุ้มค่า อาจต้องใช้แรงขับเคลื่อนธุรกิจการตลาดน้อยกว่า และเป็นจุดแข็งของบริษัทที่มีร้านอาหารตั้งแต่แมสไปถึงพรีเมียม)"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์