คนแต่งงาน-มีครอบครัวน้อยลง ดัน ‘ปิ้งย่างคนโสด’ โต 390 ล้าน พบ กินมากสุด 7 ครั้ง/เดือน

คนแต่งงาน-มีครอบครัวน้อยลง ดัน ‘ปิ้งย่างคนโสด’ โต 390 ล้าน พบ กินมากสุด 7 ครั้ง/เดือน

เปิดมา 3 ปี ขยายไปแล้ว 15 สาขา! “Yakiniku Like” เจาะตลาด “Solo Dining” ระบุ ไทยโตเยอะกว่าคาด มากินคนเดียว 25% รับการแข่งขันสูง-คู่แข่งเยอะ ตั้งเป้าปีหน้าเปิด 3 แห่ง ดันยอดขายโตอีก 20% หวังสร้างฐานลูกค้า Gen Z เพิ่ม

กินชาบูปิ้งย่างคนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เมื่อสังคมเดินทางมาถึงยุคที่คนโสดเพิ่มขึ้น เด็กเกิดน้อยลง การสร้างครอบครัวกลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย โดยราวๆ 3 ปีที่แล้ว ในบ้านเราก็มีร้านปิ้งย่างจากแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามาทำตลาด ด้วยการชูจุดเด่นเตาปิ้งย่างเดี่ยวสำหรับกินคนเดียว สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป “ยากินิกุ ไลค์” (Yakiniku Like) คือร้านที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งนับจนถึงตอนนี้ร้านได้ขยายไปแล้ว 15 แห่ง ภายใน 3 ปี

“ทิพย์สุดา อเนกวัชรากรณ์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ยากินิกุ ไลค์ ประเทศไทย ฉายภาพกว้างตลอด 3 ปีที่ผ่านมาว่า การเติบโตของร้านดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในปีแรกที่เข้ามาประจำการตั้งเป้าไว้ที่ 3 สาขา แต่สามารถขยายได้ 5 สาขา กระทั่งสิ้นปี 2567 ขยายไปแล้ว 15 สาขา ส่วนยอดขายปีนี้โตขึ้นจากปีก่อนหน้า 15% คาดว่า จนจบปี 2567 “ยากินิกุ ไลค์” จะสร้างยอดขายได้เฉียด “390 ล้านบาท” 

คนแต่งงาน-มีครอบครัวน้อยลง ดัน ‘ปิ้งย่างคนโสด’ โต 390 ล้าน พบ กินมากสุด 7 ครั้ง/เดือน

สำหรับจุดแข็งของแบรนด์ “ทิพย์สุดา” ระบุว่า คอนเซปต์ “Solo Dining” หรือเตาปิ้งย่างเดี่ยวเป็นเอกลักษณ์ของร้านอยู่แล้ว โดยยากินิกุ ไลค์ เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ชูไอเดียดังกล่าวจนกลายเป็นเทรนด์ฮิตที่ปัจจุบันก็มีร้านปิ้งย่างเจ้าอื่นๆ ทยอยทำเตาปิ้งย่างในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น

ด้วยไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่นิยมแต่งงาน-มีลูกน้อยลง ส่งผลให้เทรนด์การกินคนเดียวมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับไลฟ์สไตล์แบบ “Gen Z” ที่หันมาใช้ชีวิตคนเดียว เป็นตัวของตัวเอง สัดส่วนลูกค้าที่มากินคนเดียวจึงสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ จากคาดการณ์ 10-20% ปรากฏว่า มีลูกค้ามาใช้บริการแบบ “Solo Dining” 25%

ไม่เพียงมากินคนเดียว แต่ผู้บริโภคยังมีความหลากหลายไปจนถึงการมากินแบบคู่เพื่อนสนิท คู่รัก รวมถึงมากันเป็นกลุ่ม โดยตัวเลขแบบกลุ่มหรือมาเกิน 3 คน มีสัดส่วน 25% เท่ากับลูกค้าแบบ “Solo Dining” ส่วนลูกค้าที่มากันเป็นคู่มีสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ 50% สำหรับช่วงอายุพบว่า เป็นไปตามคาดการณ์ เกาะกลุ่มที่อายุระหว่าง 25-30 ปี ส่วนบางสาขาที่อยู่โซนหมู่บ้านจัดสรร อาทิ สาขาเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ก็จะมีลูกค้ามาเป็นกลุ่มหรือครอบครัวมากกว่า การออกแบบจัดโซนที่นั่งจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าด้วย

คนแต่งงาน-มีครอบครัวน้อยลง ดัน ‘ปิ้งย่างคนโสด’ โต 390 ล้าน พบ กินมากสุด 7 ครั้ง/เดือน -ทิพย์สุดา อเนกวัชรากรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ยากินิกุ ไลค์ ประเทศไทย-

นอกจากคอนเซปต์ที่เข้ากับยุคสมัย ผู้บริหารบอกว่า ตนเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่เป็นส่วนสำคัญในการกลับมาใช้บริการซ้ำ “ทิพย์สุดา” เปิดเผยว่า ยากินิกุ ไลค์ มีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการบ่อยๆ หรือ “Heavy User” มากถึง 30% กลุ่มนี้จะกลับมากินซ้ำเฉลี่ย 2 ครั้ง/เดือน เคยเจอความถี่สูงสุด คือ 7 ครั้ง/เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่า อาหารปิ้งย่างในสายตาคนไทยกินอย่างไรก็ไม่มีวันเบื่อ ยังกลับมากินซ้ำได้อีกเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมธุรกิจจะเติบโตดี แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น คู่แข่งมากหน้าหลายตา รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แบรนด์จึงต้องเจอกับสถานการณ์แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จนเมื่อเดือนสิงหาคมจึงตัดสินใจปรับเพิ่มราคาอีก 3% โดยผู้บริหารบอกว่า ส่วนที่มีผลมากที่สุด คือ “เนื้อคารูบิ” ซึ่งทางร้านใช้เนื้อส่วนดังกล่าวเป็นวัตถุดิบหลักมากถึง 70% ต่อเดือน ทั้งยังเป็นการนำเข้าจากสหรัฐที่ต้องเจอกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนส่วนนี้สูงขึ้นอีกราวๆ 30% เลยทีเดียว

“สำหรับแผนที่เคยวางไว้ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 ไปจนถึง 2569 มีกำหนดการขยายสาขา 30 แห่ง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่อาจรู้ได้ว่า จะเป็นตัวเลขตามนี้หรือไม่ ซึ่งสาขาทั้งหมดยังมีเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถ้าเป็นตัวเลขเดิมเราวางไว้ว่า ต้องขยายได้ปีละ 5-6 สาขา แต่เราขยายได้ช้าจากหลายๆ เหตุผล เรื่องพื้นที่ด้วย การอนุมัติจากบริษัทแม่ที่ฮ่องกงด้วย รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันที่สูงขึ้น และมี “Copycat” เพิ่มมากขึ้น แบรนด์ที่เปิดเตาเดี่ยวตามเราก็มีมาเรื่อยๆ”

คนแต่งงาน-มีครอบครัวน้อยลง ดัน ‘ปิ้งย่างคนโสด’ โต 390 ล้าน พบ กินมากสุด 7 ครั้ง/เดือน

ปีหน้า “ยากินิกุ ไลค์” จะรุกทำตลาดมากขึ้น โดยวางงบการตลาดปี 2568 ไว้ที่ “12 ล้านบาท” เน้นทำการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน “KOLs” คู่ขนานไปกับการดึงอินไซต์จากลูกค้าผ่าน Loyalty Program ที่ปัจจุบันมีสมาชิกทะลุหลักแสนคนไปแล้ว โดยในกลุ่มหลักแสนคนนี้มีสมาชิกที่เข้ามากินเป็นประจำมากถึง 80-90% หลังจากนี้จะเร่งเจาะกลุ่ม “Gen Z” เพิ่มขึ้น โดยพบว่า คนกลุ่มนี้ต้องการความหลากหลายในส่วนของหวานมาเติมเต็มด้วย

ส่วนภาพรวมจากทั้งหมด 15 สาขา สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว และสาขาเมกะบางนา ยังเป็นสาขาที่มียอดขายสูงสุดมากถึง “5 ล้านบาทต่อเดือน” ส่วนสาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่สุด รองรับได้ 100 ที่นั่ง และยังเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย