'น้ำดื่มคริสตัล' คิกออฟแคมเปญใหม่ เร่งโกยส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างคู่แข่ง
ตลาดน้ำดื่ม 45,000 ล้านบาท คึกคัก แบรนด์ใหญ่เดินเกมรุกหนัก รับมือแบรนด์ท้องถิ่นเบียดชิงพื้นที่ตลาด 34% น้ำดื่มคริสตัล ย้ำแชมป์ "เบอร์ 1" ลุยแคมเปญใหม่ รับศักราชบริษัท เร่งฝีเท้าชิงส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้น
สุภรณ์ เด่นไพศาล ผู้อำนวยการสำนักการตลาด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ประเทศไทย บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด เปิดเผยว่า แผนธุรกิจน้ำดื่มคริสตัลปี 2567-2568(ปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2567 - 30 กันยายน 2568) บริษัทเดินหน้าสานต่อการเป็น “ผู้นำ” ตลาดน้ำดื่ม ด้วยการประเดิมทุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อลุยกลยุทธ์การสื่อสารประโยชน์ของน้ำดื่มคุณภาพ และการเชื่อมโยงสุขภาพกายและความสัมพันธ์ทางอารมณ์จิตใจรวมถึงความรู้สึกกับผู้บริโภค โดยจับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คิกออฟแคมเปญ “คริสตัล...เชื่อมคุณสู่ความผ่อนคลายบนพื้นที่สีฟ้า” ชวนคนไทยได้เข้าสู่โหมดผ่อนคลายอารมณ์เติมความสดชื่นกับพื้นที่ธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยสายน้ำ
พร้อมกันนี้ ยังยกระดับความแตกต่างให้กับแบรนด์ ด้วยการตอกย้ำความเชื่อมั่นในระบบการผลิต 19 ขั้นตอน และได้รับหลากหลายมาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความแตกต่างให้กับแบรนด์ในทุกมิติ ขับเคลื่อนการเติบโตให้กับตลาดน้ำดื่ม
ด้านการตลาดยังคงใช้ “นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่คู่กับแบรนด์มาเป็นเวลา 8 ปี มีการเติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนแบรนด์สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ให้มาเป็นฐานลูกค้า
“น้ำดื่มคริสใช้น้องนาย ณภัทร เป็นพรีเซ็นเตอร์มา 8 ปีแล้ว เพื่อช่วยคอนเน็คกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี ซึ่งปัจจุบันลุคหรือภาพลักษณ์ของน้องนายเติบโตขึ้น ขณะที่แบรนด์คริสตัล มีการพูดเรื่องคุณภาพมา 30 ปี ทำให้เติบโตร่วมกัน”
สำหรับภาพรวมตลาดน้ำดื่มมีมูลค่า 45,740 ล้านบาท(ข้อมูลจากนีลเส็นไอคิว ณ เดือน ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.1% โดย “คริสตัล” ครองส่วนแบ่งการตลาด 17.9% ในเชิงมูลค่า และถือเป็น “อันดับ 1” ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะช่องทางห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดที่เติบโต 7% ตัวแปรสำคัญ คือการที่ “น้ำดื่มครัสตัล” ได้กลับเข้าไปวางจำหน่ายสินค้าเข้าขายในช่องทางโลตัส ทำให้ยอดขายไฮเปอร์มาร์เก็ตโตถึง 13.6%
นอกจากนี้ บริษัทยังเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าจากผู้บริโภคมากขึ้น ในช่องทางร้านค้าทั่วไปหรือ Traditional Trade ที่เติบโตสูง 4.8% ท่ามกลางการแข่งขันราคาอย่างรุนแรงจาก “น้ำดื่มท้องถิ่น” ก็ตาม ซึ่งมีการใช้กลยุทธ์ราคา เช่น 30-40 บาทต่อแพ็ค หรือบ้างถูกกว่าแบรนด์ราว 50% ปัจจุบันน้ำดื่มแบรนด์ท้องถิ่นมีจำนวน “นับพัน” และครองสัดส่วนถึง 34% เทียบกับแบรนด์ชั้นนำ
ทั้งนี้ เมื่อดูช่องทางอื่นๆ น้ำดื่มคริสตัลยังมีการเติบโตไม่แพ้กัน อย่างช่องทางร้านสะดวกซื้อเติบโต 5.5% และร้านอาหารเติบโต 1.3% รวมถึงการมีแคมเปญการตลาดที่ได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยภาพใหญ่ของตลาดน้ำดื่มช่องทางร้านค้าทั่วไปยังมีสัดส่วนมากสุด 50.8% และช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ต่างๆ สัดส่วน 49.2%
อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำดื่มหลายหมื่นล้านบาท เมื่อแบ่งหมวดหมู่ยังพบว่า น้ำเปล่ามีสัดส่วนใหญ่สุด 85% การเติบโต 5.7% น้ำแร่ 11% มีการเติบโต 12.7% น้ำดื่มเพื่อสุขภาพ(ฟังก์ชั่นนอล)สัดส่วน 4% มีการ “ติดลบ 4.4%” น้ำดื่มผสมกลิ่น(Flavored Water) “ติดลบ 16.8% และน้ำดื่มอัดก๊าซ(Sparkling Water) เติบโต 1.5% สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดน้ำดื่มเติบโต มาจากเทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐานที่ดื่มน้ำให้พอเหมาะ เพียงพอจะดีต่อร่างกาย รวมถึงกระแสการรักษ์โลก การตระหนักความยั่งยืน เป็นอีกแรงหนุนด้วย
เมื่อ “น้ำดื่มคริสตัล” เป็นเบอร์ 1 ทำให้ “คู่แข่ง” ซึ่งต้องรับบทเป็นผู้ตามมีส่วนแบ่งทางการตลาด 14.7%(ข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดเชิงมูลค่า ณ กันยายน 2567) ขณะที่เบอร์ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 8.4% อย่างไรก็ตาม ด้านยอดขายเชิงปริมาณ(จำนวนลิตร) น้ำดื่มคริสตัลมีส่วนแบ่งใกล้เคียงกับคู่แข่ง โดยตามหลังเพียงเล็กน้อย
“ช่วง 1-2 ปีน้ำดื่มคริสตัลเติบโตได้ดี ปี 2568 เรายังคงตั้งเป้าการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายช่องว่างให้ขยายห่างจากคู่แข่งมากขึ้น”
นอกจากแคมเปญ “คริสตัล...เชื่อมคุณสู่ความผ่อนคลายบนพื้นที่สีฟ้า” น้ำดื่มครีสตัลได้ดีส่งฉลากบรรจุภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ทั้ง 10 แบบ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับกิจกรรมให้ผู้บริโภคได้ลุ้นกับ Exclusive Trip เพื่อผ่อนคลาย และยังมีแกดเจ็ตคอลเลกชันที่โดนใจคนรุ่นใหม่สายท่องเที่ยวรวมมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ไทยเบฟ เพิ่งประกาศ “PASSION 2030” เคลื่อนทัพธุรกิจเติบโตทุกกลุ่ม สำหรับน้ำดื่มคริสตัล วางแผนโตให้สอดคล้องเป้าหมายดังกล่าว โดย "สุภรณ์" บอกว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือการพาแบรนด์ไทยอย่าง “น้ำดื่มครัสตัล” ไปผงาดในระดับภูมิภาค ปัจจุบันมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชา อนาคตอาจพิจารณาการนำแบรนด์ไปต่อยอดรูปแบบการอนุญาตให้ใช้แบรนด์หรือไลเซนส์