‘ยูนิโคล่’ ถูกคนจีนวิจารณ์ยับ หลังแบรนด์ประกาศ ไม่ใช้ผ้าฝ้ายจาก ‘ซินเจียง’

‘ยูนิโคล่’ ถูกคนจีนวิจารณ์ยับ หลังแบรนด์ประกาศ ไม่ใช้ผ้าฝ้ายจาก ‘ซินเจียง’

“ยูนิโคล่” กำลังถูกโจมตีใน “จีน” ที่เป็นตลาดใหญ่อย่างหนัก หลังซีอีโอออกมายืนยันว่า แบรนด์ไม่ใช้ “ฝ้ายซินเจียง” มาผลิตสินค้า นอกจากชาวจีนส่วนมากจะไม่พอใจแล้วยังส่งผลกระทบไปถึงหุ้นของบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” อีกด้วย

แม้ว่า “จีน” เป็นตลาดและเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญสำหรับ “Uniqlo” หรือ ยูนิโคล่ แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังที่เน้นความเรียบง่ายในการออกแบบเพื่อให้สวมใส่ได้ทุกโอกาส และมีสาขาในหลายประเทศ แต่ล่าสุดกลับถูกชาวจีนวิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อ “ทาดาชิ ยานาอิ” (Tadashi Yanai) ซีอีโอของฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูนิโคล่เปิดเผยกับ BBC ว่า บริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ไม่ได้ใช้ผ้าฝ้ายจากเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีนมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตน

‘ยูนิโคล่’ ถูกคนจีนวิจารณ์ยับ หลังแบรนด์ประกาศ ไม่ใช้ผ้าฝ้ายจาก ‘ซินเจียง’ ร้านยูนิโคล่ในกรุงปักกิ่ง (reuters)

ครั้งหนึ่งผ้าฝ้ายจากเขตปกครองตนเองซินเจียงเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผ้าที่ดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันผ้าชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าผลิตขึ้นโดยการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม แต่ทางการปักกิ่งก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด

ในปี 2002 สหรัฐได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากซินเจียง และ ส.ส.สหรัฐ ก็ได้ผ่านกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียงแล้ว แต่ทางด้านปักกิ่งก็ยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องแรงงานบังคับที่กระทำโดยองค์กรต่างๆ รวมถึงรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์นำสินค้าที่ใช้ผ้าฝ้ายซินเจียงออกจากชั้นวางสินค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในจีน แบรนด์ต่างๆ เช่น H&M, Nike, Burberry, Esprit และ Adidas ถูกคว่ำบาตร ส่วนเสื้อผ้าของ H&M จากสวีเดนถูกถอดออกจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในจีน

อย่างไรก็ตาม ทาดาชิ ระบุว่าในโตเกียวมีมาตรการเคร่งครัดที่บริษัทจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัสดุในการผลิตเสื้อผ้าให้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งเขากล่าวว่า “เราไม่ได้ใช้ผ้าฝ้ายจากซินเจียง” และบางคนก็มองว่าประเด็นนี้ดูมีความเป็นการเมืองอยู่พอสมควร

‘ยูนิโคล่’ ถูกคนจีนวิจารณ์ยับ หลังแบรนด์ประกาศ ไม่ใช้ผ้าฝ้ายจาก ‘ซินเจียง’ ทาดาชิ ยานาอิ (AFP)

ด้าน ไอแซก สโตน ฟิช (Isaac Stone Fish) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Strategy Risks บริษัทด้านข่าวกรองทางธุรกิจที่เน้นไปที่จีน ได้เน้นย้ำถึงแรงกดดันที่มีต่อบริษัทต่างๆ ทั้งจากจีนและสหรัฐว่าไม่มีบริษัทขนาดใหญ่แห่งใดที่จะเป็นกลางทางการเมืองได้อีกต่อไป “ทั้งปักกิ่งและวอชิงตันต้องการให้บริษัทต่างๆ เลือกข้าง และโตเกียวจะยังคงเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกามากขึ้นในเรื่องนี้” ไอแซกกล่าว

ต่อให้ยูนิโคล่จะขยายกิจการอย่างแข็งขันในยุโรปและสหรัฐ แต่ในคำพูดของทาดาชิก็มีส่วนหนึ่งที่ระบุว่า ยูนิโคล่ไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเอเชียยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บริษัทมีร้านค้าในจีนมากกว่าในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดเสียอีก และทาดาชิ กล่าวว่าเขาไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ดังกล่าว แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายกับเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็ตาม

ในประเทศจีนมีคน 1,400 ล้านคน แต่เรามีร้านค้าเพียง 900 ถึง 1,000 แห่งเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าเราสามารถเพิ่มเป็น 3,000 แห่งได้” ทาดาชิ ระบุ

‘ยูนิโคล่’ ถูกคนจีนวิจารณ์ยับ หลังแบรนด์ประกาศ ไม่ใช้ผ้าฝ้ายจาก ‘ซินเจียง’ ร้านยูนิโคล่ในกรุงปักกิ่ง (reuters)

แม้ว่าจีนคือศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของยูนิโคล่ แต่บริษัทนี้ยังผลิตเสื้อผ้าในประเทศต่างๆ ด้วย เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และอินเดีย

ในปี 2009 ผลิตภัณฑ์ 80% ของบริษัทผลิตในประเทศจีนซึ่ง ทาดาชิ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จีนมีราคาในการผลิตที่สูงเกินไป และบริษัทกำลังย้ายการผลิตไปยังกัมพูชาที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าเพื่อรักษาราคาของสินค้าไม่ให้แพงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการถ่ายทอดประสบการณ์หลายปีนั้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องยาก

ทุกวันนี้ผู้ค้าปลีกอย่างยูนิโคล่กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากบรรดาฟาสแฟชั่นที่ขายได้อย่างรวดเร็ว เช่น Shein และ Temu ของจีนที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าที่นิยมสินค้าราคาถูก

แต่ทาดาชิ กล่าวว่า ตัวเขาไม่คิดว่าแฟชั่นที่ขายได้รวดเร็วจะมีอนาคต “พวกเขาผลิตเสื้อผ้าโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งคุณจะใส่ได้แค่ฤดูกาลเดียวเท่านั้น นั่นเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของโลก” และที่สำคัญกลยุทธ์ของ “ยูนิโคล่” คือการมุ่งเน้นไปที่สินค้าจำเป็นที่สามารถสวมใส่ได้หลายปี

ในช่วงเวลา 40 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ทาดาชิ ได้ขยายธุรกิจที่สืบทอดมาจากพ่อของเขาจากบริษัทที่มีรายได้ประจำปีประมาณ 656,700 ดอลลาร์ (ประมาณ 22,397,405 บาท) ไปสู่เครือข่ายระดับโลกที่มีรายได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ (ประมาณ 6 ร้อยล้านบาท)

ทั้งนี้เขายังตั้งเป้าที่จะแซงหน้า Inditex ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายแฟชั่นระดับโลกอย่าง Zara เพื่อจะขึ้นเป็นผู้ค้าปลีกแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนที่เขาจะเกษียณอายุอีกด้วย

แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวยูนิโคล่จำเป็นต้องขยายธุรกิจไม่เพียงแค่ในจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในตะวันตกด้วย ซึ่งเขามองว่าผู้ซื้อมีความตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น การบังคับใช้แรงงาน แต่ความหวังของเขาก็อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นเมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังกลับมาที่ทำเนียบขาว พร้อมให้คำมั่นว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตในจีนในอัตราที่สูงขึ้นมาก

หลังการให้สัมภาษณ์ของ “ทาดาชิ ยานาอิ” เผยแพร่ไปได้เพียงแค่วันเดียว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวจีนมากมายในกรณี “ผ้าฝ้ายซินเจียง” โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ของจีน แถมยังมีนักวิจารณ์ในจีนหยิบยกความคิดเห็นดังกล่าวขึ้นมา (การที่แบรนด์ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง) เพื่อเรียกร้องให้ชาวจีนคว่ำบาตรผู้ค้าปลีกรายนี้ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Weibo

ทั้งนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของจีนที่ได้อ่านโพสต์ที่มีแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ “ความขัดแย้งเกี่ยวกับคำพูดของผู้ก่อตั้งยูนิโคล่” ก็พากันติดแฮชแท็กเกี่ยวกับประเด็นนี้ เช่น ฝ้ายซินเจียงเป็นฝ้ายที่ดีที่สุดในโลก, ฉันสนับสนุนฝ้ายซินเจียง และ ผลประกอบการของยูนิโคล่ในจีนตกต่ำ

ผู้ใช้รายหนึ่งเขียนว่า “ด้วยทัศนคติแบบนี้จาก ยูนิโคล่ และผู้ก่อตั้งที่หยิ่งผยอง พวกเขาอาจเดิมพันว่าผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่จะลืมเรื่องนี้ไปในอีกไม่กี่วันและยังคงซื้อต่อไป ดังนั้นเราจะยืนหยัดได้อีกครั้งหรือไม่

ข้อมูลจาก The Financial Times และ Yahoo Finance ระบุตรงกันว่า หุ้นของ “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” ร่วงลงถึง 4.5% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน หลังจากโฆษกของบริษัทกล่าวว่าบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการของจีน และซีอีโอ ของบริษัทระบุว่า “ยูนิโคล่” ไม่ได้ใช้ฝ้ายจากซินเจียง

แม้ว่าหุ้นของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จะฟื้นตัวขึ้นบ้างเมื่อตลาดปิดในโตเกียว (ข้อมูล ณ 2 ธ.ค.) แต่ยังคงลดลง 1.3% ขณะที่ Nikkei 225 ปิดที่ 0.8%

อ้างอิงข้อมูล : BBC(1), BBC(2), The Financial Times และ Yahoo Finance