“เดอะมอลล์” เคลื่อนทัพอาณาจักร รีเทล สู่ความยั่งยืน ร่วมพลิกอีโคซิสเต็มไทย

“เดอะมอลล์” เคลื่อนทัพอาณาจักร รีเทล สู่ความยั่งยืน ร่วมพลิกอีโคซิสเต็มไทย

"เดอะมอลล์” เร่งแผนเคลื่อนรีเทลไปสู่ความยั่งยืน ผนึกลูกค้า ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ สร้างอีโคซิสเต็มในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมขยายความร่วมมือภาคเอกชน หนุนแผนระยะยาว นำประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวในงาน “Sustainability Forum 2025” โดย กรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ “Sustainable Business Opportunities” กลุ่มเดอะมอลล์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) อย่างจริงจังมาโดยตลอด และร่วมผลักดันโครงการต่างๆ มาทุกปี เพื่อร่วมสร้างอีโคซิสเต็มให้แข็งแกร่ง ผ่านการผนึกความร่วมมือจากทั้ง 3 ส่วนทั้งเดอะมอลล์ พาร์ตเนอร์ที่เป็นภาคเอกชนต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงลูกค้าเกิดการรับรู้ และลงมือทำ

สำหรับการให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนมาต่อเนื่อง มาจากการที่เดอะมอลล์ ที่ดำเนินธุรกิจ "ห้าง" ถือเป็นพื้นที่ศูนย์กลาง ที่มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมากทุกปี หรือมีจำนวนถึง 20 ล้านคนต่อหนึ่งห้าง รวมถึงสยามพารากอน มีลูกค้าหลากหลายทั้งคนไทย และต่างประเทศ มีลูกค้าทั้งแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B), ลูกค้าองค์กรกับรายย่อย (B2C) และผู้บริโภคต่อผู้บริโภค(C2C)

“เดอะมอลล์” เคลื่อนทัพอาณาจักร รีเทล สู่ความยั่งยืน ร่วมพลิกอีโคซิสเต็มไทย

ห้างแรกยกเลิกใช้ถุงพลาสติก

ทั้งนี้โครงการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเดอะมอลล์ มีทั้งทำโครงการ โกกรีน (Go Green) อย่างหลากหลาย ทั้งเป็น "ห้างแรกที่ยกเลิกใช้ถุงพลาสติก" ก่อนที่ภาครัฐมีแนวทางออกมาบังคับใช้ในเรื่องนี้ รวมถึงการสร้างรีเทลสู่การเป็น "มาร์เก็ตเพลส" ร่วมทำการประชาสัมพันธ์ และการทำสื่อในเรื่องโกกรีน มุ่งสร้างการตระหนักรู้ และเกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง

อีกทั้งได้ร่วมมือกับภาครัฐ จัดทำโครงการปลูกต้นไม้ จำนวน 30 ไร่ ในจังหวัดน่าน โดยวางเป็นสเต็ปค่อยๆ ทำต่อไป พร้อมร่วมมือกับ กทม. จัดทำสวนสาธารณะจัดการขยะอย่างยั่งยืน (Zero Waste Park) ที่สวนเบญจสิริ ซึ่งเมื่อมีเศษใบไม้ต่างๆ ในพื้นที่ได้นำไปแปรรูปสู่ปุ๋ย 

อินไซด์ลูกค้ากลุ่มเอสนใจความยั่งยืนสูงสุด

รวมถึงทำโครงการกับ "ภาคเอกชน" สร้างการตระหนักรู้ให้แก่คนไทย แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในห้างต่างให้ความสนใจว่ามีสินค้ากลุ่มใดลดราคา และมีการทำโปรโมชั่นด้านใดบ้าง

ทั้งนี้อินไซด์ของลูกค้าแต่ละกลุ่มสนใจเรื่องความยั่งยืนต่างกัน ซึ่ง "กลุ่มเอ" ได้ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนสูงมาก "กลุ่มบี" เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากทำ ส่วน "กลุ่มซี" เน้นเรื่องความถูก และความคุ้มค่ามากกว่า จึงต้องค่อยๆ ผลักดันต่อไป 

ทั้งนี้ ตัวอย่างการทำโครงการร่วมกับ "โค้ก"  ได้จัดจุดให้นำขวดพลาสติกมาวาง และเปลี่ยนเป็นโค้กในห้าง โดยผลการทำโครงการมา 1 เดือน มีคนสนใจร่วมโครงการสูงถึง 1 แสนขวด ถือว่าผลตอบรับสูงมาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะเดินทางมาห้างเลือกซื้อสินค้าประมาณสัปดาห์ละครั้ง ทั้งหมดมาจากการต้องการสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ และลงมือทำ จึงสนใจขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ  

สำหรับ "วันสิ่งแวดล้อม" ที่ผ่านมาได้จัดทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ภายในเดือนนั้น และได้รับความสนใจสูงเช่นกัน อีกทั้งได้จัดทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี สเตชัน) ในทุกสาขา และทำอย่างน้อย 12 สลอต และระบบจัดการน้ำ ได้ออกแบบระบบรีไซเคิลใช้น้ำในห้าง ตอกย้ำเรื่องความยั่งยืน

นอกจากนี้ได้ขยายสู่การร่วมมือกับรถไฟฟ้าบีทีเอสกับ "สถานีพร้อมพงษ์" ทำเป็นสถานีตัวอย่างในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการปลูกต้นไม้สองฝั่งของทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสถานี ไปยังทั้งศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม และเอ็มสเฟียร์ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับสภาพอากาศที่ดี และไม่ร้อน รวมถึงลดฝุ่น ตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติชื่นชอบในการเดิน  นอกจากนี้ บริษัทร่วมมือกับพนักงานภายใน จัดทำคาร์ฟูลเดย์ ร่วมลดการใช้รถยนต์ และการประหยัดน้ำมัน เช่นกัน

“ได้ประเมินลูกค้าขับรถเข้าห้างเยอะมาก ทำให้ในปีก่อน ช่วงวันสิ่งแวดล้อม จึงได้ทำโปรเจกต์ออกมา จัดกิจกรรมแจกคูปองให้ลูกค้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ฟังดูเป็นเรื่องง่าย และห้างก็ไม่มีใครทำ แต่เดอะมอลล์ มองจุดนี้อยากสร้างการรับรู้และตระหนักรู้ให้แก่ลูกค้า และร่วมขยายผลโครงการต่อไป” 

ขยายแอปพลิเคชันแจ้งเตือนสินค้าก่อนหมดอายุ

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่อง "ผลิตภัณฑ์"  โดยซูเปอร์มาร์เก็ตของเดอะมอลล์ "กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ได้ทำฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันที่มี คัพบอร์ดออนไลน์ (The Cupboard to Fight Food Waste) ช่วยแจ้งเตือนให้บริโภคสินค้าก่อนหมดอายุ เป็นการร่วมลดปัญหาขยะจากอาหาร (Food waste) ที่มีจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อร่วมกระตุ้นให้ลูกค้านำสินค้าไปปรุงอาหารก่อนถึงวันหมดอายุ ทั้งหมดรวมเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน และบัตรเอ็มการ์ดของเดอะมอลล์ 

อีกทั้งได้ร่วมมือกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วางจำหน่าย จัดทำโครงการร่วมลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แสดงว่าสินค้าในกลุ่มนี้ร่วมลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับใด และมีการแจกคะแนนสะสมสู่ลูกค้า แต่เมื่อทำแล้วมีลูกค้าสนใจร่วมจำนวนมากทำให้ผลิตภัณฑ์อาจมีไม่เพียงพอ ดังนั้นแนวทางการจึงต้องผลักดันให้เกิดการร่วมมือในวงกว้างมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และไปสู่ปลายน้ำ

กระตุ้นสร้างการตระหนักรู้ ต่อยอดสู่การลงมือทำ หวังรัฐมีมาตรการทางภาษี

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่า มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ และสร้างการตระหนักรู้ให้แก่คนในประเทศได้เพิ่มขึ้น อย่างที่ผ่านมา “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” ได้สวมใส่เสื้อผ้าจากขยะพลาสติกรีไซเคิลแบรนด์  "ภิพัชรา" (PIPATCHARA) โดยเกิดกระแสแมสในวงกว้างขึ้นมาทันที สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างการรับรู้ และทำให้ผู้คนเข้าถึงง่ายมากที่สุด โดยเฉพาะการทำเรื่องใกล้ตัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นร่วมเปลี่ยนแปลงแนวคิด และความคิดของผู้คนได้ในระยะยาว 

อีกทั้งภาครัฐควรมีทางสนับสนุนในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น เอกชนที่มีการผลิตสินค้าที่มาจากวัสดุรีไซเคิล และสินค้าโลว์คาร์บอน ควรมีแนวทางหรือนโยบายจากภาครัฐในการสนับสนุนด้านภาษีให้แก่สินค้ากลุ่มนี้ ด้วย ค่าลดหย่อนทางภาษี (Tax benefit) เพื่อทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น และเกิดกระแสความสนใจขยายวงกว้างขึ้น 

“การมาเวทีครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยน พูดคุยกัน และสามารถร่วมหารือกันต่อไปว่าจะมีการร่วมมือโครงการกันอย่างไร อย่างเสนา สามารถร่วมมือต่อกันได้ หรือทำเสื้อ อีโคเฟรนด์ลี่กับไรเดอร์ แกร็บ ได้เช่นกัน มองว่าการร่วมมือทำให้เกิดองคาพยพ เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น”  

เดอะมอลล์ พร้อมขยายความร่วมมือ หนุนโครงการยั่งยืนให้ใหญ่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเดอะมอลล์ สนใจขยายแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายโครงการให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น และผลักดันแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงปี 2065

“เดอะมอลล์ เป็นห้าง ถือเป็นศูนย์กลางลูกค้ามาใช้ชีวิต จึงมุ่งขับเคลื่อนโครงการต่างๆ และทำอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดการรับรู้ต่อลูกค้าคนไทย และขยายผลในวงกว้างในระยะยาว” 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์