ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ

ค่ายน้ำเมาแลกหมัดกันมันส์! แบรนด์ไทย ‘ไทยเบฟ-บุญรอด-คาราบาว" ระเบิดศึกเปิดตัวสินค้าใหม่ ‘เหล้า-เบียร์’ ชิงคอทองแดง บิ๊กมูฟ 75 ปี โคคา-โคล่า ในประเทศไทย ส่ง "ชเวปส์ มิกซ์" ชิมลางสนามย่อย ดิอาจิโอ ลุยตลาดหรู เหล้าจีนเบอร์ 2 หวนสู้ในตลาด ไฮเนเก้นโบลด์ 0.0 เอาใจคนรุ่นใหม่

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าปี 2567 สงครามน้ำเมาเดือดปุด! เพราะบิ๊กคอร์ปค่ายเครื่องดื่ม ตบเท้าออกสินค้าใหม่ลงตู้แช่กันอย่างคึกคัก เพื่อชิงนักดื่มคอทอแดง สวนทางนิยามประเทศ “เมืองไทย เมืองพุทธ”

โลกธุรกิจ การแข่งขันเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ หาก “คู่แข่ง” ขยับตัว แบรนด์สินค้าก็ต้องเคลื่อนไหวตาม ที่สำคัญ เมื่อพฤติกรรม ตลอดจนความต้องการ(Need) ของกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน ค่ายผู้ผลิตต้องวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้

ตลาดเหล้า หากประเมินกลมๆจากตัวเลขผลประกอบการ รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆที่ประกาศเป็นสาธารณะ คาดการณ์มีมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยแบ่งหมวดหมู่ใหญ่อย่าง “เบียร์” 2 แสนล้านบาท(อ้างอิง : ไทยเบฟเวอเรจ) และ “สุรา” มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท (เฉพาะผลประกอบการเหล้าของไทยเบฟ) แต่น้ำเมายังมีหมวดอื่นๆ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม(ARTD) ไวน์ ไวน์คูลเลอร์ เหล้าบ๊วย บรั่นดี ฯ

ปีแห่งยักษ์ชนยักษ์!

เดิมสงครามน้ำเมา “แสนล้านบาท” มีผู้เล่นสำคัญเพียง 3 รายใหญ่ ยึดขุมทรัพย์ในเขตแดนตนเองอย่างเหนียวแน่น อย่าง “เบียร์” แน่นอนว่า “บุญรอดบริวเวอรี่” ครองความเป็นอันดับ 1 มายาวนาน โดยมีแบรนด์หัวหอก “ลีโอ” ที่ยืนหนึ่งกว่า 16 ปี นับตั้งแต่ “ชนะช้าง” เมื่อปี 2551

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ

ความเคลื่อนไหวของ “บุญรอด” ปีนี้คือการมีเบียร์ใหม่อย่าง “ลีโอ สุพรีม” มาเสริมทัพ เพิ่มสินค้าในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นทางเลือก “นักดื่ม” ที่ชูจุดเด่นวัตถุดิบ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

ทว่า บุญรอด ไม่ได้มีแค่ “เบียร์ใหม่” แต่ปีนี้ยังมี “วิสกี้น้องใหม่” อีกตัวอย่าง “Silver Wolf” ใหม่อีก 1 ตัว เข้ามาทำตลาดด้วย

ยักษ์ใหญ่เขยื้อน อีกยักษ์ต้องขยับ “ไทยเบฟเวอเรจ” อาณาจักรน้ำเมาที่พอร์ตโฟลิโอหลากหลาย มีการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง หากจะนับไฮไลต์สำคัญ “เบียร์” ที่ลั่นว่า “เบียร์ช้าง” เป็น “เบอร์ 1 แล้ว มีการส่ง “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ลงกระป๋องอะลูมินัม พร้อมเจาะร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นในราคา 89 บาท เอาใจคอทอแดงรุ่นใหม่(อายุต้อง 20 ปีขึ้นไปตามกฏหมาย) ที่นิยมดื่มเบียร์นอก(ต่างประเทศ) เบียร์ใหม่ๆมากขึ้น

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ ประภากรณ์ ทองเทพไพโรจน์

ขณะที่เหล้ามีสินค้าวิสกี้ไทย “พระยารัม” เจาะตลาดพรีเมียม และล่าสุดคือการเปิดตัว “ปราการ”(PRAKAAN) ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ “แบรนด์แรกของไทย” เสิร์ฟคอทองแดงไทยและ “ลุยตลาดโลก” ด้วย

หมดยุคผู้เล่นน้อยราย หน้าใหม่ท้าชิง!

เดิมตลาดน้ำเมามีผู้เล่นน้อยรายหรือ Oligopoly ได้เวลาทลายกำแพงแข่งขัน เพราะเดือนธันวาคม 2567 ถือว่าครบขวบปี “เจ้าพ่อคาราบาว” อย่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ที่เดิมพันใหญ่มาทำ “เบียร์” 2 แบรนด์ใหม่ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” จากเดิมที่ทำเหล้ามานานแล้ว

ศึกเบียร์ของ “เสถียร” ถือว่าหนัก เพราะเจอรับน้อง โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายที่ถูก “สกัด” จนที่สุด “พี่แอ๊ด คาราบาว” ต้องจนลั่นวาจาขอ “ท้ารบกับเจ้าสัว”

ส่วนบิ๊กมูฟรอบ 75 ปี ยกให้ “โคคา-โคล่า” ประเทศไทย ที่ขอลงสนามน้ำเมา ด้วยการอาศัยพลังแบรนด์ 200 ปีอย่าง “ชเวปส์” มาสู่สินค้า “ชเวปส์ มิกซ์” สังเวียนขนาดย่อมในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่มที่มีมูลค่า 1,700 ล้านบาท(เฉพาะช่องทางโมเดิร์นเทรด)

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ

บิ๊กแบรนด์ระดับโลกเดิมเกมครองอาณาเขต

ค่ายน้ำเมาสัญชาติไทยปล่อยหมัดแลกกัน แต่ขึ้นชื่ออยู่ในเขตคามการค้าเดียวกัน บิ๊กแบรนด์ระดับโลก ต้องขอเดินหมากรบสู้ด้วย ปีนี้ยักษ์เหล้าระดับโลก “ดิอาจิโอ” ที่มี “ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)” หรือ DMH จึงเคลื่อนทัพธุรกิจเต็มสูบ เพราะปี 2567 แบรนด์ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” ทำตลาดในไทยครบ 100 ปี

นอกจากออกแพ็คเกจจิ้งใหม่ฉลอง 100 ปีในไทยเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายแล้ว พี่ใหญ่ตลาดลักชัวรี “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล” ได้จัดงาน THE BLUE BOUTIQUE ที่มาพร้อมออกแบบสินค้าคอลเล็กชันพิเศษ 10 ชิ้น โดย 9 ชิ้นจำหน่ายในราคา 1.9 หมื่นบาท ยังมีสินค้า 1 ชิ้น ที่ร่วมมือกับ “ศรัณญ อยู่คงดี” ศิลปินชั้นนำชาวไทยผู้ก่อตั้งแบรนด์ SARRAN สร้างสรรค์ “TROVE OF BLUE” ผลงานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษเพียงหนึ่งเดียวในโลกด้วยลวดลายของ “ผ้าลายอย่าง” พร้อมประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า เพื่อประมูลจบด้วยราคา 1.7 แสนบาท และนำเงินมอบให้แก่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ศักดิ์ศรีแบรนด์เบียร์เบอร์ 3 ของโลก “ไฮเนเก้น” แม้จะไม่ได้รุกคืบทำตลาดหวือหวา แต่เจ้าตลาดเบียร์พรีเมียม ที่มีส่วนแบ่งตลาด 95% ยังยืนหยัดแข่งขันอย่างไม่ยอมใคร ทั้งการตลาดเชิงดนตรี(Music Marketing) และยังชูเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ไฮเนเก้น 0.0 รับเทรนด์คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ เป็นต้น

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ

เหล้าจีนเบอร์ 2 เขย่าตลาด

โลกการค้ากำลังถูกเขย่าครั้งใหญ่ เมื่อ “จีน” ทั้งฝั่งทุน ฝ่ายแบรนด์ และสินค้า ตบเท้าถาโถมรุกตลาดนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีคอมเมิร์ซ แฟชั่น แพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์(โอทีที) แม้กระทั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ส่วนตลาดไทย อีกความเคลื่อนไหวคือ เหล้าเบอร์2 “อู่เหลียงเย่”(Wuliangye) ยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคปกว่า 1 ล้านล้านหยวน ที่ได้เข้ามาผนึก “แกแล็คซี่ กรุ๊ป” เพื่อหวนคืนรุกตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง จากเดิมมีพาร์ทเนอร์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล แต่เมื่อมีหลายแบรนด์ดูแล จึงโฟกัสเฉพาะแบรนด์ตะวันตก ทอดทิ้งแบรนด์จีน

การมีพันธมิตรใหม่อย่าง “แกแล็คซี่ กรุ๊ป” ทำให้ “อู่เหลียงเย่” ตั้งความหวังจะสร้างวัฒนธรรมการดื่มของจีนที่ยาวนาน มาครอบครองใจนักดื่มคนไทยได้เช่นกัน

ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ ริชา ซิงห์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจตลาดเหล้า-เบียร์ของไทย ที่ผู้เล่นต่างฮึด!ออกอาวุธสู้กันในปี 2567 จากข้อมูลที่ “ริชา ซิงห์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย และลาว เปิดเผยถึงการรุกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ “การบริโภคน้ำเมา” สูงติด “ท็อป 20 ของโลก”

ทว่า ปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางหมวด “หดตัว” อย่างผลประกอบการของไทยเบฟ ที่ “กำไรสุทธิ” ของกลุ่มเหล้าลดลง “ประภากร ทองเทพไพโรจน์" ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และยังเป็น “ขุนคลัง” ของบริษัท ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจ มีผลต่อตลาดสุราสีชะลอตัว และส่งผลต่อกำไรกลุ่มสุรานั่นเอง ส่วนยอดขายเบียร์ “เชิงปริมาณ” ที่ลดลงราว 2 ล้านลิตร เป็นเพราะตลาดเวียดนามภายใต้ SABECO ขณะที่ตลาดในประเทศไทย เบียร์ช้างเติบโตอย่างดี

สำหรับผลประกอบการไทยเบฟฯ ปี 2567(ปีบัญชี ต.ค.66-ก.ย.67)ยอดขายของสุราทั้งปีอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 0.8% และกำไรสุทธิ 2.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.6% ส่วนเบียร์ยอดขาย 1.26 แสนล้านบาท เติบโต 2.4% และกำไรสุทธิ 5,221 ล้านบาท เติบโต 3.9% แต่ยอยเชิงปริมาณอยู่ที่ 2,314 ลิตร ลดลง 2 ล้านลิตร จากช่วงเดียวกันปีก่อนยอดขาย 2,316 ล้านลิตร

ทั้งหมดเป็นบิ๊กมูฟของยักษ์ใหญ่น้ำเมา ที่ยังคงระเบิดสงครามสู้เพื่อรักษาการเติบโต พร้อมแย่งชิงขุมทรัพย์การตลาดอย่างเมามัน