BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

BDI ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน "ภูเก็ต" รับมือคลื่นลงทุน นักท่องเที่ยว ทะลักเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวระดับโลก เพิ่มปัญหาซับซ้อน สิ่งแวดล้อมกระทบหนัก เร่งวางโรดแมปเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนทุกมิติ ชู 3 แพลตฟอร์มบูรณาการเมืองด้วยเทคโนโลยี BIG DATA และ AI

KEY

POINTS

  • BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้อมูล (Big Data) และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  วางโรดแมปภูเก็ตเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืน
  • ชู 3 แพลตฟอร์มบูรณาการพัฒนาเมืองภูเก็ต ได้แก่ แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link) และ แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform)
  • จัดทำ "โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต" หนุนภูเก็ตต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ก่อนขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวอื่นๆ 

ภูเก็ต เมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวระดับโลกแห่งท้องทะเลอันดามันของประเทศไทย มีศักยภาพสูงในทุกมิติ เป็น โกลบอล เดสติเนชั่น (Global Destination) ที่มีผู้คนเดินทางมาเยือนไม่ขาดสายเพื่อท่องเที่ยว พักผ่อน หรืออยู่อาศัย ดึงดูดคลื่นการลงทุนถาโถมเข้ามายังเกาะภูเก็ตอย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง

แน่นอนว่าสร้างแรงกระเพื่อมไปรอบด้าน ทั้งโอกาสทางธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวสูง ขณะเดียวกันก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! เป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรภาครัฐ และเอกชน ทุกภาคส่วนจะทำอย่างไรให้ “จังหวัดภูเก็ต” ที่สร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวระดับ 500,000 ล้านบาทในปี 2567 นี้ รักษาการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป 

ล่าสุด สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อาทิ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สาขาภาคใต้ตอนบน สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต เทศกาลนครภูเก็ต

ได้แลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมประกาศเดินหน้าขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อวางโรดแมปผลักดันจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนในทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้อมูล หรือ Big Data และ ปัญญาประดิษฐ์  หรือ ร่วม AI (Artificial Intelligence) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยวางยุทธศาสตร์ ผ่าน 3 แพลตฟอร์มร่วมบูรณาการพัฒนาเมืองภูเก็ตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link) และ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform)

BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การนำ Big Data มาใช้เพื่อวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด 

“ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่ยั่งยืนในทุกๆ ด้าน”

BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI กล่าวว่า ภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากจะนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศซึ่งก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ตัวอย่างเช่น ปริมาณการใช้รถ ใช้ถนน เพื่อเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึง “ปัญหาขยะ” จากการบริโภคจำนวนมากของผู้คนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ 

จะเห็นว่าแต่ละกิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป และจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ!

“ภารกิจสำคัญของ BDI คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ”

BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

ผนึกภาคท่องเที่ยวลดคาร์บอน 30%ใน 3 ปี 

อย่างไรก็ดี ตามที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่และผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัด BDI จึงได้จัดตั้งโครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Envi Link  ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

โดยร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต และ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จัดทำ “โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ก่อนจะขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป

ภายใต้โครงการดังกล่าว BDI ได้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยตอบคำถามด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศของพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ประมวลผลข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลสำคัญต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ อันได้แก่ ปริมาณการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ 

ซึ่งในส่วนของปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนี้เอง ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างง่าย ผ่านการใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาพัฒนาโมเดลจำแนกประเภทยานพาหนะกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่น รถบรรทุก รถกระบะ ฯลฯ ออกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งได้แก่ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั่วไป แล้วนับจำนวนรถแต่ละประเภทที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ก่อนจะประมาณการให้กลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วคำนวณให้เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์อันเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว 

ข้อมูลดังกล่าวจะถูกประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมอื่นๆ และถูกนำเสนอผ่านแดชบอร์ดแสดงผลข้อมูลซึ่งช่วยให้เห็นคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่างๆ กัน ช่วยให้หน่วยงานและคนในพื้นที่สามารถเห็นแนวโน้ม และทิศทางการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมต่อไป

ใช้ AI ประมาณการความหนาแน่นนักท่องเที่ยว 

ภายใต้โครงการนี้ ยังได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้นับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตย่านเมืองเก่าเพื่อใช้ประมาณการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ในช่วงเวลา และวันที่แตกต่างกัน อันจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีแผนต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานในแง่มุมต่างๆ สำหรับพื้นที่เพิ่มเติม 

โดยได้มีการทำงานร่วมกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (Phuket City Development Co., Ltd.: PKCD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในบริการสำคัญของบริษัท ได้แก่ การให้บริการ Smart Bus EV แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในย่านพื้นที่เมืองเก่า ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรและลดมลพิษทางอากาศตัวเมือง โดย BDI ได้นำข้อมูลภาพ CCTV และข้อมูล GPS บนรถบัส มาใช้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารของแต่ละจุดจอดตามช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะการวางตำแหน่งจุดจอดรถ หรือ ตารางเดินรถ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

BDI ผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เร่งวางโรดแมป ‘ภูเก็ต’ เมืองต้นแบบยั่งยืน

โชว์เคสภูเก็ตต้นแบบความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว

BDI ยังได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยว โดยมีการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ Travel Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลท่องเที่ยวให้ถึงกันผ่าน www.travellink.go.th จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อขยายขีดความสามารถและการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวมากกว่า 150 แดชบอร์ด ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังครอบคลุมอีกกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ Travel Link นั้น BDI ได้รวบรวมข้อมูลของการเดินทาง การพักแรม การใช้จ่าย และกระแสจากสื่อโซเชียล มาทำการวิเคราะห์ให้ทราบถึงการแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว จำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน สถิติผู้โดยสารผ่านสนามบิน

พร้อมแสดงผลสถิติผ่านอินโฟกราฟิก ที่อัปเดตรายวันและรายเดือน ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของข้อมูลได้ง่ายขึ้น สามารถช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิด Sustainable Tourism สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคเอกชนที่ร่วมใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Travel Link มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาทต่อปี

รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ เช่น การนำข้อมูลการท่องเที่ยวจากโครงการ Travel Link ที่กำหนดนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) ให้กับประเทศจีน และประเทศคาซัคสถาน ทั้งนี้จากนโยบายฟรีวีซ่าทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปี 2566  โดยมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท

หนุนเมืองอัจฉริยะ-เชื่อมข้อมูลรอบทิศทาง 

ในด้านการสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะของจังหวัดภูเก็ตนั้น BDI ได้ร่วมมือกับ สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต ผ่านโครงการแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ หรือ (Smart Data Analytics Platform) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลกลาง และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนงานที่ตอบรับกับนโยบายของจังหวัด 

โดยโครงการฯ จะรวบรวม เชื่อมโยง จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของเมืองได้อย่างทันท่วงที พร้อมนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

โดยในระยะแรกได้ออกแบบพิมพ์เขียวและสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคลาวด์ พร้อมอบรมและสาธิตการใช้งานคราวด์และแดชบอร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้บริการและวางแผนการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

รศ. ดร.ธีรณี กล่าวย้ำว่า “ทิศทางการดำเงินงานของ BDI ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะยกระดับขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้กว้างยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับและตอบโจทย์กับการใช้งานในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต”