ส่องสูตรสำเร็จ 'เดทตอล-เอสซี แอสเสท' ครองใจ 'ซูเปอร์แฟน-มูลค่าแบรนด์' สูง
“แบรนด์” เป็นที่ชื่อที่บอกสินค้านั้นๆ มีตัวตน คาแร็กเตอร์ จุดยืน คุณค่า มูลค่า จุดแข็ง จุดขาย ตลอดจนสิ่งที่สร้างความแตกต่างจากสินค้าเดียวกัน แต่ชื่อไม่เหมือนกัน
“การสร้างแบรนด์” เป็นสิ่งที่นักการตลาดให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อไหร่ที่แบรนด์สามารถ”ครองใจผู้บริโภคอันดัน 1” หรือคว้า Top of Mind ได้ ย่อมหมายถึงการเป็น “ยี่ห้อแรก” ที่ผู้บริโภคพร้อมซื้อ และเป็นสิ่งที่สร้างยอดขายสินค้าให้เติบโต
แบรนด์มีมูลค่ามหาศาล
เมื่อเร็วๆนี้ “บารามีซี่ กรุ๊ป” ได้ออกมาตอกย้ำความสำคัญของแบรนด์ คือสินทรัพย์จับต้องไม่ได้(Intangible Asset) แต่มีมูลค่าอย่างมาก เหมือนที่แบรนด์ระดับโลกซึ่งเวลามีการซื้อขายกิจการ(M&A) มูลค่าแบรนด์จะถูกนำมาประเมินราคาด้วย พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดแบรนด์ที่มีมูลค่าแห่งอนาคตหรือ Thailand Brand Superfans 2024 ด้วย
โดยแบรนด์ที่คว้ารางวัล Thailand Brand Superfans 2024 จะต้องผ่านด่านการพิจารณา 5 ด้าน ได้แก่ รายได้หรือผลประกอบการของบริษัท 3 ปีย้อนหลัง มูลค่าของแบรนด์ที่ผู้บริโภคยอมจ่าย(Brand Price Premium Rate) พลังของแบรนด์(Brand Power Index: BPI) (จะมีเรื่องของ Brand Experience Index(BEI) Customer Value Index(CVI) และ Brand Superfans Index(SPI) ครอบอีกที) ตัวเลขของอุตสาหกรรม(Industry Growth) และWACC
แบรนด์ดังครองใจซูเปอร์แฟน
สำหรับรางวัล Thailand Brand Superfans 2024 อันดับ 1 คือ หมวดแล็ปท็อป โน้ตบุ๊คอย่าง Mac คว้าไปด้วย SPI 57.72% อันดับ 2 คือ หมวดผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เดทตอล SPI 50.00% อันดับ 3 คือ หมวดแล็ปท็อป โน้ตบุ๊ค HP SPI 49.30% อันดับ 4 คือ หมวดผลิตภัณฑ์อาบน้ำ โชกุบุสซึ โมโนกาตาริ SPI 48.62% และอันดับ 5 คือ หมวดผลิตภัณฑ์นม ซีพี-เมจิ SPI 46.39%
คัมภีร์สร้างแบรนด์
กรุงเทพธุรกิจ ชวนคุยกับ แบรนด์ดัง ที่สร้างผลงานโดดเด่นจนครองใจผู้บริโภค มีสาวก “ซูเปอร์แฟน” อะไรคือ “สูตร(ไม่)ลับ” ของการสร้างแบรนด์
ศศิธร นวลนรนารถ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า การที่ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและแบรนด์ “เดทตอล” สามารถคว้ารางวัลซูเปอร์แฟนได้ สูตรการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เกิดจากความเชื่อมั่นใน “คุณค่าแบรนด์” หรือ Brand Equity ที่ดีอย่างมาก ทำให้มีซูเปอร์แฟน
ทั้งนี้ แบรนด์เดทตอล ให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของ “สุขอนามัย” ความสะอาดแก่ผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ แต่รวมถึงครอบครัว นอกจากนี้ แบรนด์ยังส่งต่อความห่วงใยไปยังกลุ่มเป้าหมายด้วยสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ผ่านความสะอาด และไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(Personal Care) แต่ยังรวมถึงสินค้าเครื่องใช้ในบ้านด้วย
“สินค้าของเดทตอบ ตอบโจทย์การส่งมอบความห่วงใยให้กับทุกคน”
ที่ขาดไม่ได้คือ “กิจกรรมทางการตลาด” แคมเปญต่างๆ ซึ่งแบรนด์ “เดทตอล” มีความมุ่งมั่นในการ “เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค” ส่งเสริมให้ผู้คนรักความสะอาดมากยิ่งขึ้น
“เดทตอลเราพยายามสร้าง relevancy ให้กับชีวิตประจำวันของคอนซูเมอร์”
ปัจจุบันการสร้างแบรนด์ไม่ง่าย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนใจง่าย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) หากเห็นสินค้าหน้าชั้นวาง(เชลฟ์) พร้อมเปลี่ยนใจเมื่อมีโปรโมชั่น การลด แลก แจก แถม ดึงดูด ยิ่งกว่านั้น การสร้างความภักดีต่อแบรนด์(Loyalty) เป็น “ซูเปอร์” ท้าทายยิ่งขึ้น
ในสนามการแข่งขัน จึงเจอโจทย์ข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่า “เดทตอล” วางจุดยืนแบรนด์(Positioning) ตลาดบนและราคาสูงกว่าคู่แข่ง รวมถึง “สร้างความแตกต่าง” ด้วยการ “สร้างคุณค่า”(Value) ให้กับผู้บริโภค ด้วยผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ให้ความสะอาด การกำจัดแบคทีเรีย เชื้อโรค แต่ยังมาพร้อมคุณประโยชน์การดูแลผิวพรรณ ผิวพรรณยังสุขภาพดีได้
“ทำให้เดทตอลแข่งขันกับสงครามราคาได้”
“เดทตอล” มุ่งภารกิจรักษาแบรนด์แกร่ง
แบรนด์เดทตอลคว้ารางวัล “ซูเปอร์แฟน” การรักษาความแกร่งแบรนด์เป็นเรื่องยาก โดยภารกิจการทำตลาด สร้างแบรนด์จากนี้ไป ต้องยึดหัวใจ “Brand Equity” สินค้า Top of Mind ลด ขจัดเชื้อโรค ซึ่งเป็น Core Value ของแบรนด์
ศศิธร นวลนรนารถ
ทว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องคือ การสร้างความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่ปัจจุบันพฤติกรรม ความต้องการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้แบรนด์ต้องศึกษาพฤติกรรมเชิงลึก(Insight) อย่างหนัก เกาะติดอ่านเกม “เทรนด์โลกและไทย” ว่าผู้บริโภคต้องการอะไรเพื่อ ตอบโจทย์ให้ตรงใจยิ่งขึ้น
โดยความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เดทตอลต้องการขยายฐานสู่กลุ่มเป้าหมาบให้กว้างขวางขึ้นไม่ว่าจะเป็นเด็ก ครอบครัว ฯ ในฐานะแบรนด์อันดับ 1 ของผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
“เดทตอล เราให้อะไรมากกว่าความสวยงาม แต่เป็นความสะอาด เราคิดตรงนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคอนซูเมอร์มากที่สุด และมุ่งการเสริมสร้างความเชื่อมโยง Everyday life เท่ที่ทำได้ เพื่อให้ผู้บริโภค Happy”
นอกจากนี้ ฝั่งอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการแบ่งรางวัล The Most Brand Future Valuation 2024 (สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) ซึ่งตัวอย่าง ท็อป 5 ที่ครองใจผู้บริโภค และสร้างมูลค่าแบรนด์สุดปัง มีดังนี้ อันดับ 1 คือ เอพี ไทยแลนด์ มูลค่าแบรนด์ 11,276.17 ล้านบาท อันดับ 2 คือ เอสซี แอสเสท มูลค่าแบรนด์ 10,060.47 ล้านบาท อันดับ 3 คือ แสนสิริ มูลค่าแบรนด์ 8,716.52 ล้านบาท อันดับ 4 คือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มูลค่าแบรนด์ 8,503.99 ล้านบาท และอันดับ 5 คือ ศุภาลัย มูลค่าแบรนด์ 8,019.38 ล้านบาท
จริงใจ โปรดักท์ดี บริการหลังการขายเด่น สูตรสร้างแบรนด์ “เอสซี แอทเสท”
ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าสายงานการตลาด บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า สูตรการสร้างแบรนด์ของ “เอสซี แอสเสท” นั้นต้องใช้เวลา อยู่ภายใต้ “ความจริงใจ” ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกบ้าน รวมถึงการดูแลลูกค้า บริการหลังการขายต่างๆ
ทั้งนี้ ภายใต้การนำทัพของ “พงศ์ -ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ซีอีโอบริษัท ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ มีโครงการแนวราบ แนวสูงครบครันในพอร์ตโฟลิโอ ทั้งที่อยู่อาศัยระดับหรูหราหรือลักชัวรี บ้านราคาไม่ถึง 5 ล้านบาท แม้กระทั่งคอนโดมิเนียมราคา 2-3 ล้านบาท ไปจนถึงคอนโดมิเนียมราคา 1 ล้านบาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.) เป็นต้น
“เอสซี แอสเสทเราเป็นแบรนด์กลางๆไม่ใหม่ ไม่เก่า กลางๆ สูตรสร้างแบรนด์ต้องใช้วลา และใช้ความจริงใจ มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเรายังมีโอกาสที่จะก้าวสู่ทช Top 5 ให้ได้ โดยต้องโฟกัสการพัฒนาโปรดักท์ให้ดี เสริมแกร่งด้วยบริการหลังการขาย เป็นต้น”
โครงการคุณภาพ จิ๊กซอว์ต่อยอดแบรนด์แกร่ง
โฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์องค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำทับว่า การสร้างแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ สูตรสำเร็จสำคัญคือ “โปรดักท์” หรือบ้าน คอนโดมิเนียม ฯ ที่พัฒนาให้ดีที่สุด จนได้รับการพิสูจน์ในการครองใจผู้บริโภค
ส่วน “ชื่อเสียง” และ “ความรักแบรนด์” ผสานกันกลายเป็นมาตรวัดมูลค่าแบรนด์ “เอสซี แอสเสท” ได้อย่างดี
บ้านดี ชื่อเสียงเด่น แบรนด์ดัง “การบอกต่อ” (Word of mouth) หรือผู้บริโภคเป็นกระบอกเสียง เป็นอีกศาสตร์ที่สร้างแบรนด์ได้ เพราะสินค้าบางอย่างผู้บริโภคอาจเปลี่ยนใจเร็วมาก แต่ของบางอย่าง คือที่อยู่อาศัยไม่มีวันเปลี่ยน อาจเป็นการลงทุนครั้งเดียว ในการตัดสินใจซื้อสิ่งที่ดีสุด อสังหาฯ จึงเป็นสินค้าที่ผู้พัฒนาต้องทุ่มสุดชีวิตเพื่อให้ทั้งก่อนและหลังการอยู่อาศัย ลูกค้าได้สินค้าดีที่สุด
“ฝั่งหนึ่งผู้พัฒนา สร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยที่ดี ส่วนอีกฝั่งนำเสนอ สร้างแบรนด์ ด้วยการนำชื่อเสียงที่มีของเอสซี แอสเสทมาต่อยอด เล่าให้คนรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่แบบนั้นแบบนี้ นั่นคือสิ่งที่คุณจะได้รับ บ้านไม่ใช่สิ่งที่ลองอยู่ แล้วเปลี่ยนได้ นี่เป็นการทำงานที่ใช้หัวใจกับคนที่อาศัยในบ้านทั้งหมด การสร้างแบรนด์ที่อยู่อาศัย จึงต้องใช้ศาสตร์ครบ สื่อสารให้กินใจ อบอุ่น เห็นแล้วอยากอยู่บ้านคุณภาพ คือการใช้ multidisciplinary ทุกอย่างที่เรียนมาจริงๆ”
บริการหลังการขายอีกอาวุธที่ “เอสซี แอสเสท” ให้ความสำคัญมาก และนั่นหมายถึงการมี “ทีมหลังบ้าน” ที่แกร่ง บริษัทจึงไม่ลืม “คนขององค์กร” ที่ถือเป็น ซูเปอร์แฟนตัวจริงของบริษัท
“ทีมงาน เราต้องดูแลทำให้เขามีความสุขทุกวัน เพื่อให้ปลดปล่อยศักยภาพเต็มที่ สร้างสรรค์ผลงานที่ดีสุดให้บริษัท เพื่อสร้างบ้านให้คนอยู่อย่างมีความสุข ดูแลลูกค้าให้มีความสุข”
ขอเป็นที่ 1-ซูเปอร์แฟนในใจผู้บริโภค
เอสซี แอสเสท มีการฟังเสียงผู้บริโภค โดยผู้บริหารสวมบทเป็นทีมงาน เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านลูกค้าด้วยตัวเอง ดูแลการทำงานของพนักงาน บริการหลังการขาย เพื่อเสียงสะท้อนหรือ Feedback แบบเต็มที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสรุปคัมภีร์การสร้างแบรนด์ให้มีมูลค่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยสร้างความสุขให้ลูกบ้าน ยังเป็นหัวใจ ทว่า ปัจจุบันการพัฒนาโครงการต่างๆ ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ด้าน “ฟังก์ชั่น” ห้องนอน ห้องน้ำ เข้าไปอยู่พักผ่อนนอนหลับเท่านั้น แต่บ้านต้อง Heal ใจ” ผู้อยู่อาศัย สร้างความภาคภูมิใจ เข้าไปแล้วชาร์จพลัง มีมุมหลบหนีความวุ่นวาย ฯ ทำให้เอสซี แอสเสท พัฒนาโครงการที่ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนบางอย่างให้ตรงกับ Need มากยิ่งขึ้น
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ยังทำให้บริษัทมองหาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกบ้านด้วย นอกจากบ้านสำหรับคนโสด บ้านสำหรับคนชอบความเป็นส่วนตัวมากๆหรือ Introvert รวมถึงศึกษาโมเดล Subscription นอกเหนือจากการเช่าอยู่อาศัย เป็นต้น
“ปีนี้เราทำอะไรที่สนุกมากๆ ในการออกโปรดักท์ กิจกรรมการตลาด เกาะเทรนด์คอนซูเมอร์อย่างต่อเนื่อง อนาคตกลุ่มเจนเนอเรชั่นซี(Z)จะมา รูปแบบสินค้าก็จะเป็น Future มากขึ้น ตอนนี้เราลองทำโปรแกรมการแชร์ส่วนกลาง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม เอสซี แอสเสท ขึ้นแท่นแบรนด์ที่มีมูลค่า ซึ่งแบรนด์เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เป้าหมายการสร้างแบรนด์ของบริษัท ต้องการให้ผู้บริโภคนึกถึงหรือ Top of mind คือ เอสซี แอสเสท เมื่อต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมจ่าย Premium ซึ่งก็คือคุณค่าของแบรนด์ ซื้อเพราะต้องการอยู่บ้านเอสซี แอสเสท
“ขอเป็นที่ 1 ในใจ คือเป้าหมายสูงสุดของเรา เพราะสุดท้ายแบรนด์ต้องการเป็นที่ 1 ในใจผู้บริโภค อยากเป็นซูเปอร์แฟน”