‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ เจ้าอาณาจักร LVMH เปิดคัมภีร์ CEO บนเวที Forbes ในไทย

‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ เจ้าอาณาจักร LVMH เปิดคัมภีร์ CEO บนเวที Forbes ในไทย

“เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” ซีอีโอกลุ่ม LVMH มหาเศรษฐีระดับโลก เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรูกว่า 75 แบรนด์ เดินทางมาเยือนไทย ขึ้นเวที “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 เปิดคัมภีร์สร้างความสำเร็จ เสริมแกร่งจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ

KEY

POINTS

  • “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” ซีอีโอกลุ่ม LVMH มหาเศรษฐีระดับโลก เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรูกว่า 75 แบรนด์ เดินทางมาเยือนไทย ขึ้นเวทีใหญ่ “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567
  • เปิดคัมภีร์สร้างความสำเร็จ เสริมแกร่งจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เผยหลักคิด “เอาชีวิตรอด เติบโต เคารพอดีต” ฝ่ายุคโลกเหวี่ยง พร้อมส่งมอบความเป็นเจ้าของแก่พนักงานในเครือกว่า 2 แสนคน “อยู่เป็นครอบครัว ใต้ร่มเดียวกัน” 

การประชุมซีอีโอระดับโลก “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ (20 พ.ย.) ภายใต้ธีม “New Paradigms” เจาะลึกถึงโลกอนาคตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์และการค้า สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไปจนถึงการเติบโตก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและอื่นๆ โดยภายในงานรวบรวมผู้นำทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพลจากทั่วโลกไว้กว่า 400 คน

เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือ LVMH ผู้ปลุกปั้นอาณาจักรสินค้าลักชัวรีใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีแบรนด์อยู่ภายใต้เครือมากกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมอุตสาหกรรมแฟชั่น ความงาม และไวน์ หนึ่งในมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก วัย 75 ปี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน หลังรับรางวัล “Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement Award” ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติเพื่อยกย่องและเฉลิมฉลองความสำเร็จในการประกอบธุรกิจตลอดชีวิต

เบอร์นาร์ด เล่าถึงความสำคัญและจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการว่า นอกเหนือจากการมองภาพระยะยาวแล้ว ซีอีโอต้องมี แพสชัน (Passion) ความรักในตัวงานด้วย คือคำตอบของคนเป็นซีอีโอที่ต้องผลักดัน เรียนรู้ พัฒนา และต่อสู้ไป นี่คือสิ่งที่เขาทำในทุกวัน

“และด้วยความท้าทายที่เข้ามา ทำให้ผมกับทีมงานต้องพยายามมั่นใจในการพัฒนาและปฏิวัติองค์กร โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ตามสภาพความท้าทายต่างๆ ซึ่งมีโอกาสแฝงอยู่ในนั้นด้วย สอดรับกับคำกล่าวสุนทรพจน์ของ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า โอกาสเกิดขึ้นได้สำหรับคนที่เตรียมตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับโอกาสที่มาถึง”

จุดเริ่มต้นอาณาจักรลักชัวรี เกิดขึ้นในแท็กซี่นิวยอร์ก

นายแบร์นาร์ด กล่าวย้อนความหลังถึงครั้งเดินทางไปนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อปี 1971 ว่า ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนจบ คุณพ่อของเขาพานั่งรถแท็กซี่เดินทางจากสนามบินไปโรงแรม ทำให้ได้พูดคุยกับคนขับรถ โดยขณะนั้นประธานาธิบดีของสหรัฐคือ ริชาร์ด นิกสัน ทางคนขับรถดูเหมือนจะไม่ปลื้มนิกสันเลย จำเหตุผลไม่ได้แล้วว่าทำไม แต่สิ่งที่จำได้คือคนขับบอกว่ารักฝรั่งเศสมากเลย เขาจึงถามกลับไปว่าแล้วรู้จักชื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศสหรือไม่ ซึ่งในตอนนั้นคือ ฌอร์ฌ ปงปีดู คนขับบอกว่าไม่รู้จักเลย แต่สิ่งหนึ่งที่รู้จักคือ “คริสเตียน ดิออร์” (Christian Dior)

“ผมมักจะบอกเล่าเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะในแค่ไม่กี่คำนั้น ทำให้ผมรู้ว่าพลังอำนาจความเป็นสากลของ คริสเตียน ดิออร์ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ผมได้เห็นศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับสินค้าลักชัวรี และในห้วงเวลานั้นเอง ผมรู้ได้เลยว่า ผมสามารถประสบความสำเร็จที่บ้านเกิดได้ และเส้นทางของผมที่นำผมมาสู่ตรงนี้ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ฝรั่งเศส มากกว่าจะเป็นแห่งอื่นบนโลก”

 

เปิดคัมภีร์ “อยู่เป็นครอบครัว ใต้ร่มเดียวกัน”

ปัจจุบันเครือ LVMH มาไกลมากนับตั้งแต่ตอนนั้น และยังทรงพลังจาก 75 แบรนด์ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลาย โดยมีการจ้างงานโดยตรงกว่า 2 แสนคน หากนับรวมกับแรงงานของซัพพลายเออร์ที่เครือ LVMH ทำงานร่วมกันมาสม่ำเสมอ จะมีจำนวนรวมมากถึง 5 แสนคน

และก่อนที่เครือ LVMH จะเติบโตมาถึงจุดนี้ มีหลายครั้งที่ต้องเอาชีวิตรอดกว่าจะเติบโตมาได้ บางครั้งเองก็ต้องมีรัดเข็มขัดเหมือนกัน พร้อมเอาชนะอุปสรรค ภัยพิบัติต่างๆ ให้ได้

พันธกิจที่เก่าแก่ที่สุดของเรา คือการไปให้ไกลที่สุด เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาว เราต้องโฟกัสที่เสถียรภาพ โดยหนึ่งในข้อได้เปรียบของธุรกิจเครือ LVMH คือการเป็นบริษัทของครอบครัว คุณพ่อของผมเป็นวิศวกรที่มีความสามารถ ทำธุรกิจก่อสร้างที่ประสบความสำเร็จมากๆ โดยคุณพ่อเชื่อใจผม ให้ผมรับช่วงบริหารบริษัทต่อ และผมเองก็ได้มอบบริษัทในเครือเพื่อให้ลูกได้ไปเติบโตต่อ ผมเชื่อมากๆ ในการให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมในบริษัท”

นอกจากเรื่องเสถียรภาพแล้ว ยังได้ส่งมอบความต่อเนื่องเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงประโยชน์ของการวางแผนระยะยาว โดยในความเห็นของเขา ระบุว่า ไม่มีโครงสร้างใดที่ดีกว่านี้อีกแล้วในการส่งมอบ “ความเป็นเจ้าของ” ให้กับ “ครอบครัว” ขณะเดียวกันมองว่าพนักงานที่มาร่วมงานกับเครือ LVMH นั้นเปรียบเสมือนสมาชิกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับไหนก็ตาม

“เราอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน ใต้ร่มเดียวกัน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของบริษัทจริงๆ นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจและทำให้เครือ LVMH ประสบความสำเร็จ”

 

ปั้นสินค้าลักชัวรี ต้องทำมาร์เกตติ้งน้อยที่สุด

ทั้งนี้ เครือ LVMH ไม่ได้มองหากำไรหรือการเติบโตระยะสั้น สิ่งที่โฟกัสคือพันธกิจที่มองถึงการเติบโตต่อไปในอีกทศวรรษอย่างน้อยหลังจากนี้ เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

“เราพูดในบริษัทของเราว่า กำไรเป็นเพียงผลที่ตามมาจากการโฟกัสระยะยาว เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สวยที่สุด มีคุณภาพสูงสุด และทำการตลาด (Marketing) ให้น้อยที่สุด ผมรู้ว่าหลายคนอาจประหลาดใจที่ได้ยินผมพูดแบบนี้ แต่ด้วยสินค้าของเราเป็นลักชัวรี เรามุ่งสร้างสิ่งใหม่ และคนก็จะต้องรักมัน เพราะมันพิเศษ เป็นเอกลักษณ์ เราไม่ได้พยายามที่จะไปตามหาว่าคนในสหรัฐหรือในจีนต้องการสินค้าอะไร เราสร้างสินค้าออกมาด้วยเชื่อมั่นในทีมของเรา ให้พิจารณาว่าคนจะชอบสินค้าของเราด้วยตัวมันเอง เพราะมันมีนวัตกรรม และมีคุณภาพที่ดีที่สุด นี่คือหัวใจเลย”

 

ยึดหลัก “เอาชีวิตรอด เติบโต เคารพอดีต”

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติ จะต้องอยู่ในวัฒนธรรมเอาชีวิตรอดและเติบโต ซึ่งต้องเผชิญการดิสรัป เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งความมุ่งมั่นเรื่องคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ามีความสุขมากที่สุด ถือเป็นสินทรัพย์หลักของเรา อย่างไรก็ตามเรายังคงเคารพอดีต แต่ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการยืดหยุ่น มีสปิริต และมีหัวใจของความเป็นผู้ประกอบการด้วย

“จากโลกที่เหวี่ยงไปมา เราเห็นโอกาสการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งเป็นการลงทุนในจังหวะที่พอประมาณสำหรับเราเอง ขณะเดียวกันยังสามารถเก็บรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้ได้ พร้อมรักษาคุณภาพสูงสุดต่อไปได้อีกทศวรรษให้แก่ลูกค้าของเรา” ซีอีโอแห่งเครือ LVMH กล่าว