โรงแรมไทยหวั่น ‘ทุนต่างชาติ’ ทุบแข่งขัน ฉุดราคาห้อง - ภาพลักษณ์ท่องเที่ยว
แม้ธุรกิจ “โรงแรม” จะปรับตัวดีขึ้นตามไฮซีซัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการกังวลนั้นคือ “การเข้ามาแข่งขันของธุรกิจ และเงินทุนต่างชาติ” ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมราวครึ่งหนึ่งมีความกังวลด้านผลเสียต่อภาพลักษณ์ของท่องเที่ยวไทย และด้านการแข่งขันทางราคา
เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า จากผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนต.ค.2567” จัดทำโดย สมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการระหว่างวันที่ 15-31 ต.ค. ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 84 แห่ง พบว่าโรงแรมราว 50% กังวลต่อการเข้ามาแข่งขันของธุรกิจ และทุนต่างชาติ อาทิ ธุรกิจจีน โดยโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว ส่วนใหญ่มีความกังวลด้าน “ราคา” ขณะที่โรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปส่วนใหญ่มีความกังวลด้าน “ภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย” โดยโรงแรมในภาคกลาง และภาคเหนือกังวลมากกว่าภาคอื่น!
อีกประเด็นที่มีการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรมคือ การประเมินจำนวน “ลูกค้าไทย” ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าจำนวนลูกค้าไทยจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว หากพิจารณารายภูมิภาคพบว่ากว่า 50% ของโรงแรมใน “ภาคเหนือ” คาดว่าสัดส่วนลูกค้าไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่น
ด้านภาพรวม “อัตราการเข้าพัก” ผู้ประกอบการคาดว่าในเดือนพ.ย.2567 จะอยู่ที่ 68% เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 58% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก.ย. และเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการเข้าสู่ไฮซีซัน
เมื่อดูเป็นรายภูมิภาคในเดือนต.ค. พบว่า “ภาคใต้” มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 66.9% เพิ่มขึ้นจาก 49% ของเดือนก.ย. ส่วนอันดับ 2 ภาคกลาง มีอัตราการเข้าพัก 63.2% ลดลงเล็กน้อยจาก 64.4% ขณะที่อันดับ 3 ภาคตะวันออก 62.4% เพิ่มขึ้นจาก 57.1% ด้านอันดับ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.1% และอันดับ 5 ภาคเหนือ 20.2% เพิ่มขึ้นจาก 25.7%
“ภาพรวมเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ยังพบว่าโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยคิดเป็น 76% ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย และตะวันออกกลาง (ไม่รวมจีน และมาเลเซีย) จีน และยุโรปตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เข้าพักโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป”
ด้าน “ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” ในเดือนต.ค. พบว่าสัดส่วนโรงแรมที่เผชิญปัญหานี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบความสามารถในการรองรับลูกค้า
เทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางการท่องเที่ยวช่วง “ไตรมาส 4” ของปีนี้ มีปัจจัยบวกสนับสนุนจากทางภาครัฐ และภาคเอกชน ก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ผ่านแผนกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวหลากหลายโครงการ พร้อมทั้งเดินหน้าส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์
โดย “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ได้มีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์” และ “อีเวนต์” ด้วยการดึงอีเวนต์ระดับโลกในหลากหลายมิติ ทั้งงานเทศกาลดนตรี กีฬา ศิลปะ เข้ามาจัดในประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติให้ท่องเที่ยวในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรสายการบิน เพื่อฟื้นฟูเที่ยวบินให้คืนกลับมาเต็มที่ และให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาในแนวทางสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) และกำหนดมาตรฐานราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพสินค้าและบริการ
“สมาคมฯ เชื่อว่าช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึง ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของรัฐบาล อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง จะช่วยขับเคลื่อนให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และธรรมชาติหลายแห่งที่เริ่มทยอยเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งโครงการไทยแลนด์ วินเทอร์ เฟสติวัล 2024 ที่รวบรวมเทศกาล กิจกรรมต่างๆ อาทิ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลเคาต์ดาวน์ เทศกาลอาหาร และเทศกาลดนตรี จะมีส่วนช่วยให้เกิดการใช้จ่าย และกระจายรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันโค้งสุดท้ายของปี 2567 อย่างแน่นอน”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ ได้แก่
1.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เน้นโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรอง มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการตลาด ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และใช้จ่ายสูง รวมถึงสนับสนุนให้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มเติม และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
2.มาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค และพลังงาน ลดภาษีที่ดิน และโรงเรือน มาตรการลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3.มาตรการด้านแรงงาน โดยให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนการเพิ่มทักษะของแรงงานในธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะพนักงานทำความสะอาด และพนักงานบริการในห้องอาหาร
4.มาตรการด้านการเงิน อาทิ ดูแลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับเดียวกับประเทศอื่น มีมาตรการสินเชื่อระยะสั้น หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงที่พักแรม โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก รวมถึงโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
5.มาตรการอื่นๆ อาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และสาธารณูปโภค และตรวจสอบการเข้ามาทำธุรกิจของต่างชาติที่อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์