แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน

ศึกชิงตลาดสตรีมมิงเดือด “เน็ตฟลิกซ์” ป้อนคอนเทนต์เหมือนทีวีในอดีต ส่งละครไทยไปทั่วโลก WeTV ปรับตัวตามดีมานด์เพิ่มฐานลูกค้า ‘ยูทูบ’ ยืน 1 แพลตฟอร์มวิดีโอยอดฮิต “เอไอเอส” ขยับสู่โลกสตรีมมิ่งคอนเทนต์ “Statista” เผยตลาดสตรีมมิงวิดีโอออน ดีมานด์ ของไทยแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนหลายปี เฉพาะวงการทีวีดิจิทัล อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา และโฆษณาดิจิทัล ถือว่าเปลี่ยนผ่านหรือทรานส์ฟอร์มราว 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษแล้ว จากทีวีหลัก 4-5 ช่อง เป็นทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง และเหลือ 15 ช่องในปัจจุบัน

ส่วนเม็ดเงินโฆษณาราว 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันสื่อดั้งเดิมครองเม็ดเงินลดลงเหลือ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วน “โฆษณาดิจิทัล” โกยเม็ดเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 และเติบโตกว่า 10 เท่า จากปี 2555 เม็ดเงินอยู่ที่ 2,783 ล้านบาท

ปัจจุบันการรับชมวิดีโอออนไลน์ รายการโปรด (คอนเทนต์) ผ่านแพลตฟอร์มสรีมมิ่ง(โอทีที) ทรงอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ แอปเปิลทีวี ไพรม์ วิดีโอ อ้ายฉีอี้ วิว วีทีวี ฯ ล่าสุดเน็ตฟลิกซ์ บิ๊กแพลตฟอร์มโอทีที เขย่าโลกด้วยการดึงการถ่ายทอดสดรายการกีฬามวยศึกสะท้านโลกระหว่าง “ เจค พอล ปะทะ ไมค์ ไทสัน” ออกอากาศเมื่อ 14 พ.ย.2567 กินเวลา 4 ชั่วโมง

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน

นายภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การขยับตัวของเน็ตฟลิกซ์ไม่ต่างแอปเปิลทีวี ที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ (MLS) ของเดวิด เบคแคมและมีดาวเตะระดับโลก “ลีโอเนล เมสซี” มาดึงคนดูผ่านแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีเน็ตฟลิกซ์ไม่เพียงมีมวย แต่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอเมริกันฟุตบอล (NFL) 3 ปี ประเดิมนักแรกวันคริสต์มาสนี้

ทั้งนี้ กลยุทธ์เน็ตฟลิกซ์ ที่ดึงรายการถ่ายทอดสดประเภทกีฬา สะท้อนการเป็นแพลตฟอร์มเหมือน “ทีวีในอดีต” ที่นำเสนอคอนเทนต์หรือรายการทุกประเภทเพื่อตอบโจทย์คนดู อีกด้านเหมือนสิ่งที่ทีวีเคยทำไม่ว่าจะเป็น HBO ที่โปรวายรายการทั้งมวย ความบันเทิง ตรึงกลุ่มเป้าหมายให้เฝ้าจอ

“มุมหนึ่งคือการสร้างรายได้และตรึงคนดูนานสุด และขยายเหมือนช่องทีวีสมัยก่อน คือทีวีโปรวายคอนเทนต์อะไรบ้างก็ป้อนคนดูเช่นนั้น ซึ่งอีกระยะอาจถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต และอาจต้องจ่ายเงินดูคอนเทนต์หรือ Pay Per View”

อย่างไรก็ตาม สื่อดั้งเดิมจะเผชิญการดิสรัปจากสื่อใหม่ต่อเนื่อง ส่วนทางรอดยอมรับว่ายากเพราะโอทีทีโลกขยับ แต่ไทยยังไม่เดินหน้ามีวิธีคิดแบบเดิมเพื่อต่อสู้สงครามคนดูในยุคปัจจุบัน

แพลตฟอร์มโอทีทีแห่งชาติของไทยเกิดช้า

นางสาวปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อกับการมีแพลตฟอร์มโอทีทีจากต่างประเทศรุกตลาดไทย ดึงความสนใจจากกลุ่มผู้ชมเพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านดิจิทัลในไทยที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับแนวทางการปรับตัวของสื่อต้องเร่งผลักดันแพลตฟอร์มโอทีทีแห่งชาติ โดยรวมผู้ประกอบการไทยฝ่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งวงการเอเจนซีและโฆษณาเห็นด้วย ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) และผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่แพลตฟอร์มโอทีทีไทยช้ากว่าประเทศอื่น

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน

นางสาวรวิวรรณ สิเนหะสาร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไอพรอสเพค (ประเทศไทย) จํากัด กลุ่มบริษัทในเครือ เดนท์สุฯ ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยควรเร่งร่วมมือสร้างแพลตฟอร์มโอทีทีแห่งชาติ เหมือนจีนที่ผลักดันแพลตฟอร์มประเทศ และขยายสู่ตลาดโลกกับ ติ๊กต๊อก (TikTok) 

ทั้งนี้ ต้องมาจากการวางระบบให้ชัดเจนตั้งแต่การเก็บข้อมูลดาต้าเชิงลึก การประเมินผล พร้อมสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีจะผลักดันแพลตฟอร์มประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศและโกลบอลได้มากขึ้น

สตรีมมิ่งทลายข้อจำกัดดูคอนเทนต์  

นายอภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการใช้โทรทัศน์มือถือสูงขึ้น การพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นตัวดึงดูดการรับชมแพลตฟอร์มสตรีมมิงจากผู้ผลิตต่างประเทศ และผู้ผลิตไทยเพิ่มขึ้น เพราะรับชมได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา

ทั้งนี้ ผู้ผลิตไทยปรับตามดีมานด์ทำให้ไทยถูกจับตามองว่ากำลังก้าวสู่ประเทศดาวรุ่ง (Rising star) ต่อจากเกาหลีใต้ มาจากการผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองผู้ชมระดับสากลจึงได้ฐานกลุ่มอินเตอร์แฟนจำนวนมาก และโลเกชันไทยอยู่กลางภูมิภาค แต่สิ่งสำคัญต้องมีความร่วมมือภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง

WeTV ปรับตัวตามดีมานด์ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่

นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า WeTV ปรับตัวมาให้สอดรับกับตลาดและการเติบโตของคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยแนวโน้มผู้ประกอบการต่างๆ ได้มีการร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในการทำตลาดและออกแพ็กเกจมากขึ้น ช่วยดึงกลุ่มลูกค้า

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกรุกคืบไทยทุกทิศทาง

มีผลการสำรวจพบว่า คนสนใจบริโภคคอนเทนต์จากจีนเพิ่มขึ้น 27% โดยฐานกลุ่มผู้ชมจากเดิมที่มี กทม.และปริมณฑลเป็นหลัก ได้ขยายสู่จังหวัดเล็กและหัวเมืองรอง เพิ่มมากขึ้น และมีกลุ่มผู้สูงอายุสนใจดูมากขึ้น จึงได้เพิ่มพากย์ไทยมารองรับ แต่ฐานผู้ชมหลักของแพลตฟอร์มเป็นผู้หญิงถึง 80-90%

“เอไอเอส”แค่ธุรกิจมือถือไม่เพียงพอ

สำหรับประเทศไทยเอง คอนเทนต์โพรวายเดอร์ มีการแข่งขันที่มีสีสันมากขึ้นหลัง AIS PLAY ภายใต้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เข้ามาทำตลาดเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

นางสาวรุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ หัวหน้าส่วนงาน AIS PLAY กล่าวว่า ล่าสุดผนึกพาร์ตเนอร์ใหญ่ Warner Bros. Discovery สู่บริการ “Max” ประกาศเปลี่ยนโฉมแอปพลิเคชันจากเดิมที่มีชื่อว่า HBO Go สู่เมืองไทย ถือเป็นตลาดแฟล็กชิป1 ใน 7 ประเทศ ในเอเชีย ประกอบด้วย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ เป็นการใช้ศักยภาพโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะทั้งบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และ 5G ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และร่วมผลักดันการเติบโตบริการสตรีมมิงในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่าย AIS 3BB Fibre 3 ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน ด้วยฐานลูกค้า 4.9 ล้านราย และเครือข่าย AIS 5G ครอบคลุม 95% ของพื้นที่ประชากรกับฐานลูกค้า 46.3 ล้านราย โดยมีลูกค้า 5G ที่ 11 ล้านราย

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน

ตลาดสตรีมมิงไทย 1.4 หมื่นล้าน

จากข้อมูลของ Statista ปี 2024 ตลาดสตรีมมิง วิดีโอ ออน ดีมานด์ ในภาพรวมของไทยอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 12% ส่วนมองให้ลึกจากตัวเลขนี้จะพบว่า ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายด้านเปย์ทีวี และมูฟวี่ สตรีมมิง เซอร์วิส 25%

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนประชากรในไทยปัจจุบันอยู่ที่ 66 ล้านราย อัตราการโทรศัพท์มือถือต่อจำนวนประชากรขึ้นไปแตะ 149% คิดเป็น 98 ล้านบาท อัตราการรับชมโอทีที สตรีมมิง อยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากร และในกลุ่มผู้ชมนี้ 52% เสพคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ ออน ดีมานด์ มากถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน

"ยูทูบ" ยืน 1 แพลตฟอร์มวิดีโอยอดนิยม

นางแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย เผยว่า YouTube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ครองใจคนไทย โดยคนไทยไม่เข้า YouTube เพื่อรับชมคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ต้องการรับชมคอนเทนต์ที่นำเสนอผ่านมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ เสียงที่หลากหลายและคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟที่หาไม่ได้จากที่อื่น

สำหรับการสร้างรายได้ของยูทูบมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งจากการโฆษณา, บริการสมาชิกแบบไม่มีโฆษณา YouTube Premium, ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ชมจ่ายเงินเพื่อส่งข้อความหรือสติกเกอร์ระหว่างไลฟ์สตรีม Super Chat และ Super Stickers, การสมัครสมาชิกช่อง และ YouTube Shopping โปรแกรมแอฟฟิลิเอตที่เหล่าครีเอเตอร์สร้างรายได้ผ่านการแนะนำสินค้า

Netflix ส่ง “ละคร” ไทยไปทั่วโลก

สำหรับความเคลื่อนไหวของแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix ในไทยนอกจากให้ทุนผลิต Thai original content ที่ทำมาต่อเนื่อง แต่ปีนี้จับมือกับช่องทีวีมากขึ้นนำ “ละครไทย” ที่ Netflix ไม่ได้ผลิตออกเผยแพร่ ประกอบด้วย

1.ช่อง 7HD ที่จับมือ Netflix ครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำละครย้อนยุคฟอร์มยักษ์ ‘รอยรักรอยบาป’ ฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่รับชมได้ 190 ประเทศ ซึ่งผลตอบรับดีขึ้นอันดับ 1 รายการทีวีอันดับสูงสุดในไทย หลังออกอากาศเพียง 2 ตอน

แพลตฟอร์มระดับโลกรุกไทย ระเบิด ‘ศึกสตรีมมิง’ ชิงตลาดหมื่นล้าน แม่หยัว ละครไทยขึ้นแท่นยอดนิยม

2.ช่อง One31 ที่ส่งซีรีส์ฟอร์มยักษ์แห่งปีเรื่อง ‘แม่หยัว’ (The Empress of Ayodhaya) ออกเผยแพร่ทาง Netflix เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง และครองอันดับ 1 รายการทีวีอันดับสูงสุดในไทยได้ในทันทีที่ได้รับการสตรีมมิง

3.ช่อง 3 ส่งละครออกอากาศแบบคู่ขนานผ่าน Netflix ตั้งแต่ปี 2564 นำร่องโดยละคร 6 เรื่อง เช่น ให้รักพิพากษา (Dare to Love) โดยต่อโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า DOB (Date-of-Broadcast) ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยปี 2567 มีละครย้อนยุคเรื่อง ‘หนึ่งในร้อย’ ที่ขึ้นอันดับ 1 รายการทีวีอันดับสูงสุดในไทย ทาง Netflix ได้

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจทีวี กล่าวว่า เป็นการเพิ่มฐานผู้ชมและเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครไปออกอากาศยังต่างประเทศ และเป็น Soft Power ที่ส่งออกให้ต่างชาติรู้จักละครไทยมากขึ้น