โจทย์ ‘เอ็มเค เรสโตรองต์’ ยอดขาย - กำไรตก และลดลงต่อเนื่องจากปี 2566
เอ็มเค เรสโตรองต์ ยังเจอโจทย์ยากในการทำผลงานยอดขาย - กำไรให้เติบโต เพราะ 2 ไตรมาส ปี 2567 ทั้งไตรมาส 2 - 3 ยอดขายลดลง และยังเผชิญการลดต่อเนื่องจากปี 2566 ขณะที่ปี 2567 บริษัทพลิกหลากกระบวนท่า แต่ยังหืดจับ! เพื่อสร้างการเติบโต
กรุงเทพธุรกิจ ได้อัปเดตภาพรวมธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุด ผู้ประกอบการแบรนด์เล็กใหญ่ต่างมีมุมมองบวก และหวังว่าจะเห็นการเติบโต ทว่า เข้าโค้งสุดท้าย “แบรนด์ใหญ่” ดูเหมือนจะเผชิญโจทย์หินพอตัว เนื่องจากผลประกอบการทั้ง “ยอดขาย-กำไร” อ่อนแรง
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ที่มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอ็มเค สุกี้, ยาโยอิ, แหลมเจริญ ฯลฯ กลับต้องรับมือกับ “ยอดขายที่ลดลง” อย่างต่อเนื่อง
ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 เอ็มเค เรสโตรองต์ มีรายได้จากการขายจำนวน 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทว่า เจาะลึกเป็น “รายไตรมาส” จะพบว่า ตลอดทั้งปี 2567 ยอดขายของบริษัทอยู่ในภาวะ “ขาลง” ดังนี้
-ไตรมาส 3 รายได้จากการขาย 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
-ไตรมาส 2 รายได้จากการขาย 4,107 ล้านบาท ลดลง 7.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
-ไตรมาส 1 รายได้จากการขาย 3,946 ล้านบาท ลดลง 3.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ไตรมาส 4 ปี 2566 รายได้จากการขาย 4,042 ล้านบาท ลดลง 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
รายไตรมาสลดลงเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 ยอดขายถือว่าเติบโตเล็กน้อยมูลค่า 161 ล้านบาท
นอกจากนี้ “กำไรสุทธิ” ของบริษัทอยู่ในภาวะที่ “ลดลง” ไม่ต่างกัน ซึ่งตลอด 3 ไตรมาสของปี 2567 เป็นดังนี้
-ไตรมาส 3 กำไรสุทธิ 341 ล้านบาท ลดลง 12.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
-ไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 401 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
-ไตรมาส 1 กำไรสุทธิ 347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “ลดลง” จากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่กำไรสุทธิ 509 ล้านบาท
จะเห็นว่า “ยอดขาย” และ “กำไร” ของเอ็มเค เรสโตรองต์ ในไตรมาส 2 ของปี 2567 สามารถฝ่าปัจจัยลบที่รายล้อม สร้างผลงานให้มีการ “เติบโต” ได้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวม 9 เดือน บริษัทมีรายได้จากการขาย และบริการ 11,735 ล้านบาท “ลดลง 7%” จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 1,088 ล้านบาท ลดลง 7.2%
สำหรับผลกระทบของยอดขายไตรมาส 3 ที่ลดลง 412 ล้านบาท หรือ 10.1% บริษัทระบุว่าร้านเดิมหรือ Same store ยอดขายลดถึง 12.7% สาเหตุสำคัญมาจาก “กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัวลง” จาก “ค่าครองชีพ” และ “ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น”
หากพิจารณาสิ่งที่เอ็มเค เรสโตรองต์ รายงานในเรื่อง “ต้นทุน” ของบริษัทหลายด้าน “ลดลง” ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร(ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำ-ไฟ ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายฯ) รวมถึงราคาวัตถุดิบที่ลดลง กลับไม่สามารถ “กอบกู้กำไร” ให้เติบโตได้
ทั้งนี้ “เอ็มเค สุกี้” ยังเป็นแบรนด์หลักทำรายได้สูงสุด โดยปี 2566 บริษัทมีร้านเอ็มเค สุกี้ให้บริการ 439 สาขา, เอ็มเค โกลด์ 5 สาขา, เอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา, ร้านยาโยอิ 198 สาขา, ร้านฮากาตะ 1 สาขา, ร้านมิยาซากิ 8 สาขา, แหลมเจริญ ซีฟู้ด 39 สาขา ร้าน ณ สยาม 1 สาขา, ร้านเลอ สยาม 3 สาขา, ร้านบิซซี่ บ็อก 2 สาขา, ร้านกาแฟและเบเกอรี เลอ เพอทิท 3 สาขา ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่หรือแคเทอริงอีก
ความเคลื่อนไหวสำคัญของเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ในปี 2567 คือ การพลิกกระบวนท่าสู้หลายด้าน ที่สำคัญ “แม่ทัพใหญ่” อย่าง “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ยังออกมาพบปะสื่อมวลชนด้วยตัวเอง และออกงานใหญ่ครั้งแรกกับงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรือ THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 พร้อมควงทายาทมาบอกเล่าถึงแผนการขยายธุรกิจ จะพาแบรนด์ไทยแหลมเจริญ ซีฟู้ด ลุยต่างประเทศ
จะเห็นการปั้นพระเอก “น้ำจิ้มสุกี้” เพื่อสร้างการเติบโต และพาแบรนด์ไปอยู่ในทุกครัวเรือน รับประทานสุกี้ และน้ำจิ้มได้ โดยไม่ต้องมาที่ร้านเพียงอย่างเดียว การปรับตัวด้วยการ “มัดรวมแบรนด์” ร้านอาหารในเครือ โมเดลใหม่ที่นำร่องเปิดสาขาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
และไฮไลต์ใหญ่คือ การทรานส์ฟอร์มร้านสู่ “เอ็มเค สุกี้ บุฟเฟต์” แบรนด์ใหม่ และให้บริการรูปแบบ “บุฟเฟต์” ประเดิมสาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต ซึ่งผู้บริโภคเรียกร้องมานาน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ที่เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป รีแบรนด์องค์กรให้เหลือเพียง “M” พร้อมประกาศขับเคลื่อนธุรกิจเป็นมากกว่า “อาหาร” เพราะปัจจุบันมีทั้งขนมขบเคี้ยว การให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ ส่วนผลลัพธ์ของการพลิกกระบวนท่าจะ “เติบโต” มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามระยะยาว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์